โรคหัวใจ เด็กก็เป็นได้! จากข้อมูลทางสถิติพบว่า จะมีเด็กแรกเกิด 8 คน จาก 1,000 คนเป็นโรคหัวใจพิการ ในบางรายมีโอกาสเป็นตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรือตรวจพบได้ตั้งแต่แรกเกิด หรืออาจมีอาการในภายหลัง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคหัวใจ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กเล็กจนถึงเด็กโต โดยส่วนหนึ่งของเด็กที่ป่วยเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิดจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งโรคหัวใจแต่กำเนิด พบว่าจำนวน 1 ใน 4 หากไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง เด็กอาจเสียชีวิตได้ นอกจากโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดแล้ว ยังพบโรคหัวใจที่เกิดขึ้นในภายหลัง เช่น โรคคาวาซากิ และโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
โรคหัวใจในเด็ก ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจและไม่ควรมองข้าม หากมีอาการเสี่ยงเป็นโรคหัวใจควรได้รับการตรวจวินิจฉัย รักษา และคำปรึกษาแนะนำโดยกุมารแพทย์โรคหัวใจ
โรคและภาวะผิดปกติทางหัวใจที่พบบ่อยในเด็ก เช่น
- โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
- โรคคาวาซากิ
- โรคหัวใจรูห์มาติก
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- โรคหัวใจจากการขาดวิตามินบี 1 (เหน็บชา)
- ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- โรคลิ้นหัวใจจากการติดเชื้อ
บุตรหลานของท่านเสี่ยงเป็นโรคหัวใจหรือไม่?
โดยส่วนใหญ่แล้วเด็กจะมีอาการที่ผู้ปกครองสามารถสังเกตได้ดังต่อไปนี้
หัวใจเต้นเร็ว เด็กมีอาการหัวใจเต้นแรงและเร็วกว่าปกติ
หายใจเร็ว เด็กหายใจเร็วกว่าปกติ เหนื่อยง่าย
ดื่มนมน้อย เด็กดูดนมได้ช้า ใช้ระยะเวลาในการดูดนมนาน เนื่องจากหัวใจและปอดทำงานมากกว่าปกติ
เลี้ยงไม่โต เนื่องจากเด็กต้องใช้พลังงานมากกว่าปกติ ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตช้า
ภาวะเขียว เด็กจะมีริมฝีปาก ปลายมือ ปลายเท้าเขียว เล็บมีสีม่วงคล้ำ
หากสังเกตพบว่าบุตรหลานของท่านมีอาการดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาโดยกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในทันที
กุมารแพทย์โรคหัวใจ


