
ปัจจุบัน พบเด็กไทยมีอัตราการติดมือถือขนาดหนักที่ต้องเข้ารับการบำบัดรักษาราว 10-15% เนื่องมาจากเนื้อหาและรูปแบบของเกมที่สนุกสนาน ช่วยสร้างความสุขให้กับเด็กๆ บวกกับเทคโนโลยีที่ทำให้สื่อต่างๆ กลายเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวและเข้าถึงง่าย ทำให้ผู้ปกครองควบคุมดูแลการใช้มือถือของเด็กๆ ได้ยากยิ่งขึ้น
ปัญหา #ลูกติดมือถือ นับเป็นปัญหาสำคัญของหลายๆ ครอบครัว จากสถิติในปัจจุบัน พบว่ามีเด็กๆ ที่อยู่หน้าจอมากถึง 35 ชั่วโมง/สัปดาห์ ซึ่งโดยปกติแล้วไม่ควรเกิน 16 ชั่วโมง/สัปดาห์
อาการแบบนี้…บ่งบอกลูกติดมือถือหนัก!
- ไม่สนใจหรือเลิกทำกิจกรรมที่เคยชอบ
- ละเลยหน้าที่ความรับผิดชอบ
- ควบคุมเวลาเล่นมือถือของตนเองไม่ได้
- หงุดหงิด โมโหรุนแรง
ปล่อยลูกติดมือถือ เสี่ยง “พฤติกรรมโมโหร้าย สมาธิสั้น”
หากคุณพ่อคุณแม่ ปล่อยให้ลูกมีพฤติกรรม “ติดมือถือ” นอกจากจะสร้างพฤติกรรมที่ไม่ดีแล้ว ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพด้านต่างๆ
- สุขภาพร่างกายผิดปกติ ร่างกายไม่แข็งแรง เช่น ปวดศีรษะ ปวดตา ปวดต้นคอ ปวดท้องโดยไม่ทราบสาเหตุ นอนหลับไม่ดี นอนไม่ยาว เสี่ยงสายตาสั้น ตาอักเสบ
- สมองเล็กลงขาดการพัฒนา ทำให้พัฒนาการเชาวน์ปัญญาไม่ดี ไอคิวต่ำกว่ามาตรฐาน เช่น กระบวนการฝึกคิด การเรียนรู้ และการแก้ปัญหาที่เชื่องช้า
- พัฒนาการช้า ในด้านภาษา การพูด เขียน อ่าน ไม่ได้หรือได้ช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน
- เข้าสังคมยาก ขาดการเล่นอิสระ เพราะได้สูญเสียเวลาไปกับการเล่นมือเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากในความสัมพันธ์ระดับครอบครัว และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
- อารมณ์รุนแรง มีพฤติกรรมก้าวร้าว ในกรณีเด็กที่อายุไม่เกิน 6 ปี มักพบปัญหาลักษณะการโวยวายที่รุนแรงกว่าเด็กทั่วไปที่ไม่ได้ติดมือถือ และจะมีอาการแสดงชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อโตขึ้น โดยเริ่มจากการพูดจาที่ก้าวร้าว การแสดงออกที่รุนแรง และมีสภาวะอารมณ์ที่ผิดปกติ หงุดหงิดง่าย หุนหันพลันแล่น ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า และวิตกกังวลได้ง่ายกว่าเด็กกลุ่มอื่น
เรียนรู้และเข้าใจ ‘โรคซึมเศร้า’

เมื่อลูกติดมือถือ แท็บเล็ต แก้ไขอย่างไรดี?
หากเด็กเกิดพฤติกรรมติดมือถือ จะส่งผลทั้งในด้านพฤติกรรม ความเครียด ทั้งต่อตัวเด็กและคุณพ่อคุณแม่ด้วย ซึ่งทำให้กระทบต่อความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัวไปด้วยคุณพ่อคุณแม่จะจัดการกับปัญหานี้อย่างไรดี? อันดับแรกคือการเป็นแบบอย่างที่ดี (Role Model) ให้กับลูก และปรับพฤติกรรมให้ลูกมีการใช้มือถืออย่างเหมาะสม
มือถือใช้ได้เมื่อไร?
แนะนำให้เริ่มใช้มือถือได้เมื่อเด็กอายุ 3 – 4 ปี และควรจำกัดเวลาในการเล่นไม่เกิน 60 นาที/วัน
เด็กแรกเกิด – 2 ปี ควรหลีกเลี่ยงการใช้มือถือ แท็บเล็ต

พ่อแม่หัวใจสำคัญตัวช่วยปรับพฤติกรรมลูก
คุณพ่อคุณแม่มักเข้าใจว่า การเล่นมือถือเป็นเรื่องปกติตามวันของเด็ก แต่ถ้าหากการเล่นเหล่านั้นขาดการควบคุมที่ดี ขาดการดูแลอย่างเหมาะสม อาจส่งผลกระทบให้เกิดปัญหากับเด็กในระยะยาวได้ โดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่นที่เริ่มจะมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามา เช่น ความเครียดจากการเรียน ปัญหาในโรงเรียน การคบเพื่อน ซึ่งจะส่งผลต่อปัญหาด้านพฤติกรรมอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ในขั้นตอนการบำบัดรักษา พฤติกรรมติดมือถือ แพทย์จะทำการประเมินพฤติกรรมเด็กจากการพูดคุยกับผู้ปกครองหรือตัวเด็กเอง ร่วมกับการประเมินความพร้อมและความอดทนของพ่อแม่ ก่อนที่จะให้คำแนะนำในการบำบัดรักษาต่อไป