“การฉีดสีสวนหัวใจ” CAG ตรวจหา รักษา หลอดเลือดหัวใจตีบ

นายแพทย์อร่ามวงศ์ ทวีลาภ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ


ทำความรู้จักกับ “การฉีดสีสวนหัวใจ”

วิธีการตรวจวินิจฉัย และรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบตัน

การฉีดสีสวนหัวใจ คือ การตรวจวินิจฉัยหลอดเลือดแดงที่หัวใจ เป็นการตรวจหัวใจด้วยการใส่สายสวนหัวใจชนิดพิเศษผ่านผิวหนังเข้าไปที่หัวใจและหลอดเลือด ผ่านหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบ หรือที่ข้อมือ  หลังจากนั้นจะทำการฉีดสารทึบรังสีและถ่ายภาพเอกซเรย์หลอดเลือดหัวใจชนิดที่เป็นภาพเคลื่อนไหวได้ เพื่อตรวจหาความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจ ว่ามีการตีบแคบ หรืออุดตันหรือไม่?


สัญญาณเตือน อาการโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

หนึ่งในอาการที่ค่อนข้างแม่นยำ คือ อาการแน่นหน้าอกตรงกลาง หรือด้านซ้าย เหมือนมีคนมากดทับ อาจร้าวไปที่บริเวณไหล่ คอ คาง หรือแขนซ้าย โดยอาการจะเป็นมากขึ้นเมื่อทำงาน ออกกำลังกาย ตื่นเต้น อีกอาการที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มาพบแพทย์ คืออาการเหนื่อยง่าย เหนื่อยเมื่อมีการออกแรง อาการอื่นๆที่พบได้อีก เช่น

  • จุกแน่น หรือแสบบริเวณลิ้นปี่
  • หายใจสั้น หอบ เหงื่อออกท่วมตัว
  • คลื่นไส้ หน้ามืด ใจสั่น
  • บางรายที่รุนแรงอาจหมดสติ หรือหัวใจหยุดเต้น

กลไกการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

โรคหลอดเลือดหัวใจ เกิดจากการสะสมของไขมัน ผังผืด หรือ หินปูนที่ผนังหลอดเลือดที่ส่งเลือดไปเลี้ยงหัวใจ ทำให้เกิดอาการตีบแคบลง หรืออุดตัน จนปิดกั้นการไหลเวียนของเลือด ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงหัวใจได้ โดยการสะสมนั้นจะเพิ่มขึ้นตามช่วงอายุ หากเป็นระยะเวลานานอาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดทั้งแบบเฉียบพลัน หรือ แบบเรื้อรัง และอาจทำให้เสียชีวิตกะทันหันได้ โดยส่วนใหญ่ ผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ/ตัน มักไม่มีอาการ!


ใครบ้างเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

  • ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมและไม่สามารถแก้ไขได้ ได้แก่
    • อายุ โดยอัตราความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจจะเพิ่มขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น
    • พันธุกรรม มีประวัติครอบครัวญาติสายตรงเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบก่อนวัยอันควร
  • ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมและสามารถแก้ไขได้ ได้แก่
    • โรคความดันโลหิตสูง
    • โรคเบาหวาน
    • โรคไขมันในเลือดสูง
    • สูบบุหรี่ โดยบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ 2-4 เท่า

หลอดเลือดหัวใจตีบ อันตราย! แต่ก็รักษาได้

การฉีดสีสวนหัวใจ เป็นหนึ่งในวิธีการตรวจเส้นเลือดหัวใจ ซึ่งวิธีนี้มีข้อดีคือมีความแม่นยำ 100% และหากพบว่ามีหลอดเลือดหัวใจตีบ/ตัน แพทย์สามารถทำรักษาด้วยการทำบอลลูนเพื่อขยายหลอดเลือดหัวใจได้ในทันที

การขยายหลอดเลือดหัวใจโดยใช้บอลลูนและขดลวด เป็นการรักษาผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจตีบ ด้วยวิธีการสอดสายสวนชนิดที่มีลูกโป่งขนาดเล็กหรือขดลวดชนิดพิเศษตรงปลายสาย ผ่านผิวหนังเข้าสู่หลอดเลือดที่ข้อมือหรือขาหนีบไปยังหลอดเลือดหัวใจแขนงที่ตีบและทำการขยายส่วนที่ตีบ

ภาวะแทรกซ้อนของการฉีดสีสวนหัวใจ จะมีอาการเจ็บที่แผล อาจมีอาการห้อเลือด เนื่องจากแพทย์จะทำการใส่สายสวนเข้าไปในหลอดเลือดแดง และอาจพบอาการแพ้สีที่ฉีดเข้าไปในผู้ป่วยบางราย สำหรับภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ อัมพฤกษ์ การผ่าตัดฉุกเฉิน หรือเสียชีวิต พบได้ในอัตราที่ต่ำมาก


เตรียมตัวอย่างไร ก่อนทำการตรวจฉีดสีสวนหัวใจ

  • แพทย์ทำการตรวจเลือดเพื่อดูความสมบูรณ์ของเลือด การทำงานของไต เกลือแร่ เอกซเรย์ปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
  • ผู้ป่วยบางรายอาจจะต้องมีการหยุดยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคเบาหวานบางชนิด จะต้องหยุดรับประทานยาก่อนการฉีดสีสวนหัวใจ ประมาณ 1-2 วัน หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด ต้องหยุดก่อน 5 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับยาแต่ละชนิดที่ผู้ป่วยรับประทาน
  • ในวันที่เข้ารับการตรวจ ผู้ป่วยต้องงดรับประทานอาหารและเครื่องดื่มก่อนตรวจ 6 ชั่วโมง
  • ในบางกรณีผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ก่อนทำการฉีดสีสวนหัวใจ เช่น มีไข้ หรือ ไม่สามารถนอนราบได้เนื่องจากผู้ป่วยจะต้องนอนราบในขณะที่ทำการตรวจ

หัวใจคุณให้เราดูแล…

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อยมาก ทำให้ผู้ป่วยชะล่าใจ และไม่เข้ารับการตรวจวินิจฉัย ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย ดังนั้น หากมีอาการแสดงเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือมีอาการเหนื่อยง่าย แนะนำให้มาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการตรวจวินิจฉัย เพราะโรคหัวใจสามารถตรวจได้หลายวิธี ผู้ป่วยทุกรายไม่จำเป็นต้องตรวจด้วยการฉีดสีสวนหัวใจเสมอไป

ปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ทำให้การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบสามารถทำได้หลายวิธีและไม่เป็นอันตรายสำหรับผู้ป่วย ผู้ป่วยจึงไม่ต้องวิตกกังวล และรู้สึกปลอดภัยเมื่อต้องเข้ารับการรักษา โดยแพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลศิครินทร์ บริเวณอาคาร 3 ชั้น 1 พร้อมให้คำปรึกษาทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.00 – 20.00 น.

นายแพทย์อร่ามวงศ์ ทวีลาภ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ

ข้อมูลสุขภาพ บทความทางการแพทย์ สูงอายุ
โทรหาเรา 1728 นัดหมายแพทย์ นัดหมายแพทย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า