เบาหวาน โรคใกล้ตัวที่ควรรู้


นายแพทย์สุทธิศักดิ์ ไชยอัชนรัตน์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม

โรคเบาหวาน ถือว่าเป็นความผิดปกติของร่างกาย ในการนำน้ำตาลไปใช้ เพราะฉะนั้นคนไข้จะมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงกว่าคนปกติ สาเหตุนี้เกิดจากมีภาวะดื้อกับฮอร์โมนอินซูลิน ร่วมกับมีภาวะการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อนลดลง ซึ่งไม่เกี่ยวกับการรับประทานน้ำตาลมากหรือน้อย แต่เกี่ยวกับการรับประทานไปแล้วร่างกายไม่สามารถจัดการกับน้ำตาลได้

โรคเบาหวานมีอยู่ 4 ชนิด ประมาณ 95% ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด เป็นเบาหวาน ชนิดที่ 2 จากสาเหตุข้างต้น คือ เกิดจากมีภาวะดื้อกับฮอร์โมนอินซูลิน ร่วมกับมีภาวะการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อนลดลง อาการก็คือ พอคนไข้มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงมากๆ ไตจะเก็บน้ำตาลได้ไม่เกิน 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร คนไข้ก็จะปัสสาวะบ่อย พอปัสสาวะบ่อยมากก็จะเสียน้ำ หิวน้ำบ่อย และคนไข้ที่รับประทานอาหารเยอะ เมื่อรับประทานอาหารเข้าไปก็ไม่สามารถนำเอาน้ำตาล หรือพลังงานไปใช้ได้ น้ำหนักก็จะลด อาการหลักๆ ของโรคเบาหวาน ก็มีหิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย รับประทานอาหารเยอะ น้ำหนักลด และอาจจะติดเชื้อราบางที่ได้ง่ายๆ

ส่วนอีก 3 ชนิด ที่เป็นสาเหตุของโรคเบาหวาน คือ ชนิดที่ 1 เบาหวานตั้งแต่กำเนิด ชนิดที่ 3 เบาหวานที่มีลักษณะจำเพาะ เช่น เป็นเนื้องอกของตับอ่อนแล้วต้องผ่าตัดตับอ่อนออกไป แล้วทำให้ขาดฮอร์โมนอินซูลินทำให้เป็นเบาหวาน ชนิดที่ 4 เบาหวานขณะตั้งครรภ์

ใครบ้างเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน

  • กรรมพันธุ์
  • อายุมากกว่า 35 ปี (เริ่มมีความเสี่ยง)
  • มีภาวะอ้วน หรือดัชนีมวลกายมากกว่า 25
  • เคยตรวจสุขภาพแล้วมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง

รู้เท่าทัน เบาหวานแฝง เพื่อป้องกันอย่างถูกวิธี

ภาวะเบาหวานแฝงก็เสี่ยงที่จะเกิดเบาหวานจริงได้สำหรับคุณผู้หญิง ถ้ามีประวัติครอบครัวว่าเคยเป็นถุงน้ำรังไข่ หรือว่าเป็นซีสต์เยอะ ในรังไข่และมีประวัติเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือว่าคลอดบุตรน้ำหนักของบุตร เกิน 4,000 กรัม หลังการคลอดบุตรจะมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานมากกว่าคนที่ไม่เคยเป็น และอีก 3 กลุ่มที่มีความเสี่ยงที่ควรได้รับการตรวจโรคเบาหวาน คือ

  • โรคหัวใจ
  • โรคไขมันในเลือดสูง
  • โรคความดันโลหิตสูง

นอกจากความเสี่ยงทั้งหมดแล้ว สำหรับบางคนที่คิดว่าตัวเองไม่เป็นหรือว่าป่วยเป็นโรคอื่นแต่จริงๆแล้วมารับการตรวจกลับพบว่าเป็นโรคเบาหวานก็จะเจอได้เรื่อยๆ เพราะว่าได้รับการตรวจจากคุณหมอแผนกอื่น เช่น คนไข้มาด้วยเรื่องตามัว พอมาตรวจกับคุณหมอตาก็พบว่ามีเบาหวานขึ้นตาแล้ว เพราะว่าคนไข้ไม่ค่อยได้ตรวจสุขภาพ พอตรวจพบเบาหวานขึ้นตาคุณหมอตาก็จะมีการตรวจเลือดให้ครบ เมื่อพบว่าเป็นเบาหวานก็จะส่งมาปรึกษากับคุณหมอเบาหวานต่อไป

ระดับน้ำตาลเท่าไร? ถึงเป็นโรคเบาหวาน

การวินิจฉัยและการตรวจโรคเบาหวาน ดูจากปริมาณน้ำตาลในเลือด ดูภาวะแทรกซ้อน และดูโรคที่เกิดร่วมด้วย ในการวินิจฉัยเราจะแนะนำคนไข้ว่าควรตรวจสุขภาพปีละ 1 ครั้ง ก่อนตรวจต้องงดอาหารทุกอย่างเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ดื่มน้ำเปล่าได้อย่าดื่มน้ำที่มีพลังงาน แล้วมาตรวจน้ำตาลตอนเช้า คนปกติก่อนรับประทานอาหารต้องมีน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถ้าตรวจพบน้ำตาลในเลือดตั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป และตรวจพบ 2 ครั้งภายใน 1 สัปดาห์ ก็สามารถวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานได้

แนวทางการรักษา

จะต้องดูคนไข้เป็นองค์รวม อันดับแรกเราจะคิดว่ามาพบแพทย์แล้วรับประทานยาอย่างเดียว จริงๆ แล้วการรักษาโรคเบาหวานที่ถูกต้อง เราจะเน้นการรักษาแบบสหสาขาวิชาชีพ คือ นอกจากจะมาพบแพทย์ก็ยังมีนักกายภาพบำบัดมีการตรวจเท้า มีการสอนการออกกำลังกาย มีการพบนักกำหนดอาหารหรือนักโภชนากร เพื่อแนะนำอาหารว่ามีการรับประทานอาหารที่ถูกต้องดีพอหรือไม่ ต้องปรับตรงไหนบ้าง พบเภสัชกรแนะนำยาที่ถูกต้อง จะมีผลข้างเคียงอะไรบ้างและต้องแก้ไขอย่างไร แต่สำหรับบางท่านที่จะต้องพบแพทย์หลายสาขา เพราะโรคเบาหวานจะพบว่ามีโรคร่วมบ่อยมาก อาทิ โรคความดันโลหิตสูง โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ โรคไขมันในเลือดสูง

นอกจากนี้ ถ้าคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี หรือว่าวินิจฉัยช้าหรือเป็นมานานแล้ว ก็จะเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนกับอวัยวะสำคัญอย่างตาและไตได้ คนไข้ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเสียชีวิตกันเพราะโรคเบาหวาน แต่จะเสียชีวิตเพราะภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานตามสถิติการเสียชีวิตส่วนใหญ่ เกินครึ่งเป็นจากเรื่องของเส้นเลือดหัวใจมากกว่าฉะนั้นต้องรักษาอย่างถูกวิธี เพราะน้ำตาลที่สูงทำให้เส้นเลือดอักเสบแล้วตีบ จึงเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดหัวใจตีบเส้นเลือดสมองตีบค่อนข้างมากถ้าคุมได้ไม่ดี

การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเบาหวาน

ตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพราะว่าถ้าตรวจเจอตั้งแต่แรก ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวานหรือโรคอื่นๆ ส่วนใหญ่จะให้การรักษาได้ดีกว่าที่จะมารักษาตอนเกิดภาวะแทรกซ้อนแล้ว ส่วนการวินิจฉัยโรคเบาหวาน ถ้าเป็นครั้งแรกจะค่อนข้างตกใจ ตื่นเต้น และกลัว จริงๆแล้วเป็นโรคที่เจอบ่อยในคนไทย หากดูแลตัวเองได้อย่างถูกต้อง ภาวะแทรกซ้อนที่กล่าวมา ทั้งหมดจะมีโอกาสเกิดน้อย

โปรแกรมตรวจสุขภาพสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

ในปัจจุบัน คนไทยตรวจสุขภาพกันไม่ถึง 50% เพราะทุกคนจะกลัวการตรวจแล้วเจอ ซึ่งจริงๆ การตรวจสุขภาพควรเน้นมากๆ เพราะการตรวจตั้งแต่แรก ต่อให้เป็นมะเร็ง ถ้าเป็นตั้งแต่แรกเริ่มและยังไม่แพร่กระจายสามารถรักษาให้หายขาดได้ 


นายแพทย์สุทธิศักดิ์ ไชยอัชนรัตน์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม


บทความทางการแพทย์ สูงอายุ โรคที่พบบ่อย
โทรหาเรา 1728 นัดหมายแพทย์ นัดหมายแพทย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า