ทำไม! ต้องตรวจสุขภาพ | ตอนที่ 3

โดย นายแพทย์ธงชัย ฉัตรยิ่งมงคล
     แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรมและเวชศาสตร์ครอบครัว
     ศูนย์ตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพฯ

จาก 2 ตอนที่ผ่านมา เราเรียนได้เรียนรู้ถึง ความหมายของผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการมี ความสำคัญและความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อเป็นเข็มทิศให้เราดูแลสุขภาพของเราให้เป็นปกติที่สุด และในตอนที่ 3 นี้เราจะมาเรียนรู้การดูแลตับซึ่งเป็นอวัยวะภายในร่างกายขนาดใหญ่ที่สุดและมีความสำคัญมาก เรามาเรียนรู้หน้าที่ของตับ ภาวะหรือโรคที่เกี่ยวกับตับ การบำรุงรักษาและการป้องกันผลกระทบต่อความผิดปกติของตับร่วมกันเพราะมีความสำคัญต่อชีวิตไม่น้อยไปกว่าสิ่งที่เราได้เรียนรู้ไปแล้ว

การตรวจการทำงานของตับ

(Albumin ,Globulin ,Total Protein ,Bilirubin ,SGOT ,SGPT , Alkaline Phosphatase,GGT)

“ตับ” เป็นอวัยวะภายในร่างกายขนาดใหญ่ที่สุดมีน้ำหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม และมีความสำคัญมาก การทำงานของตับค่อนข้างซับซ้อนและมีหน้าที่มากมาย เช่น ทำหน้าที่จัดเก็บสารอาหารต่าง ๆ หลังจากย่อยอาหารจนอยู่ในรูปอณูที่เล็กพอให้ร่างกายดูดซึมเข้าหลอดเลือดดำแล้วนำมาสร้างสารอาหารที่จำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย เช่น สร้างโปรตีนอัลบูมิน ซึ่งเป็นโปรตีนที่ช่วยอุ้มน้ำและเกลือแร่เอาไว้ในหลอดเลือด ถ้าโปรตีนตัวนี้ต่ำจะทำให้เกิดอาการบวมน้ำได้

• ตับยังทำหน้าที่สะสมสารอาหารต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อร่างกายไว้ให้ร่างกายดึงไปใช้ในยามขาดแคลน สร้างโปรตีน วิตามิน วิตามินเอ และคอยเก็บธาตุเหล็กที่เกิดจากการที่เม็ดเลือดถูกทำลาย ตับสร้างเกลือน้ำดี และน้ำดีทำหน้าที่ละลายไขมัน ช่วยให้การย่อยอาหารสะดวกยิ่งขึ้น หากมีการอุดกั้นท่อน้ำดีเกิดขึ้นในร่างกายสารต่าง ๆ ที่ผ่านการย่อยจะเกิดการอุดตัน และตัวน้ำดีก็จะย้อนกลับเข้าเส้นเลือด ก่อให้เกิดภาวะดีซ่าน (ตัวเหลือง ตาเหลือง) ได้
• ตับยังมีหน้าที่กรองสารอาหารที่มีประโยชน์เก็บไว้ในร่างกาย ส่วนที่เป็นสารพิษต่อร่างกาย เช่น ยาที่ไม่มีความจำเป็น หรือแม้แต่อาหารเสริม และสมุนไพรบางชนิด ตับจะพยายามขับออกไปทางปัสสาวะ หรือขับถ่ายมากับน้ำดี
• นอกจากนี้ ตับยังทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันและทำลายเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในร่างกายอีกด้วย

จะเห็นว่าตับเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญในร่างกายเราอย่างมากมาย ฉะนั้น เราจึงต้องทะนุถนอมตับให้ดีที่สุดและเนื่องจากตับเป็นอวัยวะที่อยู่ในร่างกายเราจึงสังเกตการทำงานของตับได้ยาก หากเกิดความผิดปกติเล็กๆน้อยๆ ร่างกายอาจไม่แสดงถึงความผิดปกตินั้นได้ ดังนั้นจึงต้องใช้การถามประวัติ เช่น การดื่มสุรา การรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ หรือประวัติการรับประทานยาร่วมไปถึงการตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของตับ

นอกจากนี้อาจจะต้องใช้วิธีตรวจทางรังสีวิทยาร่วมการวินิจฉัยด้วยเมื่อสังเกตได้ว่าร่างกายมีอาการเปลี่ยนแปลงเช่น อ่อนเพลียง่าย เบื่ออาหาร ตัวเหลืองตาเหลือง ตัวบวม ท้องมาน หรือมีจ้ำเลือดตามตัวแสดงถึงภาวะเลือดออกผิดปกติ 


ภาวะที่พบบ่อยในตับ

โรคหรือภาวะที่พบบ่อยของตับเช่น ภาวะไขมันพอกตับ ตับแข็ง โรคตับอักเสบ ดีซ่าน หรือมะเร็งตับ ซึ่งโรคหรือภาวะเหล่านี้เมื่อพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เราสามารถป้องกันและทำการรักษาได้ดีกว่าพบในระยะที่ลุกลามไปแล้ว         

สาเหตุที่ทำให้ตับเกิดความผิดปกติบ่อยและควรหลีกเลี่ยง คือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาที่ไม่จำเป็น อาหารเสริมหรือแม้แต่สมุนไพรบางชนิด 

การดูแลสุขภาพตับที่ดีคือ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ รับประทานอาหารที่ถูกสุขอนามัย พร้อมทั้งออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการทะนุถนอมตับให้มีคุณภาพอยู่คู่กับร่างกายของเราไปตราบนานเท่านาน


การตรวจหาตับอักเสบที่เกิดจากไวรัส
(Viral Hepatitis Profile)

ไวรัสตับอักเสบ (Viral hepatitis) คือ โรคเกิดจากการอักเสบของเซลล์ตับ จากติดเชื้อในกลุ่มไวรัสตับอักเสบ เป็นการติดเชื้อแบบเฉียบพลัน เมื่อหายแล้วส่วนใหญ่ร่างกายจะฟื้นเป็นปกติ แต่ส่วนน้อยโรคไม่หายกลายเป็นการอักเสบเรื้อรังทำให้เกิดโรคตับแข็งตามมา บางคนมีเชื้อไวรัสนี้อยู่ในตัวโดยไม่มีอาการและสามารถแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้เรียกว่า เป็นพาหะโรค (Carrier)

ไวรัสตับอักเสบเป็นโรคติดต่อ เช่น ไวรัสตับอักเสบเอ ติดต่อทางทางเดินอาหาร ไวรัสตับอักเสบบี ติดต่อทางสารคัดหลั่งรวมทั้งเลือด น้ำเหลือง และทางเพศสัมพันธ์ (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์) จากแม่สู่ลูกจากการคลอดบุตร และไวรัสตับอักเสบซี ติดต่อจากการได้รับเลือดในการรักษาโรคต่าง ๆ 

ไวรัสตับอักเสบมีหลายชนิดหรือหลายสายพันธุ์ย่อย เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิด เอจนถึงชนิด เอช และยังมีอีกหลายชนิด แต่ที่พบบ่อยและเป็นปัญหาทางสาธารณสุขสำคัญของประเทศไทย คือ ไวรัสตับอักเสบเอ ไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี ไวรัสตับอักเสบทุกชนิดให้อาการคล้ายคลึงกันจะแยกจากกันโดยการตรวจเลือดดูภูมิต้านทานโรคต่อเชื้อชนิดต่าง ๆ โดยการอักเสบที่พบบ่อยมี 2 ชนิด

1. โรคตับอักเสบเฉียบพลัน ( acute hepatitis ) คือ ตับอักเสบที่เป็นไม่นานก็หาย มักมีอาการ 2-3 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 2 เดือน ส่วนใหญ่จะหายขาด บางส่วนเป็นตับอักเสบเรื้อรังและบางรายรุนแรงถึงกับเสียชีวิต

2. โรคตับอักเสบเรื้อรัง ( chronic hepatitis ) คือ ตับอักเสบที่เป็นนานกว่า 6 เดือน แบ่งเป็น 2 ชนิด

Chronic persistent เป็นการอักเสบแบบค่อยเป็นค่อยไปและไม่รุนแรง แต่บางรายก็พบว่าโรคสามารถที่จะทำให้ตับมีการอักเสบมากได้

Chronic active hepatitis เป็นการอักเสบของตับ และตับถูกทำลายมากและเกิดตับแข็งตามมา


ความรุนแรงของโรคไวรัสตับอักเสบ ขึ้นกับชนิดของเชื้อไวรัส ปริมาณไวรัสที่ร่างกายได้รับและสุขภาพเดิมของผู้ป่วย โดยทั่วไปไม่รุนแรงรักษาหายได้แต่ในรายที่รุนแรงเซลล์ตับจะมีการอักเสบถูกทำลายมากจนเป็นผลให้เกิดภาวะตับวายและเสียชีวิตได้เฉียบพลัน หรือกลายเป็นไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง หรือตับแข็ง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคมะเร็งตับ

ตับอักเสบจะเป็นคำตอบที่จะทำให้เราห่างไกลจากโรคตับอักเสบจากไวรัสที่สามารถป้องกันได้ โดยแพทย์จะสอบถามจาก ประวัติอาการ ประวัติการสัมผัสโรค (เช่น การรับประทานอาหาร การได้รับเลือด การระบาดของโรคในบางพื้นที่ การมีพฤติกรรมสำส่อนทางเพศ หรือการใช้ยาเสพติด) การตรวจร่างกาย การตรวจเลือดดูการทำงานของตับ และการตรวจเลือดดูเชื้อและภูมิต้านทานต่อไวรัสตับอักเสบ เพื่อวิเคราะห์ดูว่าการทำงานของตับปกติหรือผิดปกติ และให้คำแนะนำว่าควรจะดูแลตับรวมทั้งการได้วัคซีนป้องกันตับอักเสบจากไวรัสชนิดใดบ้าง  

สุดท้ายนี้อยากให้ทุกคนตระหนักถึงอวัยวะที่สำคัญมาก ๆ อวัยวะหนึ่งที่ร่างกายจะขาดหรือเกิดความผิดปกติในระดับที่ไม่สมดุลไม่ได้ จะมีผลต่อสุขภาพโดยรวมของเรา และอาจจะทำให้เกิดโรคที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องจากความผิดปกติของการทำงานของตับตามมาได้ และไม่ควรเกิดถ้าพวกเราหมั่นดูแลตัวเองด้วยการรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนเพียงพอและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้แล้ว ภาวะสุขภาพที่ดีของตับเราจะมีคุณภาพอยู่คู่กับร่างกายของเราไปตราบนานเท่านาน 

ในตอนต่อไป … เราจะมาเรียนรู้ร่วมกันกับการตรวจและการดูแลอวัยวะที่สำคัญยิ่งในร่างกาย
สิ่งนั้นก็คือ “หัวใจ”

โปรดติดตามในตอนต่อไป ทำไม! ต้องตรวจสุขภาพ 4 

บทความทางการแพทย์
โทรหาเรา 1728 นัดหมายแพทย์ นัดหมายแพทย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า