การดูแลสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์ สุขภาพดีทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์

พญ.จีรนันท์ วนวรรณนาวิน
สูตินรีแพทย์


สิ่งสำคัญที่คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนต้องการ นั่นก็คือ การให้ลูกของเรามีสุขภาพที่ดีและแข็งแรงสมบูรณ์… และการจะให้ลูกมีสุขภาพที่ดีนั้น คุณแม่จะต้องดูแลตนเองโดยเริ่มตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ระหว่างตั้งครรภ์ เพื่อให้มีสุขภาพดีทั้งคุณแม่และคุณลูก

เริ่มต้นเตรียมความพร้อมก่อนตั้งครรภ์

การเตรียมความพร้อมควรเริ่มต้นตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ โดยควรเตรียมความพร้อมทั้งฝ่ายคุณพ่อและคุณแม่ เริ่มต้นโดยการตรวจสุขภาพ ความสมบูรณ์ และความพร้อมทางด้านร่างกายของคุณพ่อและคุณแม่ โดยจะมีการตรวจสุขภาพ

  • ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC)
  • ภาวะโรคโลหิตจาง หรือธาลัสซีเมีย
  • การตรวจโรคติดเชื้อต่างๆ เช่น ซิฟิลิส HIV ไวรัสตับอักเสบบี
  • ภูมิคุ้มกันหัดเยอรมัน (ตรวจเฉพาะคุณแม่)

*หากคุณแม่ไม่มีภูมิคุ้มกันหัดเยอรมัน แนะนำควรฉีดวัคซีนหัดเยอรมันเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน เพราะถ้าหากคุณแม่ตั้งครรภ์แล้วเป็นหัดเยอรมันในขณะที่ตั้งครรภ์ อาจทำให้ทารกในครรภ์พิการได้ โดยหลังเข้ารับการฉีดวัคซีน แนะนำว่าเพื่อความปลอดภัยของทารกในครรภ์ ควรคุมกำเนิดเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน

  • ตรวจมะเร็งปากมดลูก
  • อัลตราซาวนด์รังไข่และมดลูก

หากพบความผิดปกติจะได้ทำการรักษาตั้งแต่เริ่มต้นก่อนที่จะตั้งครรภ์

ท้องนอกมดลูก หนึ่งในสาเหตุที่คุณแม่ต้องยุติการตั้งครรภ์

พญ.จีรนันท์ วนวรรณนาวิน – สูตินรีแพทย์

การฝากครรภ์สำคัญอย่างไร?

การฝากครรภ์เป็นสิ่งสำคัญ และเป็นสิ่งที่คุณแม่ควรทำทันทีเมื่อพบว่าตนเองตั้งครรภ์ เนื่องจากการฝากครรภ์เป็นการเฝ้าระวังความสี่ยง คอยติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ และยังเป็นการเฝ้าระวังติดตามอาการผิดปกติในระหว่างการตั้งครรภ์

ปัจจุบัน คุณแม่มีการตั้งครรภ์ในอายุที่เพิ่มมากขึ้น หากคุณแม่มีอายุมากกว่า 35 ปี จะมีความเสี่ยงค่อนข้างเยอะกว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ที่อายุน้อย โดยภาวะเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหากตั้งครรภ์เมื่อมีอายุมาก ได้แก่

  • ภาวะดาวน์ซินโดรม หากคุณแม่ตั้งครรภ์เมื่อมีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป จะทำให้ทารกมีโอกาสเสี่ยงเป็นภาวะดาวน์ซินโดรมได้ง่าย โดยปัจจุบันสามารถตรวจคัดกรองภาวะดาวน์ซินโดรมได้โดย
  1. เจาะเลือดคุณแม่เพื่อตรวจคัดกรองหาลักษณะความผิดปกติของโครโมโซมทารกในครรภ์เพียงเจาะเลือดคุณแม่ 10 มิลลิลิตร ก็สามารถตรวจลักษณะทางพันธุกรรมของทารกได้ โดยสามารถเข้ารับการตรวจได้เมื่อมีอายุครรภ์ประมาณ 12-14 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด มีหลากหลายการทดสอบ เช่น NIFTY, Panorama, NIPT เป็นต้น
  2. Amniocentesis การเจาะน้ำคร่ำ เพื่อตรวจดูความผิดปกติของโครโมโซม โดยสามารถตรวจได้ในอายุครรภ์ 18 – 20 สัปดาห์ ซึ่งการตรวจโดยการเจาะน้ำคร่ำเป็นวิธีการตรวจที่ให้ความแม่นยำมากที่สุด 99% เช่นเดียวกับการตัดชิ้นเนื้อรก ซึ่งหากคุณแม่ที่ตรวจด้วยวิธีการตรวจเลือดแล้ว มีผลบวกหรือพบความผิดปกติของโครโมโซมทารก แพทย์จึงจะแนะนำให้ตรวจโดยการเจาะน้ำคร่ำเพื่อยืนยัน
  • ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
  • ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ หรือเรียกว่า “ครรภ์เป็นพิษ”

ฝากครรภ์ครั้งแรกต้องตรวจอะไรบ้าง?


การตรวจอัลตราซาวนด์

การอัลตราซาวนด์ เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นเสียงที่ส่งออกไปแล้วสะท้อนกลับออกมาเป็นรูปภาพซึ่งมีความปลอดภัยต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ โดยปกติแล้วคุณแม่ควรทำการอัลตราซาวนด์ อย่างน้อยที่สุดจำนวน 2 ครั้ง

  • ครั้งแรก เป็นการอัลตราซาวนด์เพื่อดูว่า ตั้งครรภ์ปกติหรือไม่ เป็นการตั้งครรภ์ในมดลูก หรือตั้งครรภ์นอกโพรงมดลูก
  • ครั้งที่สอง เป็นการอัลตราซาวนด์ช่วงอายุครรภ์ 18-20 สัปดาห์ เพื่อดูความผิดปกติหรือความพิการที่อาจเกิดขึ้น ตรวจความสมบูรณ์ของอวัยวะต่างๆ ของทารกในครรภ์

ปัจจุบัน การอัลตราซาวนด์ 4 มิติ อายุครรภ์ประมาณ 7 เดือน จะทำให้เห็นภาพเสมือนจริง ซึ่งจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่เห็นหน้าทารกได้ชัดขึ้น ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการอัลตราซาวนด์ทั่วไปเล็กน้อย


วัคซีนที่จำเป็นสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

ในการฝากครรภ์ คุณแม่จะได้รับวัคซีน โดยมีวัคซีนสำคัญอยู่ 4 รายการ โดยวัคซีนที่แนะนำให้ฉีดในปัจจุบัน  ได้แก่ วัคซีนบาดทะยัก วัคซีนไอกรน และวัคซีนป้องกัน Covid-19

ข้อควรรู้! สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ควรดูแลตัวเองอย่างไร?


อาหารที่คนท้องควรทาน

การรับประทานทานอาหารสำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ควรรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ เน้นโปรตีน เนื้อสัตว์ นม ไข่ รับประทานปริมาณน้อย แต่บ่อยๆ ประมาณ 5-6 มื้อต่อวัน

คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในแต่ละไตรมาส ต้องการสารอาหารแตกต่างกันไป ไตรมาสแรก (อายุครรภ์ 0-3 เดือน) เป็นช่วงที่ทารกมีการสร้างอวัยวะ ยังไม่มีการขยายขนาดของร่างกายมากนัก น้ำหนักตัวคุณแม่อาจเพิ่มขึ้น 1-2 กิโลกรัม แต่ถ้ามีอาการแพ้ท้องก็อาจทำให้น้ำหนักตัวลดลงไปบ้าง พลังงานสารอาหารที่ร่างกายควรได้รับในระยะนี้ใกล้เคียงกับก่อนตั้งครรภ์ หากแพ้ท้องมากทำให้รับประทานอาหารได้น้อย ควรแบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อย่อยๆ แต่รับประทานให้บ่อยขึ้น

ช่วงไตรมาสที่สอง (อายุครรภ์ 4-6 เดือน) ระยะนี้ทารกกำลังสร้างอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย และมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องใช้พลังงานและสารอาหารสำหรับทารก และสำหรับร่างกายของคุณแม่เองด้วย จึงจำเป็นต้องรับประทานอาหารที่มีพลังงานและสารอาหารสูงกว่าคนทั่วไป และควบคุมน้ำหนักตัวให้เพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ คือ 0.5 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ หรือ 2 กิโลกรัมต่อเดือน

สำหรับช่วงไตรมาสที่ 3 (อายุครรภ์ 7-9 เดือน) เป็นช่วงที่ทารกขยายขนาดร่างกายเพิ่มขึ้นมาก รวมถึงการสร้างกระดูกและฟัน จึงควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและฟอสฟอรัสสูง เน้นอาหารที่มีกรดไขมัน โอเมก้า3 ซึ่งเป็นกรดไขมันดี ได้แก่ ปลาทู ปลาจะละเม็ด เป็นต้น

ในช่วงนี้ ร่างกายต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นประมาณ 300 กิโลแคลอรีต่อวัน และต้องการโปรตีนจากเนื้อสัตว์ นม ไข่ เพิ่มขึ้นจากเดิม รวมทั้งต้องการธาตุเหล็ก เพื่อใช้สร้างเม็ดเลือดแดง โฟเลทในการป้องกันความพิการแต่กำเนิด และภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ของทารก แหล่งอาหารที่มีเหล็กและโฟเลท ได้แก่ ตับ เนื้อสัตว์ ผักใบเขียวเข้ม นอกจากนี้ร่างกายยังต้องการแคลเซียมและฟอสฟอรัสในการสร้างกระดูกและฟัน แหล่งอาหารได้จากนม ปลา เต้าหู้แข็ง ธัญพืช และผักใบเขียวเข้ม คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่มีไอโอดีน เช่น อาหารทะเล หรือปรุงอาหารด้วยเครื่องปรุงที่เสริมไอโอดีน เพราะไอโอดีนจะช่วยในการพัฒนาระบบประสาท และการเจริญเติบโตของเซลล์สมองของทารกในครรภ์

นอกจากนี้ ควรดื่มน้ำสะอาดวันละ 10 แก้ว เลือกอาหารที่สด สะอาด ปรุงสุกใหม่ และได้รับสารอาหารครบถ้วน

การตั้งครรภ์ เป็นสิ่งพิเศษระหว่างแม่กับลูก อาจเป็นระยะเวลาเพียง 9 เดือน แต่ยิ่งใหญ่เหลือเกินสำหรับผู้หญิงคนหนึ่ง เรามาดูพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์กันค่ะว่า กว่าจะมาเป็น BABY ลูกน้อยของเรา ในแต่ละเดือนนั้นเป็นอย่างไร … ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่กำลังจะเป็นคุณแม่ทุกท่านด้วยนะคะ 🙂


ออกกำลังกายแบบไหน ปลอดภัยสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

  • เดิน ช่วยให้หัวใจแข็งแรงมากขึ้น
  • ว่ายน้ำ เนื่องจากคนท้องจะมีน้ำหนักตัวมาก ซึ่งการว่ายน้ำเป็นอีกหนึ่งการออกกำลังกายที่จะช่วยให้คุณแม่ที่ตั้งครรภ์รู้สึกสบาย
  • โยคะสำหรับคนตั้งครรภ์ ช่วยในเรื่องการยืดเส้นยืดสาย ให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น และบรรเทาอาการปวดหลัง
  • เวทเทรนนิ่ง คุณแม่ตั้งครรภ์ควรระมัดระวังไม่ยกน้ำหนักที่มากเกินไป เพราะการยกน้ำหนักที่มากเกินไปจะทำให้เกิดการเกร็ง การเบ่งได้

สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีภาวะแท้งคุกคาม ควรงดการออกกำลังในช่วง 3 เดือนแรก เพราะยังคงมีโอกาสแท้งบุตรได้ ส่วนคุณแม่ที่มีภาวะเลื่อนคลอดก่อนกำหนด ควรงดออกกำลังกายตลอดการตั้งครรภ์


บทความทางการแพทย์ แม่และเด็ก
โทรหาเรา 1728 นัดหมายแพทย์ นัดหมายแพทย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า