อาการไข้สูงในเด็ก (High fever in children) โดยทั่วไปแล้ว หากคุณพ่อคุณแม่วัดไข้เด็กแล้วมีอุณหภูมิตั้งแต่ 37.8 องศาขึ้นไป แสดงว่า มีไข้ แต่ถ้าวัดไข้แล้วอุณหภูมิตั้งแต่ 38.5 องศา ถือว่า มีไข้สูง
สถาบันกุมารเวช โรงพยาบาลศิครินทร์

วิธีการวัดไข้ แบบไหนถึงจะเรียกว่ามีไข้?
คุณพ่อคุณแม่ควรทำอย่างไรเมื่อลูกน้อยมีไข้?
- เมื่อรู้สึกเริ่มไม่สบายหรือตัวร้อน ให้ใช้ปรอทวัดไข้ตามวิธีการวัดไข้
- ให้เช็ดตัวลดไข้บ่อยๆ โดยใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดๆ เช็ดปลายมือ ปลายเท้า เข้าหาลำตัว การเช็ดตัวลดไข้ ต้องเช็ดแรงกว่าการเช็ดตัวปกติ เพื่อให้ระบายความร้อนได้ดี และควรวางผ้าบริเวณข้อพับต่างๆ รวมทั้งขาหนีบ และหมั่นเปลี่ยนผ้าขนหนูบ่อยๆ ระหว่างการเช็ดตัว หากเกิดอาการหนาวสั่นควรหยุดเช็ด และห่อตัวสักครู่
- การเช็ดตัวควรเช็ดตัวในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทสะดวกไม่ให้ลมโกรก ถ้าอยู่ในห้องแอร์ควรปิดแอร์ และใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบายไม่ห่มผ้าหนา
- ดูแลและให้ยาลดไข้ตามปริมาณที่แพทย์กำหนด และถ้าลูกมีประวัติเคยชัด ควรให้รับประทานยากันชัก ควบคู่กันไปด้วย
- หลังจากเช็ดตัวลดไข้และรับประทานยาลดไข้แล้ว 30 นาที ให้วัดไข้ซ้ำทุกๆ 4 ชั่วโมง
- ถ้าเด็กมีไข้สูงตลอด ไข้ไม่ลดลง ซึมลง อาเจียน รับประทานไม่ได้ ปัสสาวะน้อยลง และปัสสาวะมีสีเข้มมาก ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อรักษาต่อไป
- ในเด็กที่มีไข้สูงและอายุต่ำกว่า 6 ปี ควรได้รับการดูแลเรื่องการเช็ดตัวลดไข้ให้ดี เพราะเด็กอาจเกิดอาการชักจากไข้สูงได้ และถ้าหากมีอาการชักแล้ว โอกาสที่จะชักซ้ำจากไข้สูง จะมีมากกว่าเด็กที่ไม่เคยชักเลย มากถึง 30%
วิธีเช็ดตัว “ลดไข้” ที่ถูกต้อง ควรทำอย่างไร ?

อาการชักจากไข้สูง อาการเป็นอย่างไร?
เป็นอาการชักที่เกิดร่วมกับการมีไข้สูง มักพบในเด็กอายุ 3 เดือน – 6 ปี แต่จะพบมากที่สุดในช่วงอายุ 1 – 3 ปีแรก
อาการชักจากไข้สูง อาการแสดงจะมีหลายลักษณะ ตาค้าง ไม่รู้สึกตัว ชักทั้งตัว หรือชักกระตุกเกร็งทั้งตัว ชักระยะสั้นๆ ไม่เกิน 5 นาที และไม่ควรมีอาการชักเฉพาะซีกหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย
เตรียมรับมือหากลูกมีอาการชักจากไข้สูง
สิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ควรปฏิบัติเมื่อลูกมีอาการชักจากไข้สูง คือ จับเด็กให้นอนตะแคง บนพื้นราบที่นุ่ม ไม่มีของแข็งกระทบ ถ้ามีเศษอาหารติดในช่องปากให้ล้วงออก เพื่อป้องกันทางเดินหายใจอุดกั้นขณะชัก และรีบพบแพทย์
สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติเด็ดขาด คือ ไม่ควรพยายามทำให้เด็กอาเจียน โดยใช้ช้อนหรือของแข็งใส่เข้าไปในปากเด็ก เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อช่องปากและฟัน หรือทำให้ฟันหลุดไปอุดหลอดลมได้ ถ้าเด็กกัดลิ้น ให้หาผ้านุ่มๆ ใส่ปาก
ในเด็กที่เคยมีประวัติชักจากไข้สูง เมื่อเด็กเริ่มมีไข้ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนของการดูแลเด็กที่มีไข้หรือถ้าไข้ยังไม่ลดควรพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป