โดย นายแพทย์ธงชัย ฉัตรยิ่งมงคล
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรมและเวชศาสตร์ครอบครัว
ศูนย์ตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพฯ
สวัสดีครับ! เราเรียนรู้เรื่องสุขภาพมา 3 ตอนแล้ว ผมคิดว่าทุกท่านที่เข้ามาอ่านจะได้รับความรู้ในการดูแลสุขภาพและความสำคัญของการทำงานที่มีการเชื่อมโยงของอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย และขอแนะนำว่าอย่าดูแลเฉพาะตัวเอง เราสามารถช่วยดูแลสุขภาพของคนในครอบครัว ของคนที่เรารักได้อีกด้วยนะครับ และอย่างที่บอกในท้ายตอนที่แล้วว่าในตอนนี้เราจะมาร่วมเรียนรู้อวัยวะที่สำคัญมากๆ ที่จะต้องดูแลรักษาเป็นอย่างดี รวมทั้งถ้าเกิดปัญหา จะมีอาการแสดงออกมาอย่างไร? ต้องมาพบแพทย์เมื่อไร? จะมีการวินิจฉัยที่รวดเร็วเพื่อการรักษาอย่างทันท่วงที ทำให้มีชีวิตรอดปลอดภัย โรงพยาบาลศิครินทร์สามารถตอบโจทย์เหล่านี้ได้ทั้งหมด เรามีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ห้องปฏิบัติการสวนหัวใจและห้องผ่าตัดพร้อมบริการตลอด 24 ชั่วโมง และผ่านการรับรองมาตรฐานระดับโลก (JCI)
ต่อไปนี้ … เรามาดูหัวใจของพวกเรากันเลยดีกว่า !
รู้จักหัวใจของเรา
“หัวใจ (Heart)” เป็นอวัยวะที่มีความสำคัญยิ่ง มีหน้าที่สูบฉีดเลือดผ่านระบบไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย และรับเลือดที่ใช้แล้วกลับไปฟอกที่ปอด ขณะที่เลือดไหลเวียนผ่านปอดจะมีการแลกเปลี่ยนก๊าซ รับเอาออกซิเจนเข้ามาในเลือด และส่งคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปยังปอดผ่านการหายใจ หลังจากนั้นระบบไหลเวียนจะส่งเลือดแดงที่มีออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย และรับเลือดดำที่มีคาร์บอนไดออกไซด์และมีออกซิเจนน้อยกลับมายังปอด โดยการหดตัวเป็นจังหวะซ้ำๆ ปกติหัวใจเต้น 60 – 100 ครั้งต่อนาที (เฉลี่ยอยู่ที่ 72 ครั้งต่อนาที) ทุกๆ วันหัวใจจะเต้นประมาณ 100,000 ครั้ง และสูบฉีดเลือดประมาณ 4.7 – 5.7 ลิตรต่อนาที การเต้นของหัวใจจะเป็นจังหวะสม่ำเสมอซึ่งเกิดจากการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าที่สร้างภายในหัวใจ การสูบฉีดเลือดเข้าไปในหลอดเลือดแดงใหญ่ จะทำให้เกิดความดันโลหิตตัวบน ส่วนความดันโลหิตตัวล่างจะเกิดขึ้นในขณะที่หัวใจคลายตัวหรือในขณะหยุดพัก (ปกติจะมีค่าไม่เกิน 120/80 มม.ปรอท) ตำแหน่งหัวใจของคนเราอยู่ในช่องอกเยื้องไปทางซ้ายเล็กน้อย หนักประมาณ 250 – 300 กรัมในผู้หญิง และ 300 – 350 กรัมในผู้ชาย และมีขนาดใหญ่กว่ากำปั้นของเจ้าของเล็กน้อยครับ
ส่วนประกอบของหัวใจ
ส่วนประกอบของหัวใจที่สำคัญประกอบไปด้วย
• เยื่อหุ้มหัวใจ, หลอดเลือดหัวใจ ซึ่งจะมีกิ่งก้านแตกแขนงส่งเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ
• กล้ามเนื้อหัวใจ ทำหน้าที่ส่งเลือดไปยังระบบไหลเวียนโลหิตโดยการหดตัว เกิดเป็นแรงดันให้เลือดไหลเวียนไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
• ผนังกั้นห้องหัวใจ และลิ้นหัวใจ ซึ่งจะแบ่งหัวใจเราออกเป็น 4 ห้อง
รู้ทันโรคหัวใจ
ความผิดปกติใด ๆ ที่เกิดจากส่วนประกอบของหัวใจ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หัวใจทำงานผิดปกติ คำว่าโรคหัวใจนั้นสามารถแยกออกไปได้อีกหลายประการตามสาเหตุของความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหัวใจ มีทั้งชนิดที่เป็นตั้งแต่กำเนิด เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease) ผนังกั้นห้องหัวใจ หรือลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว และที่เกิดขึ้นภายหลัง เช่น โรคหัวใจจากความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หรือภาวะติดเชื้อที่หัวใจซึ่งจะมีความรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันไปและบางโรคเราสามารถป้องกันหรือรักษาได้เมื่อถูกพบตั้งแต่แรก ๆ
อาการโรคหัวใจ
อาการแสดงที่พบบ่อยในโรคหัวใจ เช่น เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก ใจสั่น วูบ หมดสติ เหนื่อย หายใจไม่อิ่ม นอนราบไม่ได้ แขนขาบวม ทำงานได้ลดลง เหนื่อยเร็วขึ้น วิงเวียน ปวดศีรษะ เป็นต้น
การป้องกันและตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ
โรคหัวใจและหลอดเลือดซึ่งจัดเป็นกลุ่มโรคที่คร่าชีวิตประชาชนไทยเป็นอันดับ 2 รองจากโรคมะเร็ง และด้วยนวัตกรรมความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบันทำให้การรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจดีขึ้นมากด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย อย่างไรก็ตามความสำคัญในการป้องกันไม่ให้เกิดโรคมีความสำคัญมากกว่า เนื่องจากสามารถลดความเสี่ยงและอันตรายต่อชีวิตได้ดีกว่าที่จะให้การรักษาผู้ป่วยหลังจากที่มีอาการแล้ว
เทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยด้านหัวใจ (Non-Invasive)
• การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)
การตรวจหาความผิดปกติของจังหวะ/ อัตราการเต้นของหัวใจด้วยคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
• การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะวิ่งสายพาน (Exercise Stress Test)
การตรวจสมรรถภาพการทำงานของหัวใจ ใช้ตรวจความสามารถและความผิดปกติของหัวใจในขณะออกกำลังกายด้วยการเดิน-วิ่งบนสายพานลู่วิ่ง มีประสิทธิภาพสูงในการตรวจภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
• การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography)
ด้วยเทคโนโลยีการจำลองภาพหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงจากเครื่องตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อดูการทำงานของหัวใจแบบเป็นภาพเคลื่อนไหว ดูการวิ่งของกระแสเลือด ดูประสิทธิภาพในการบีบตัวของหัวใจ ดูขนาดห้องหัวใจ และ การทำงานของลิ้นหัวใจ
• การบันทึกติดตามการทำงานคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG Holter Monitoring)
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดพกพาตลอด 24 ชั่วโมง ใช้ตรวจจับจังหวะการเต้นผิดปกติของหัวใจที่ซ่อนอยู่ เพื่อสืบค้นและวินิจฉัยโรคที่แฝงอยู่ ทำให้สามารถป้องกันภัยเงียบของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
• การตรวจวัดความแข็งตัวของหลอดเลือด (Ankle-Brachial Index)
การตรวจหาร่องรอยการตีบของหลอดเลือดส่วนปลาย การแข็งตัว หรือยืดหยุ่นของหลอดเลือดแดงที่แขนและขา
• การตรวจหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ (Carotid Doppler)
การตรวจหาร่องรอยการสะสมไขมัน และการตีบตันในหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ
• เทคโนโลยีการสวนหัวใจและหลอดเลือด (Cardiac Catheterization)
Coronary Angiogram (ฉีดสี) เพื่อดูลักษณะของเส้นเลือดหัวใจที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรงและสามารถแสดงรายละเอียดของหลอดเลือดหัวใจได้อย่างคมชัดรวมทั้งการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันด้วยวิธีการบอลลูนหรือใส่ขดลวด
• เทคโนโลยีการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
การตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วย Radiofrequency ablation หรือ RFA โดยใช้คลื่นวิทยุ/ ความร้อนทำลายจุดที่ก่อให้เกิดการเต้นหัวใจที่ผิดปกติ
• เทคโนโลยีการรักษาภาวะหัวใจเต้นช้า
การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ หรือเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ
• เทคโนโลยีการรักษาภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตัน
การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (By Pass)
ถ้าเราสามารถตรวจพบความผิดปกติของหัวใจและวินิจฉัยด้วยความรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ จะเข้าถึงการรักษาโรคหัวใจได้ทันทีและลดการสูญเสียได้เป็นอย่างดี
สุขภาพที่ดีของหัวใจ เป็นเรื่องที่ดูแลได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายที่ถูกวิธีอย่างสม่ำเสมอ เลิกบุหรี่หรือแอลกอฮอล์ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและลดความเครียดความวิตกกังวล รวมทั้งการดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากเบาหวาน ความดันโลหิตสูงหรือไขมันในเลือดสูงซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของโรคหัวใจ
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ ในตอนนี้เรามาร่วมเรียนรู้ว่าหัวใจของเรามีความสำคัญมากมายเพียงใดต่อการมีชีวิต เราลองมาคำนวณดูว่าขณะนี้หัวใจเราเต้นมากี่ครั้งแล้ว โดยการเอาอายุปัจจุบัน คูณ 365 วัน คูณ 24 ชั่วโมง คูณ 60 นาที แล้วคูณด้วย 72 (อัตราการเต้นเฉลี่ยต่อนาทีของหัวใจ) ออกมาเป็นเท่าไรครับ?

จะเห็นว่าหัวใจเราทำงานหนักมากตลอดเวลา ไม่มีวันหยุด ไม่เคยบ่น ไม่เคยขอพักร้อนเลย แล้วเราจะไม่ดูแลหัวใจกันบ้างหรือครับ
ในแต่ละตอนที่ผ่านมา เราได้เรียนรู้ร่วมกันในเรื่องของการดูแลสุขภาพและอวัยวะที่สำคัญของร่างกายรวมถึงความจำเป็นในการป้องกันในภาวะเสี่ยงหรือโรคที่สามารถทราบก่อนล่วงหน้าเพื่อควบคุมไม่ให้เกิดความรุนแรงในอนาคตซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายที่นับวันจะสูงขึ้น ๆ ทางศูนย์ตรวจสุขภาพ จึงออกแบบประเมินความเสี่ยงให้เป็นแนวทางในการเลือกตรวจโปรแกรมที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคน ขอให้ทุกคนลองเข้ามาทำดูเพื่อหาความเสี่ยงของเรากันนะครับ