เช็กอาการแบบไหนใช่ “กรดไหลย้อน”

กรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD) เป็นภาวะที่น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปยังหลอดอาหาร ซึ่งเกิดจากกรดในกระเพาะอาหาร จนทำให้เกิดอาการที่รบกวนต่อการชีวิตประจำวัน และเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ เช่น การอักเสบของหลอดอาหาร

โรคกรดไหลย้อนเป็นภัยเงียบที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย โดยสาเหตุหลักๆ ของโรคนี้ก็มาจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของเรานั่นเอง โดยจะทำให้มีอาการแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ ลามขึ้นมาบริเวณหน้าอกหรือลำคอ หลังจากทานอาหารมื้อหนัก และมีอาการเรอมีกลิ่นเปรี้ยว

สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน

  • หลอดอาหารส่วนปลายคลายตัวโดยที่ยังไม่กลืนอาหาร
  • ความดันจากหูรูดของหลอดอาหารส่วนปลายลดลงต่ำกว่าปกติ หรือเกิดการเลื่อนของกระเพาะอาหารเข้าไปในหลอดอาหาร
  • ความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหาร หรือหลอดอาหาร ทำให้อาหารค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานกว่าปกติ
  • เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หรือเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม
  • พฤติกรรมในการดำเนินชีวิต เช่น การรับประทานเสร็จแล้วนอนทันที การรับประทานของมันๆ มากเกินไป
  • ภาวะความเครียด  โดยผู้ที่มีความเครียดมักมีภาวะหลอดอาหารที่มีความไวเกินต่อสิ่งกระตุ้น หลอดอาหารอ่อนไหวต่อกรด เมื่อมีกรดไหลย้อนขึ้นมาแม้เพียงเล็กน้อย จะมีอาการแสดงทันที
  • ปัจจัยอื่นๆ เช่น โรคอ้วน การตั้งครรภ์ สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม การรับประทานยาบางชนิด เป็นต้น

“รับประทานแล้วนอน” ระวังกรดไหลย้อนมาเยือน

หนึ่งในสาเหตุของการเกิดโรคกรดไหลย้อน ก็คือ พฤติกรรม “รับประทานแล้วนอน” ซึ่งการนอนจะทำให้หูรูดมีการทำงานที่ไม่ดี เกิดอาการกรดไหลย้อนขึ้นไปได้ รวมไปถึงท่านอนราบยังทำให้กรดไหลย้อนขึ้นไปได้ง่ายกว่าปกติ นอกจากนี้แล้ว การรับประทานอาหารและนอนทันที ยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกรดไหลย้อนถึง 2 เท่า

กรดไหลย้อน ใครๆ ก็เป็นได้

อย่างที่ทราบกันดีว่า โรคกรดไหลย้อน มักพบในผู้ที่ทำงานออฟฟิศ เนื่องมาจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร แต่ไม่เพียงเท่านั้น โรคกรดไหลย้อนสามารถพบได้ในทุกกลุ่มอายุ เป็นโรคใกล้ตัวที่ใครๆ ก็เป็นได้ โดยผู้ที่มีพฤติกรรมเหล่านี้ มีความเสี่ยงเป็นกรดไหลย้อน

  • รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา รับประทานแล้วนอนทันที
  • ชอบรับประทานผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวเป็นประจำ
  • ดื่มสุรา น้ำอัดลม
  • สูบบุหรี่
  • ผู้หญิงตั้งครรภ์
  • มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือโรคอ้วน
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • ผู้ป่วยโรคผิวหนังแข็ง
  • รับประทานยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิตสูงบางชนิด ยาแก้โรคซึมเศร้า เป็นต้น


แน่ใจได้อย่างไรว่าเป็นกรดไหลย้อน? อาการแบบไหนใช่ “กรดไหลย้อน”

อาการต่างๆ เหล่านี้ ถือเป็นสัญญาณเตือนของโรคกรดไหลย้อน หากคุณมีอาการดังต่อไปนี้ นั่นแสดงว่าคุณกำลังเผชิญกับโรคกรดไหย้อนอยู่

  • แสบร้อนบริเวณหน้าอก ซึ่งจะเป็นมากหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก
  • มีอาการเรอเปรี้ยว มีน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก
  • ท้องอืด แน่นท้อง คล้ายอาหารไม่ย่อย
  • คลื่นไส้ อาเจียน หลังรับประทานอาหาร
  • เจ็บหน้าอก จุก คล้ายเหมือนมีก้อนติดอยู่ในลำคอ
  • หืดหอบ ไอแห้งๆ เสียงแหบ
  • เจ็บคอเรื้อรัง

นอกจากการสังเกตอาการของตนเองแล้ว โรคกรดไหลย้อน ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนบางราย อาจมีอาการแสดงอื่นๆ ที่แตกต่างกันไป อาทิ เจ็บหน้าอก ไซนัสอักเสบ เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะต้องตรวจซักประวัติและวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการ โดยวิธีการตรวจวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อน เช่น การส่องกล้องตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น การเอกซเรย์กลืนสารทึบแสง การตรวจการบีบตัวของหลอดอาหาร การตรวจวัดความเป็นกรดด่างในหลอดอาหาร

โปรแกรมเหมาจ่ายส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหาร

เทคโนโลยีทางการแพทย์ด้านระบบทางเดินอาหารกับแคปซูลจิ๋ว Capsule Endoscopy


ปรับพฤติกรรม รักษา“กรดไหลย้อน”

โรคกรดไหลย้อนพบได้ตั้งแต่เด็กทารกไปจนถึงผู้ใหญ่ ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาและป้องกันโรคนี้ก็คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เพราะเป็นการรักษาที่ต้นเหตุ และช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วย ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้

  • รับประทานอาหารปริมาณน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง
  • ไม่ควรนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารที่มีไขมันสูง
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม น้ำผลไม้
  • รับประทานอาหารมื้อเย็น ก่อนเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ไม่สวมใส่เสื้อผ้าที่รัดรูปมากเกินไป

โรคกรดไหลย้อนหากปล่อยไว้ไม่ทำการรักษา จนกลายเป็นภาวะเรื้อรัง จะส่งผลให้เกิดแผลและรุนแรงจนหลอดอาหารตีบ และอาจร้ายแรงจนทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้ เนื่องจากหลอดอาหารส่วนปลายมีการสัมผัสกับกรดมากเกินไป ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้โรคลุกลามและเรื้อรัง หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบไปรับการตรวจวินิจฉัยและจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินอาหารและตับ เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง


ข้อมูลสุขภาพ โรคที่พบบ่อย
โทรหาเรา 1728 นัดหมายแพทย์ นัดหมายแพทย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า