อันตราย! จากแมลงก้นกระดก “แพ้ง่าย” ควรรีบพบแพทย์

อ้างอิงข้อมูลจาก: กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข


พิษร้ายของแมลงชิดหนึ่ง ซึ่งมีขนาดเล็กแต่กลับมีพิษมหาศาล เพียงแค่สัมผัสถูกผิษที่ออกจากร่างกายของแมลงชนิดนี้ ก็สามารถทำให้เกิดแผลพุพองขนาดใหญ่ได้ แมลงชนิดนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “แมลงก้นกระดก” หรือ “ด้วงก้นกระดก”

แมลงก้นกระดก ลักษณะเป็นอย่างไร?

ด้วงก้นกระดก – แมลงก้นกระดก – แมลงเฟรชชี่ (Rove Beetles) พบได้มากในช่วงย่างเข้าสู่ฤดูฝน แมลงชนิดนี้ต้องการความชื้นเพื่อการขยายพันธุ์ โดยมีลักษณะทางกายภาพ คือ เป็นแมลงปีกแข็งขนาดเล็ก มีความยาวเพียง 4 – 7 มิลิเมตร โดยมีลักษณะจำเพาะ คือ ปีกคู่แรกจะแข็งและสั้น มีสีมันวาว ปีกคู่สองมีขนาดใหญ่แต่จะมองไม่เห็นเด่นชัด ลำตัวมีขนาดเล็กเรียว ส่วนท้องยาวโผล่ออกมานอกปีกสามารถสังเกตเห็นได้ง่าย เมื่อเกาะอยู่กับที่จะชอบงอส่วนท้องขึ้นๆ ลงๆ มีลักษณะสีสันต่างกัน

แมลงก้นกระดกชนิดที่พบบ่อยในประเทศไทยนั้นส่วนท้องมักมีสีส้ม ชาวบ้านมักเรียกกันว่า “ด้วงปีกสั้น ด้วงก้นกระดก ด้วงก้นงอน” ตามลักษณะของท้องที่งอขึ้นๆ ลงๆ

สารพิษของแมลงชนิดนี้ คือ เพเดอริน (Pederin) ซึ่งมีลักษณะเป็นกรดที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง เมื่อถูกผิวหนังจะทำให้เป็นผื่นคันหรือแผลพุพอง ผิวหนังไหม้แดง ปวดแสบปวดร้อน มีไข้ และถ้าถูกพิษบริเวณดวงตา อาจทำให้ตาบอดได้!

เจอแมลงก้นกระดก อย่าจับ อย่าบี้!

หลังจากถูกพิษของแมลงก้นกระดก แผลจะไม่เกิดขึ้นทันที ต้องรอระยะเวลาหนึ่ง จะปรากฏรอย ผื่นแดงลากยาวเป็นขีดๆ

แมลงก้นกระดกมีแหล่งเพาะพันธุ์อยู่ตามบริเวณพื้นดินที่ชื้น เช่น ตามกองมูลสัตว์ พื้นดิน ในกองไม้ แต่จะชอบบินเข้ามาเล่นแสงไฟในบ้านเรือนที่เป็นพื้นที่ใกล้ชิดประชาชน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อคนที่เผลอไปสัมผัสได้

ลักษณะรอยแผลหลังจากสัมผัสพิษของแมลงก้นกระดก

ด้วงน้ำมัน พิษอันตรายถึงตาย!

ด้วงน้ำมัน (Blister Beetles) มีลักษณะเป็นแมลงปีกแข็งเช่นเดียวกับด้วงก้นกระดก แต่มีขนาดใหญ่กว่าด้วงก้นกระดก ขนาดลำตัวยาวประมาณ 3 – 3.5 เซนติเมตร ปีกคู่หน้าจะมีแถบสีเหลืองสลับดำอย่างละ 3 แถบ ชาวบ้านมักเรียกว่า “ด้วงไฟถั่ว” หรือ “ด้วงไฟเดือนห้า”

อันตรายของด้วงน้ำมันมักเกิดจากความเข้าใจผิดที่คิดว่า เป็นแมลงจำพวกรับประทานได้ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ หากรับประทานมากกว่า 3 ตัวขึ้นไป โดยอาการของผู้ที่รับประทานด้วงน้ำมันเข้าไป จะมีอาการคออักเสบ กลืนอาหารลำบาก ปวดท้อง คลื่นไส้ อุจจาระร่วง อาเจียนเป็นเลือด ความดันโลหิตลดลง ปัสสาวะเป็นเลือด หมดสติ และเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลว

ด้วงน้ำมัน หากถูกรบกวน หรือถูกแตะต้องตัว จะขับของเหลวสีเหลืองอ่อนที่มีสารพิษแคนทาริดิน (Cantharidin) ออกมาจากข้อต่อส่วนขา ซึ่งถ้าพิษถูกผิวหนังเข้าจะเกิดเป็นตุ่มอักเสบพุพอง และสารแคนทาริดินนี้จะไม่ถูกทำลายด้วยความร้อนจากการหุงต้ม หรือเผาไฟ ดังนั้น แม้ว่าผู้ที่รับประทานด้วงน้ำมันจะนำไปผ่านความร้อนก่อนรับประทานแล้วก็ตาม ก็ยังสามารถรับอันตรายจากแมลงชนิดนี้ได้

โดยปกติแล้ว ทั้งแมลงก้นกระดก และด้วงน้ำมัน จะไม่กัดคน แต่หากบังเอิญเกิดถูกแมลงไต่ตามร่างกาย แล้วไปบี้ ตบ ตี หรือทำให้ลำตัวแตกหัก พิษในตัวของแมลงจะถูกขับออกมามีลักษณะเป็นของเหลวซึมเข้าสู่ร่างกาย และก่อให้เกิดอาการแพ้ดังกล่าว ดังนั้น หากร่างกายสัมผัสถูกพิษ ให้รีบล้างน้ำสะอาด หรือทำความสะอาดเช็ดด้วยแอมโมเนียทันที และไม่ควรสัมผัสถูกบริเวณที่ถูกพิษ เพราะอาจเกิดการลุกลามหรือติดเชื้อซ้ำ ควรทายาปฏิชีวนะประเภทครีมที่บริเวณแผล แต่หากมีอาการลุกลามรุนแรงควรรีบไปพบแพทย์

การป้องกันตัวเองจากแมลงมีพิษเหล่านี้ เราสามารถทำได้โดย การลดความสว่างของแสงไฟในเวลากลางคืน หรือปิดมุ้งลวดป้องกันแมลงให้มิดชิด เนื่องจากด้วงก้นกระดก มักเข้ามาเล่นแสงไฟในตอนกลางคืน


ข้อมูลสุขภาพ บทความทางการแพทย์
โทรหาเรา 1728 นัดหมายแพทย์ นัดหมายแพทย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า