โรคไข้เลือดออกในเด็ก

 

โรคไข้เลือดออก (Dengue hemorrhagic fever หรือ dengue shock syndrome) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกี (dengue virus) ซึ่งมีอยู่ 4 สายพันธุ์ จัดอยู่ในกลุ่ม flavivirus และสามารถแพร่ได้โดยมียุงลายเป็นพาหะ

 

อาการของไข้เลือดออก แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ

 

  • ระยะแรก (ระยะไข้สูง) 

ระยะนี้มักไม่ค่อยมีอาการจำเพาะ เด็กจะมีไข้สูงและเป็นหลายวัน (ประมาณ 5-6 วัน) โดยอาจมีอาการหวัด ปวดเมื่อยตัว คลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ในช่วงฤดูไข้เลือดออก หากลูกมีไข้สูงหลายวัน คุณพ่อคุณแม่ควรนึกถึงการติดเชื้อไข้เลือดออกด้วยเสมอ ควรพาลูกไปพบแพทย์ ไม่ควรพยายามรักษาเอง และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาลดไข้ประเภทแอสไพรินและไอบูโพรเฟน ซึ่งอาจทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหารและเกิดปัญหาเลือดออกในกระเพาะอาหาร รวมถึงเลือดไม่แข็งตัวเมื่ออาการของไข้เลือดออกเป็นรุนแรงถึงขั้นระยะช็อกได้

 

  • ระยะวิกฤติ (ระยะ 3 วันอันตราย อาจเสี่ยงกับอาการช็อกได้) 

ผู้ป่วยมักมีไข้มาแล้วหลายวัน อาการทั่วไปจะดูเพลียมากขึ้น อาจมีอาการปวดเมื่อยตัวมากขึ้น รวมถึงมีอาการปวดท้อง ท้องอืด เบื่ออาหาร ผิวหน้า-ฝ่ามือ-ฝ่าเท้าดูแดงๆ ในช่วงนี้เด็กบางคนอาจพูดคุยได้ดี แต่ก็ยังต้องคอยตรวจวัดชีพจรและความดันโลหิตเป็นช่วงๆ บ่อยๆ ร่วมกับดูปริมาณน้ำและอาหารที่รับประทานเข้าไปเทียบกับปริมาณปัสสาวะที่ออกมาในแต่ละช่วงของวัน ในบางรายอาจมีอาการท้องอืดมากขึ้น กระสับกระส่าย ปลายมือปลายเท้าเย็น ร่วมกับไข้ที่ลดลงเป็นอุณหภูมิปกติ ซึ่งอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจผิดว่าเด็กกำลังจะหายจากไข้เลือดออกแล้ว ทั้งๆ ที่เด็กอาจกำลังเข้าสู่ระยะช็อกที่จะมีความรุนแรงตามมาในอีกไม่กี่ชั่วโมงนี้ก็ได้

 

  • ระยะฟื้นตัว

เป็นระยะหลังไข้ลงโดยไม่มีอาการช็อก โดยเกล็ดเลือดจะเริ่มกลับสูงขึ้น ชีพจรและความดันโลหิตเริ่มคงที่ดีขึ้น ปัสสาวะเริ่มออกมากขึ้น การไหลเวียนของเลือดและน้ำเหลืองที่เคยซึมรั่วไปอยู่ในส่วนอื่นๆ ของร่างกายกลับเข้าสู่ระบบการไหลเวียนของเลือดเพิ่มขึ้น ทำให้อวัยวะต่างๆ เริ่มทำงานเป็นปกติ จากนั้นในอีก 48-72 ชั่วโมงต่อมาจะเข้าสู่ระยะที่เรียกว่าหายเป็นปกติ ผู้ป่วยจะเริ่มมีความอยากอาหารบ้าง อาการปวดท้องและท้องอืดจะดีขึ้น รู้สึกมีแรงมากขึ้น มักพบผื่นแดงและคันตามฝ่ามือและฝ่าเท้าโดยไม่มีการลอกตัวของผิวหนัง

 

โรคไข้เลือดออกไม่ได้พบเพียงเฉพาะในเด็กเท่านั้น แต่สามารถพบได้ในทุกกลุ่มอายุ อาการของโรคไข้เลือดออกแม้จะไม่รุนแรง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจนทำให้เสียชีวิตได้ โดยเราสามารถสังเกตอาการของโรคไข้เลือดออกได้ ดังนี้

 

1. มีไข้สูง 39 – 40 องศา เกิน 2 วัน
2. ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว
3. อ่อนเพลีย ซึมลง
4. ปัสสาวะสีเข้ม
5. เบื่ออาหาร อาเจียน
6. อาจพบจ้ำเลือดหรือจุดเลือดตามผิวหนัง
7. อุจจาระมีสีดำ

 

 

หากพบว่ามีอาการดังกล่าว ควรพบแพทย์ทันที และห้ามซื้อยารับประทานเองเด็ดขาด เราสามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกได้โดย การป้องกันไม่ให้ยุงกัด ลดประชากรยุงในบริเวณที่อยู่อาศัยโดยการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ได้แก่ การหมั่นปราบยุง ลดแหล่งน้ำที่จะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง ใช้มุ้งหรือติดตั้งมุ้งลวดกันยุง พ่นยาปราบยุง

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงฤดูไข้เลือดออก หากเด็กมีอาการไข้สูงหลายๆ วัน คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรพาลูกมาพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง เพราะหากล่าช้าเกินไป ผู้ป่วยอาจมีภาวะช็อกและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ในที่สุด

 

แม่และเด็ก
โทรหาเรา 1728 นัดหมายแพทย์ นัดหมายแพทย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า