การตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องอัลตร้าซาวด์

     การตรวจ Ultrasound เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง เกินระดับที่หูของคนเราจะได้ยิน คลื่นเสียงนี้ไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ ทั้งสิ้นในระดับความถี่และปริมาณที่ใช้อยู่ในทางการแพทย์ จึงเป็นที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในการตรวจเบื้องต้น และการตรวจวินิจฉัยทั่วไป โดยเฉพาะในเด็กและทารกในครรภ์ เพราะนอกจากจะไม่เป็นอันตรายแล้ว ยังทำการตรวจได้โดยผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บปวดบริเวณที่ตรวจ นอกเหนือไปจากแรงกดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
Ultrasound สามารถการตรวจได้กับหลายอวัยวะ เช่น หัวใจ ตับ ม้าม ไต ถุงนํ้าดี ช่องท้อง มดลูก ฯลฯ และมีการเตรียมตัวผู้ป่วยไม่ยุ่งยาก

ข้อบ่งชี้ในการตรวจ
– ดูความผิดปกติทั่วๆ ไป เช่น นิ่วในไต, นิ่วในถุงน้ำดี, ก่อนเนื้อในตับ เป็นต้น
– เพื่อยืนยันกับการตรวจอื่นๆ ว่าพบก้อนเนื้อ
– ติดตามดูความเปลี่ยนแลงของรอยโรค
– เพื่อช่วยในการเจาะอวัยวะที่สงสัย เพื่อการวินิจฉัยและการรักษา
– เพื่อดูเพศ, ความผิดปกติ, ขนาดของทารกในครรภ์
– ดูความผิดปกติของเส้นเลือดดำ, เส้นเลือดแดง ว่ามีการอุดตัน, โป่ง หรือขอด เป็นต้น
– ดูจังหวะการเต้น การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ ความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ และเส้นเลือดแดงส่วนต้น (ตรวจโดยผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจโดยเฉพาะ) 
– ดูสมองเด็กแรกเกิดถึง 1 ขวบ

ข้อจำกัดของการอัลตร้าซาวด์
– ไม่สามารถใช้ตรวจอวัยวะส่วนที่มีลมได้ เช่น ปอด กระเพาะอาหาร เป็นต้น ทั้งนี้เพราะอากาศจะไม่สะท้อนคลื่นสัญญาณกลับ ทำให้ไม่สามารถรับสัญญาณมาสร้างภาพได้
– ไม่สามารถใช้ตรวจอวัยวะที่เป็นกระดูก หรือถูกกระดูกบังได้ เพราะกระดูกจะสะท้อนคลื่นกลับหมด ไม่สามารถทะลุทะลวงลงไปยังอวัยวะต่างๆ ได้
  
การเตรียมตัวก่อนการตรวจ
1. การตรวจอวัยวะในช่องท้องส่วนบน
     เพื่อดูลักษณะทั่วๆไป ของตับ ตับอ่อน ม้าม ถุงนํ้าดี ท่อนํ้าดี และไต เช่น มีก้อนเนื้อที่ผิดปกติ มีนิ่วที่ไตหรือถุงนํ้าดี
การเตรียมตัวก่อนตรวจช่องท้องส่วนบน
     จะแนะนำให้งดอาหารประมาณ 4 ชั่วโมง ก่อนมาทำการตรวจ เพื่อให้เวลาถุงนํ้าดีเก็บกักนํ้าดี และเพื่อลดปริมาณลมในกระเพาะและลำไส้ ซึ่งจะช่วยให้เห็นอวัยวะต่างๆ ได้อย่างชัดเจน
2. การตรวจอวัยวะในช่องท้องส่วนล่าง
     เพื่อตรวจดูขนาด และความผิดปกติของอวัยวะในช่องท้องส่วนล่าง อันประกอบด้วย กระเพาะปัสสาวะ มดลูก รังไข่ ต่อมลูกหมาก หรือกรณีที่สงสัยว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ เป็นต้น
การเตรียมตัวก่อนตรวจช่องท้องส่วนล่าง
     การตรวจช่องท้องส่วนล่าง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้มีนํ้าปัสสาวะมากๆในกระเพาะปัสสาวะ เพราะนํ้าในกระเพาะปัสสาวะจะช่วยดันลำไส้ออกจากช่องเชิงกราน ทำให้เห็นมดลูก รังไข่ ต่อมลูกหมาก และพยาธิสภาพอื่นๆ ได้ดีขึ้น ปริมาณปัสสาวะในกระเพาะที่จะช่วยให้การตรวจสมบูรณ์นั้น มักจะมากกว่าปริมาณที่ทำให้รู้สึกปวดปัสสาวะในภาวะปกติ จึงต้องดื่มนํ้าขณะรอตรวจ เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายกลั่นปัสสาวะเพิ่ม ซึ่งใช้เวลาไม่ตํ่ากว่า 30 นาทีหลังดื่มนํ้า
3. การตรวจอวัยวะในช่องท้องทั้งหมด
     เพื่อดูลักษณะทั่วๆไป ของตับ ตับอ่อน ม้าม ถุงนํ้าดี ท่อนํ้าดี ไต และอวัยวะในอุ้งเชิงกราน
การเตรียมตัวก่อนตรวจช่องท้องทั้งหมด
     จะแนะนำให้งดอาหารประมาณ 4 ชั่วโมง ก่อนมาทำการตรวจ เพื่อให้เวลาถุงนํ้าดีเก็บกักนํ้าดี และเพื่อลดปริมาณลมในกระเพาะและลำไส้ ซึ่งจะช่วยให้เห็นอวัยวะต่างๆ ได้อย่างชัดเจน หลังจากนั้นอาจมีการให้พักคอยและดื่มนํ้า เพื่อให้มีนํ้าปัสสาวะเพิ่มมากขึ้นในกระเพาะปัสสาวะ แล้วตรวจใหม่ เพื่อดูอวัยวะต่างๆ ในอุ้งเชิงกราน ทั้งนี้การตรวจ ขึ้นกับข้อสันนิษฐาน หรือข้อสงสัยของแพทย์เจ้าของไข้ที่ส่งตรวจ
4. การตรวจระบบทางเดินปัสสาวะ
     เป็นการตรวจดูระบบปัสสาวะ ซึ่งประกอบด้วย ไต ท่อไต และกระเพาะปัสสาวะ ในผู้ป่วยที่มีอาการของไตวาย สงสัยมีก้อนที่ไต สงสัยมีนิ่วที่ไต หรือทางเดินปัสสาวะ สงสัยมีการฉีกขาดเนื่องจากได้รับอุบัติเหตุ ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะลำบาก กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
การตรวจต้องตรวจขณะที่ปวดปัสสาวะมากพอสมควร เพื่อจะได้เห็นกระเพาะปัสสาวะอย่างชัดเจน
5. การตรวจเต้านม
     เป็นการตรวจดูพยาธิสภาพของเต้านม เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ก้อนที่ตรวจพบใน Mammogram หรือก้อนที่คลำได้เพื่อแยกว่าเป็นก้อนเนื้อหรือถุงน้ำ การตรวจนี้สามารถตรวจได้เลย ไม่ต้องมีการเตรียมตัวใดๆ
6. การตรวจต่อมธัยรอยด์
     เป็นการตรวจเพื่อดูว่าก้อนในต่อมธัยรอยด์และในบริเวณใกล้เคียงที่คลำได้เป็นก้อนเนื้อ หรือถุงน้ำดี การตรวจนี้สามารถตรวจได้เลย ไม่ต้องมีการเตรียมตัวใดๆ
7. การตรวจอื่นๆ 
     อัลตราซาวด์ยังสามารถตรวจส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้อีก เช่น การตรวจอัลตราซาวด์เส้นเลือด, อัลตราซาวด์ศีรษะเด็กแรกเกิด ถึง 1 ขวบ, อัลตราซาวด์ก้อนที่ผิดปกติ, อัลตราซาวด์เพื่อเจาะดูด เป็นต้น
 

บทความทางการแพทย์
โทรหาเรา 1728 นัดหมายแพทย์ นัดหมายแพทย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า