กรดไหลย้อนลงกล่องเสียง – คืออะไร? รักษาได้ไหม?

กรดไหลย้อนลงกล่องเสียง คืออะไร?
แตกต่างจากกรดไหลย้อนทั่วไปหรือไม่?

โรคกรดไหลย้อน (GERD: Gastroesophageal reflux disease) คือ การที่น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลขึ้นมาผ่านหลอดอาหารทำให้เกิดความผิดปกติของอวัยที่อยู่ใกล้ๆ เช่น หลอดลม กล่องเสียง แต่เพื่อให้เข้าใจง่าย จึงใช้คำว่า “กรด” แทน ในกรณีที่มีภาวะกรดไหลย้อนขึ้นมาที่กล่องเสียง จะเรียกว่า “แอลพีอาร์” – LPR (Laryngopharyngeal reflux disease)

ภาวะกรดไหลย้อนลงกล่องเสียง ผู้ป่วยที่มีภาวะดังกล่าวจะมีอาการรุนแรงมากกว่ากรดไหลย้อนทั่วไป

กลไกของการเกิดกรดไหลย้อน เกิดจากการที่อาหาร น้ำ ลม และกรดภายในกระเพาะอาหาร อาจไหลย้อนขึ้นจากกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นอวัยวะที่มีลักษณะคล้ายถุง ไปยังหลอดอาหารได้

ส่วนภาวะกรดไหลย้อนลงกล่องเสียง จะสังเกตได้ว่า การขย้อนของอาหาร น้ำ ลม ที่มีกรดหรือน้ำดีผสมอยู่ด้วย ขึ้นมาสูงมากจนถึงระดับกล่องเสียง ซึ่งอยู่สูงกว่าหลอดอาหาร


เช็กอาการแบบไหนใช่ “กรดไหลย้อน”

โรคกรดไหลย้อน อาการเป็นอย่างไร?

กรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหากรดไหลย้อนขึ้นมาในหลอดอาหาร โดยอาการที่พบได้บ่อย คือ แสบยอดอก จุก ขย้อน และเรอบ่อย แต่ในกลุ่มที่เกี่ยวกับระบบหู คอ จมูก จะเป็นโรคกรดไหลย้อนเหมือนกัน แต่เกิดที่กล่องเสียง เนื่องจากตัวกล่องเสียง มีเยื่อบุที่อ่อนกว่าหลอดอาหาร จึงทำให้ทนกรดได้ไม่ดีเท่ากับหลอดอาหาร

ดังนั้น ถ้ามีกรดหรือน้ำย่อยเพียงเล็กน้อย ก็จะทำให้เกิดอาการที่กล่องเสียงได้มาก และอาการจะแตกต่างจากกรดไหลย้อนขึ้นมาในหลอดอาหาร ผู้ป่วยอาจมีอาการเสียงแหบได้โดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งอาจเป็นอาการที่บ่งบอกถึงภาวะกรดไหลย้อนลงกล่องเสียง แต่อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวกล่าวไม่ได้หมายถึง ผู้ป่วยที่มีเสียงแหบทุกคนจะเป็นโรคนี้แทบทั้งหมด บางคนอาจมีอาการจุก แน่นๆ ในคอเหมือนกับมีก้อนอะไรอยู่ในคอ ตรวจแล้วก็ไม่พบสาเหตุ หรือบางคนอาจมาด้วยอาการเรื้อรังหาสาเหตุไม่ได้ ก็อาจมีสาเหตุมาจากเป็นภาวะกรดไหลย้อนลงกล่องเสียงได้

อาการโรคกรดไหลย้อนลงกล่องเสียง (LPR)

อาการของโรคกรดไหลย้อนลงกล่องเสียง มักจะไม่แสดงอาการชัดเจน โดยอาการที่พบบ่อยๆ ได้แก่

  • เสียงแหบ
  • มีของเหลว รสเปรี้ยวจากกรด หรืขมจากน้ำดี ไหลลงคอ
  • บางครั้งรู้สึกมีเสมหะในคอตลอดเวลา
  • ไอ กระแอม หรือ อยากขากเสมหะบ่อยๆ
  • ไอมาก ไอเรื้อรัง โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร หรือเวลาเอนตัวลงนอน
  • จุกๆ แน่นๆ ในลำคอ
  • อาการอื่นๆ เช่น หายใจลำบาก สำลักบ่อยๆ กลืนลำบากกว่าปกติ ฟันผุ มีกลิ่นปาก

บางอาชีพที่ต้องใช้เสียงมาก เช่น ครู นักร้อง นักแสดง พนักงานขาย อาจมีปัญหาด้านเสียงผิดปกติ โทนเสียงไม่เหมือนเดิม และถ้ากรดขึ้นมาถึงช่องปาก อาจทำให้เกิดฟันผุ หรือมีกลิ่นปากได้


กรดไหลย้อนลงกล่องเสียง รักษาให้หายได้ไหม?

ผู้ป่วยบางคนอาจรักษาได้ด้วยการใช้ยา โดยยาส่วนใหญ่ที่มีการใช้ในการรักษา ได้แก่ กลุ่มยาที่ช่วยยับยั้งการหลั่งกรด ซึ่งในทางการแพทย์ เรียกยากลุ่มนี้ว่า “Proton Pump Inhibitor (PPI)” หรือบางคนอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งจะต้อใช้ระยะเวลา 2-3 เดือนขึ้นไป โดยแพทย์จะแนะนำวิธีการปฏิบัติตัวเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และแนวทางการดำเนินชีวิต (Lifestyle modification) ให้เหมาะสม เพราะการรักษาด้วยยา เป็นเพียงการช่วยลดปริมาณกรดในกระเพาะลงเท่านั้น หากไม่เปลี่ยนแนวทางในการดำเนินชีวิต ผู้ป่วยยังคงใช้ชีวิตแบบเดิมอยู่ ก็ยังต้องเผชิญกับการเป็นโรคนี้ซ้ำๆ ต้องพึ่งการใช้ยาไปเรื่อยๆ จนอาจกลายเป็นกรดไหลย้อนเรื้อรังได้

ดังนั้น เราจึงควรรับประทานอาหารให้พอดีอิ่ม และอย่ารับประทานอาหารใกล้เวลานอน เพราะคนส่วนใหญ่เมื่อกลับถึงบ้านแล้ว มักจะรับประทานมื้อดึกแล้วก็เข้านอน ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ที่ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนได้ง่าย อีกทั้งควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะการออกกำลังกาย จะทำให้กล้ามเนื้อกระบังลม และกล้ามเนื้อบริเวณหูรูดทำงานได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ไม่ควรสวมเสื้อผ้าที่รัดรูปมากจนเกินไป เพราะทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนได้ง่าย เนื่องจากการใส่เสื้อผ้าที่รัดรูปเกินไปจะไปเพิ่มความดันในช่องท้อง

กรดไหลย้อนลงกล่องเสียง รักษาได้ด้วยยา

หนึ่งในวิธีการรักษาโรคกรดไหลย้อนลงกล่องเสียง คือ การรักษาด้วยยาซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดีที่สุด กลุ่มยาที่ช่วยยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร (PPI) ผู้ป่วยควรรับประทานยาก่อนอาหารประมาณ 30 – 60 นาที เพื่อให้ยาสามารถออกฤทธิ์ได้อย่างเต็มที่ เมื่ออาหารลงถึงกระเพาะอาหาร และไม่ควรรับประทานยาโดยไม่ได้รับประทานอาหารเลย เพราะอาจทำให้การรักษาได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร

การรักษาด้วยยากลุ่มนี้ จะใช้เวลา 2-3 เดือน หากผู้ป่วยอาการดีขึ้นหรือหายเป็นปกติ แพทย์จะพิจารณาลดยาลงจนถึงหยุดยาได้ ยกเว้นในผู้ป่วยบางราย อาจจำเป็นต้องใช้ยาในระยะยาว


วิธีการดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคกรดไหลย้อน

  • เลิกสูบบุหรี่ งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่เพิ่มความเป็นกรด หรือรบกวนการทำงานของหูรูดในกระเพาะอาหาร เช่น น้ำส้ม น้ำมะนาว หัวหอม มะเขือเทศ สะระแหน่ กระเทียม กาแฟ ช็อกโกแลต
  • ไม่ควรล้มตัวลงนอนในช่วง 2-3 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร
  • ไม่สวมเสื้อผ้า กางเกง กระโปรงที่รัดแน่นมากจนเกินไป
  • ไม่รับประทานอาหารมาก หรืออิ่มจนเกินไปในแต่ละมื้อ
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง และรับประทานอาหารประเภทผัก และผลไม้ที่มีกากใยเพิ่มมากขึ้น
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากจนเกินไป
  • หนุนหัวเตียงให้สูงขึ้นประมาณ 6-8 นิ้ว (15 เซนติเมตร) ไม่ควรหนุนหมอนให้สูงขึ้นแทน เนื่องจากส่วนท้องจะงอลง และเพิ่มความดันในช่องท้อง ทำให้กรดไหลย้อนได้มากขึ้น
  • พักผ่อนให้เพียงพอ และไม่เครียดจนเกินไป

โปรแกรมเหมาจ่ายส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร


ข้อมูลสุขภาพ
โทรหาเรา 1728 นัดหมายแพทย์ นัดหมายแพทย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า