โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้

ถ้าลูกชอบขยี้จมูก จาม คัดจมูก มีน้ำมูกไหล นอนกรน เป็นๆ หายๆ คุณพ่อคุณแม่อย่าได้นิ่งนอนใจ อาการเหล่านี้เป็นอาการแสดงของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้

โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ (Allergic rhinitis) คืออะไร

โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้หรือที่เรียกกันว่า “แพ้อากาศ” เป็นโรคที่เกิดจากเยื่อบุจมูกมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นมากผิดปกติ โดยเฉพาะสารก่อภูมิแพ้ เกิดอาการคัน น้ำมูกไหล จาม และคัดจมูก สารก่อภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยคือ ไรฝุ่น แมลงสาบ รังแคแมว สุนัข เกสรละอองหญ้าและเชื้อรา

โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ถึงแม้จะไม่รุนแรง แต่ค่อนข้างมีผลต่อคุณภาพชีวิต แถมยังสร้างความรำคาญให้กับตัวผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้อย่างมาก เนื่องจากมีน้ำมูกไหลหรือจามอยู่ตลอดเวลา การที่ไม่ได้รักษาโรคนี้อย่างถูกต้อง อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น ไซนัสอักเสบ ริดสีดวงจมูก หูชั้นกลางอักเสบโดยเฉพาะในเด็ก ภาวะมีน้ำขังในหูชั้นกลาง จมูกไม่ได้กลิ่น นอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้อาการหอบหืดเป็นมากขึ้นได้ หรือทำให้เป็นโรคหืด การรักษาโรคนี้อย่างถูกต้อง นอกจากจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นแล้ว ยังสามารถป้องกันโรคแทรกซ้อนดังกล่าวได้ด้วย

อาการ

  • จาม คันจมูก น้ำมูกไหลออกมาทางจมูก หรือไหลลงคอ คัดจมูก คันเพดานปากหรือคอ นานมากกว่า 1 เดือนขึ้นไป
  • ในเด็กที่มีอาการคันจมูก เด็กมักจะยกมือขึ้นขยี้ หรือ เสยที่ปลายจมูกบ่อยๆ
  • รอยตามีสีคล้ำๆ โดยเฉพาะที่ขอบตา
  • อาการดังกล่าว จะเป็นๆ หายๆ และดีขึ้นเอง หลังหมดเหตุดังกล่าว หรือดีขึ้นหลังได้รับยาแก้แพ้
  • อาจมีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดต่างๆ เช่น โรคเยื่อบุตาอักเสบภูมิแพ้,โรคหืด, โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้
  • อาจมีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดต่างๆ ดังกล่าว

การตรวจพิเศษเพื่อช่วยในการวินิจฉัย

  1. การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin prick test) โดยการหยดน้ำยาสกัดสารก่อภูมิแพ้และน้ำยาเปรียบเทียบผลบวกและผลลบ บริเวณผิวหนังที่ท้องแขน หรือแผ่นหลัง แล้วสะกิดด้วยอุปกรณ์โดยเฉพาะ อ่านผลการทดสอบที่ 15 นาที วิธีนี้ผู้ป่วยควรงดยาแก้แพ้ หรือยาต้านฮิสตามีนอย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนมาทดสอบ
  2. การตรวจสารก่อภูมิที่จำเพาะในเลือด (Specific lgE)คือ ตรวจหา lgEที่จำเพาะต่อสารก่อภูมิแพ้แต่ละชนิดในเลือดผู้ป่วย ข้อดีของการตรวจชนิดนี้คือ ไม่ต้องงดยาแก้แพ้ หรือ ยาต้านฮิสตามีนก่อนมาตรวจเลือด

การรักษา

  1. การหลีกเลี่ยงหรือกำจัดสิ่งที่แพ้โดยกำจัดหรือลดปริมาณของสารก่อภูมิแพ้ที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เหลือน้อยที่สุด โดยเฉพาะในห้องนอนซึ่งผู้ป่วยต้องใช้เวลาอยู่ในห้องนี้ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน
  2. การใช้ยาบรรเทาอาการ  เช่น

• ยาต้านฮิสตามีนซึ่งจะได้ผลดีก็ต่อเมื่อให้ยา ก่อนที่จะสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้

• ยาหดหลอดเลือดมีทั้งในรูปรับประทานและใช้เฉพาะที่ ทำให้หลอดเลือดหดตัวและเนื้อเยื่อในจมูกยุบบวมทำให้อาการคัดจมูกน้อยลง

• ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก ถือเป็นการรักษามาตรฐานของโรคนี้ โดยเป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้มากที่สุด ดังนั้นจึงใช้ยานี้ในการรักษาและป้องกันอาการ

  1. การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ เป็นการรักษาโดยฉีดสารก่อภูมิแพ้ ที่คิดว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ เข้าไปในร่างกายทีละน้อย แล้วค่อยๆเพิ่มจำนวน เพื่อให้สร้างภูมิต้านทานต่อสิ่งที่แพ้ วิธีนี้จะใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการมาก ไม่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยา หรือไม่สามารถทนผลข้างเคียงของยาได้ หรือผู้ที่มีโรคภูมิแพ้หลายชนิดร่วมด้วย วิธีนี้จะใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีครึ่ง ถ้าได้ผลดี อาจต้องฉีดต่อเนื่องไปอีก 3-5 ปี
  2. การผ่าตัด ใช้ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการคัดจมูกหรือน้ำมูกไหล ซึ่งให้การรักษาโดยการใช้ยาอย่างเต็มที่แล้วไม่ดีขึ้น หรือมีโรคบางอย่างร่วมด้วย เช่น ผนังกั้นช่องจมูกคด เยื่อบุจมูกบวมมากผิดปกติ ริดสีดวงจมูก ไซนัสอักเสบ ซึ่งไม่ดีขึ้นหลังให้การรักษาด้วยยา

หากบุตรของท่าน มีอาการดังกล่าว คุณพ่อคุณแม่อย่าได้นิ่งนอนใจนะคะ แนะนำให้มาพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจรักษาแต่เนิ่นๆ

 

บทความทางการแพทย์
โทรหาเรา 1728 นัดหมายแพทย์ นัดหมายแพทย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า