โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือ IBD คือ โรคที่มีการอักเสบของระบบทางเดินอาหารชนิดหนึ่ง สามารถเกิดได้ทั้งในลำไส้ใหญ่ และลำไส้เล็ก ผู้ป่วยโรคนี้มักมีอาการปวดท้อง ท้องร่วง ถ่ายมีมูกเลือดปน พบได้ในทุกช่วงอายุ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ มักมีอายุ 20 – 40 ปี และยังคงพบว่ามีแนวโน้มผู้ป่วยโรคนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
สาเหตุของโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือ IBD
ยังไม่ทราบสาเหตุของโรคที่แท้จริง แต่พบว่าเกิดจากปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้น
- ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายทำงานผิดปกติ ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น
- การรับประทานอาหารที่กระตุ้นให้เกิดโรค เช่น นม เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แอลกอฮอล์ เป็นต้น
- พันธุกรรม โดยเฉพาะหากบุคคลในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นลำไส้อักเสบ จะทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึง 20%
- ปัจจัยอื่นๆ เช่น ความเครียด การสูบบุหรี่
อาการของโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
ผู้ป่วยโรคอักเสบเรื้อรัง มักคิดว่าตนเองเป็นคนท้องเสียง่าย แต่แท้จริงแล้ว อาจเป็นอาการของโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือ IBD ได้โดยไม่รู้ตัว สังเกตตนเองและเช็กอาการกันสักนิด เพื่อดูว่าแท้จริงแล้วเป็นอาการของโรคอะไรกันแน่ โดยผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง มักมีอาการดังนี้
- ท้องเสียเรื้อรัง
- ถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายมีมูกเลือดปน
- ปวดเกร็งช่องท้อง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- อ่อนเพลีย น้ำหนักลด
- มีไข้ต่ำๆ รู้สึกหนาวสั่น
หากท่านมีอาการดังกล่าวข้างต้น นั่นแสดงว่าคุณอาจกำลังเสี่ยงโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือ IBD ดังนั้น ควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย โดยวิธีการตรวจวินิจฉัยโรคลำไส้อักเสบ สามารถทำได้โดย การตรวจร่างกาย โดยเน้นไปที่ช่องท้อง และทวารหนัก การตรวจเลือด การตรวจอุจจาระ การตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เพื่อตรวจบริเวณผนังลำไส้ และนำเนื้อเยื่อออกมาตรวจ ทั้งนี้วิธีในการตรวจขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยที่แพทย์ตรวจพบและวินิจฉัยของแพทย์
โปรแกรมเหมาจ่ายส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหาร

โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ไม่รักษา อาจเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่!
แม้ว่าโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือ IBD มักจะมีอาการเป็นๆ หายๆ จึงทำให้ผู้ป่วยชะล่าใจและอาจไม่มาพบแพทย์ ซึ่งหากเกิดภาวะอักเสบอย่างต่อเนื่องโดยไม่ได้รับการรักษา อาการดังกล่าวอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน และมีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
ดังนั้น เพื่อเป็นการเกิดโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ควรระมัดระวังในเรื่องอาหารที่รับประทาน รับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุก รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย และสำหรับผู้ที่สงสัยว่าตนเอง กำลังเสี่ยงเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง แนะนำให้ปรึกษาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินหารและตับ เพื่อตรวจวินิจฉัย และรักษาอย่างถูกวิธี
โปรแกรมส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหาร