มีไข้ อาการแบบนี้… ป่วยเป็นอะไรกันนะ?

แพทย์หญิงวรฉัตร เรสลี
อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อ


นี่เราป่วยเป็นอะไรกันนะ…?

ฝนตกบ่อย เชื้อไวรัสและแบคทีเรียต่างๆ แพร่กระจายอยู่ในอากาศ ทำให้มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น โรคไข้เลือดออก รวมไปถึงกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ โรคไข้หวัดใหญ่ โรคโควิด-19 และโรคติดเชื้อจากไวรัสอื่นๆ เช่น โรค RSV โรคมือเท้าปาก เป็นต้น

โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้เลือดออก และโรคโควิด-19 ซึ่งเป็น 3 โรคยอดฮิตที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เราจะมีวิธีการสังเกตอาการอย่างไร? ว่ากำลังเสี่ยงป่วยเป็นโรคอะไรอยู่! กลุ่มโรคเหล่านี้มีอาการที่เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร คุณหมอมีคำแนะนำมาฝากค่ะ

โรคทั้ง 3 มีการที่เหมือนกันอย่างเห็นได้ชัด คือ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงอย่างเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ ปวดตามร่างกาย อ่อนเพลีย หมดแรง อาจจะมีอาการในระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น ท้องอืด ถ่ายเหลว ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย

โรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A และโรคโควิด-19 เป็นกลุ่มโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ ซึ่งแยกความแตกต่างกันแทบจะไม่ได้เลย ในเบื้องต้นแนะนำให้ตรวจ ATK เพื่อวินิจฉัยอาการเบื้องต้นด้วยตนเองก่อน ว่ามีผลติดเชื้อไวรัส Covid-19 หรือไม่

สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A และโรคโควิด-19 ผู้ป่วยจะมีอาการเด่นชัดเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ไอ ไอมีเสมหะ ไอแห้ง เจ็บคอ เสียงแหบ (บางราย) มีน้ำมูก คัดจมูก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคภูมิแพ้เป็นโรคประจำตัว จะพบว่ามีอาการแน่นจมูก มีน้ำมูก ได้บ่อยกว่าคนทั่วไป

ส่วนโรคไข้เลือดออก เป็นโรคไม่ติดต่อจากคนสู่คน มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ลักษณะอาการที่เด่นชัดของโรคไข้เลือดออก คือ มีไข้สูงนาน 2-7 วัน ปวดตามร่างกาย ตัวแดง ตาแดง และจะมีผื่นแดงขึ้น คันตามร่างกาย ปลายมือ และปลายเท้า ในช่วงที่ใกล้หาย


มีไข้สูง ระวัง! อาจป่วยเป็น ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก โควิด-19

ทั้ง 3 โรคนี้จะมีอาการเหมือนกันที่สังเกตได้ คือ มีไข้สูง สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่ และโควิด-19 จะสังเกตได้ว่าคนรอบตัว หรือคนใกล้ชิดป่วยเป็นโรคเดียวกัน มีอาการของระบบทางเดินหายใจคล้ายกัน โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A ติดต่อกันได้ง่ายมาก ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อภายในครอบครัว หรือในสถานที่ทำงานเดียวกัน

ส่วนโรคโควิด-19 มักพบว่า มีการแพร่ระบาดเป็นคลัสเตอร์โควิดเล็กๆ หรือแหล่งที่มาของการติดเชื้ออยู่เป็นระยะ ซึ่งไม่สามารถระบุได้ชัดว่ามีต้นทางมาจากที่ใด เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่จะสัมผัสรับเชื้อจากคนอื่นๆ ในพื้นที่เดียวกัน คลัสเตอร์สามารถเป็นได้ทั้งสถานที่ กิจกรรม หรือกลุ่มคนที่อยู่ร่วมกัน เช่น ปาร์ตี้ คอนเสิร์ต สนามกีฬา เป็นต้น

สำหรับโรคไข้เลือดออก มักพบว่ามีสมาชิกที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันป่วยเหมือนกันได้ แต่จะไม่ติดต่อจากคนสู่คน สาเหตุเกิดจากยุงที่มีเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) มากัด ทำให้เกิดการติดเชื้อ ดังนั้น ให้สังเกตอาการคนรอบตัวของเราว่า มีประวัติป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ หรือ โควิด-19 หรือเปล่า และหากมีอาการแสดงภายใน 7 วัน หรือมีไข้สูงเฉียบพลันขึ้นมา ให้สงสัยว่าเราอาจป่วยเป็น 3 โรคนี้ได้!


เมื่อไรที่ต้องมาพบแพทย์?

สำหรับผู้ป่วยทั้ง 3 โรคนี้ จำเป็นที่จะต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษา โดยเฉพาะ กลุ่ม 608 ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดโรครุนแรงได้

  1. กลุ่มผู้สูงอายุ มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
  2. กลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน, โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน
  3. ผู้หญิงตั้งครรภ์ ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป

ผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว เป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเนื่องจากมีโอกาสเกิดโรครุนแรงได้มากกว่าคนทั่วไป หากติดเชื้อ จะมีความรุนแรงและเป็นอันตรายมาก เกิดปอดอักเสบง่าย เกิดภาวะระบบทางเดินหายใจล้มเหลว เสี่ยงเสียชีวิตสูง แนะนำควรรับการฉีดวัคซีนเพื่อลดความรุนแรงของโรค ลดการป่วยหนัก และลดอัตราการเสียชีวิต

สำหรับวิธีการรักษานั้น ในกลุ่มโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ เป็นกลุ่มโรคที่มีการรักษาโดยการให้ยาต้านไวรัส ซึ่งจะแบ่งตามความเสี่ยงและระดับอาการของผู้ป่วย ส่วนการรักษาโรคไข้เลือดออก จำเป็นที่จะต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาล เนื่องจากมีโอกาสมีภาวะเลือดออกง่ายหยุดยาก อาจพบเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ หรือในผู้ป่วยบางรายอาจมีเลือดออกตามไรฟัน ภาวะเลือดออกนี้ส่งผลให้ระดับเกล็ดเลือดลดต่ำลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงที่มีไข้ตั้งแต่วันที่ 3 เป็นต้นไป ผู้ป่วยอาจเกิดอาการรุนแรงและเสี่ยงเกิดอาการช็อกเมื่อไข้ลดลงใน 24 ชั่วโมงแรก ซึ่งถือเป็นระยะวิกฤตของโรคไข้เลือดออก ดังนั้น หากทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยว่ามีอาการอยู่ในระยะใด

ไข้เลือดออก อันตราย!


ดูแลตัวเองอย่างไรไม่ให้ป่วย?

โรคไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ และโรคโควิด-19 ทั้ง 3 โรคนี้มีวัคซีนที่ช่วยป้องกันและลดความรุนแรงของโรคได้

  • วัคซีน Covid-19 มีประสิทธิภาพช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ทุกกลุ่มอายุ 80-90% โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับวัคซีน mRNA ตั้งแต่ 3 เข็มขึ้นไป
  • วัคซีนไข้เลือดออก มีประสิทธิภาพช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ 90% โดยฉีดทั้งหมด 3 เข็ม เว้นระยะห่างกัน 6 เดือน สามารถช่วยลดความรุนแรงได้ตลอดชีวิต
  • วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เป็นวัคซีนที่แนะนำให้ฉีดทุกปี ปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากเชื้อไข้หวัดมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ในแต่ละปี

วิธีการป้องกันโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ เป็นวิธีที่เราคุ้นเคยกันอยู่แล้ว หมอจะขอทบทวนและเน้นย้ำให้ทุกคนดูแลตนเอง โดยสวมหน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐาน โดยหน้ากากต้องแนบสนิทกับใบหน้า ครอบคลุมตั้งแต่สันจมูกจนถึงปลายคาง หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ 70% ขึ้นไป รักษาระยะห่างกับคนอื่น ไม่ไปในสถานที่แออัด หรืออับอากาศ

การป้องกันโรคไข้เลือดออก สามารถทำได้โดยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย แหล่งน้ำนิ่ง ทำความสะอาดบ้านให้ปลอดโปร่ง เพื่อไม่ให้ยุงลายมาเกาะพัก รวมไปถึงเก็บขยะ เศษภาชนะที่อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายได้

ฝนตกบ่อย ระวังป่วย ดูแลสุขภาพด้วยนะ สุดท้ายนี้หมอขอให้ทุกคน ดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง สังเกตอาการของตนเองและคนรอบข้าง เมื่อใดก็ตามที่มีอาการไข้สูง รู้สึกไม่สบาย ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาที่เหมาะสม ก่อนเสี่ยงเกิดโรครุนแรง


ข้อมูลสุขภาพ Covid-19 บทความทางการแพทย์
โทรหาเรา 1728 นัดหมายแพทย์ นัดหมายแพทย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า