ท้องผูกในเด็ก เรื่อง (ไม่) เล็ก ที่พ่อแม่ต้องรู้!

พญ.ชนิกา รัชตวาสน์
กุมารแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ

ภาวะท้องผูกในเด็ก – พญ.ชนิกา รัชตวาสน์

ภาวะท้องผูกในเด็ก คือ ภาวะที่เด็กมีการถ่ายอุจจาระก้อนใหญ่ หรือเป็นเม็ดแข็งคล้ายกระสุน ต้องใช้แรงเบ่งมากกว่าปกติ โดยสังเกตได้จากการร้องไห้งอแงขณะขับถ่าย อาจถ่ายอุจจาระมีเลือดปน และขับถ่ายน้อยกว่าหรือเท่ากับ 2 ครั้งต่อสัปดาห์

ลักษณะของอุจจาระจะขึ้นอยู่กับช่วงอายุในแต่ละวัย ในเด็กทารก จะมีการถ่ายขี้เทา ในช่วง 48 ชั่วโมงแรกหลังแรกเกิด เมื่อเข้าสู่อายุ 1 เดือน จะเป็นช่วงวัยที่มีการขับถ่ายมากกว่าวัยอื่นๆ เด็กบางคนอาจมีการขับถ่ายวันเว้นวัน หรืออาจมากถึง 8-10 ครั้งต่อวัน ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับปริมาณนมที่รับประทาน โดยเด็กจะเริ่มถ่ายเป็นก้อนมากขึ้น เมื่อเข้าสู่อายุ 4 เดือน และจะถ่ายเหมือนผู้ใหญ่ คือ วันละ 1 ครั้ง เมื่ออายุประมาณ 4 ปี

สาเหตุของอาการท้องผูกในเด็ก 90% เกิดจากปัญหาพฤติกรรมของเด็ก เด็กมักมีพฤติกรรมการอั้นอุจจาระ ซึ่งเกิดจากการมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับการขับถ่าย อาจมีอาการเจ็บขณะขับถ่าย ซึ่งมักเกิดตามหลังจากการเจ็บป่วย หรือการดูแลเด็กที่มีการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เช่น การเปลี่ยนนมไปเป็นอาหารเสริม การเปลี่ยนพฤติกรรมจากเดิมที่เคยอยู่บ้าน เข้าสู่โรงเรียน อาจส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมการอั้นอุจจาระได้

ภาวะท้องผูก สามารถส่งผลกระทบทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ทำให้เกิดแผลฉีกขาดที่บริเวณหูรูดทวารหนัก เนื่องจากขนาดและลักษณะของอุจจาระ ซึ่งหากเกิดแผลฉีกขาดซ้ำๆ อาจทำให้เกิดก้อนติ่งเนื้อ จนคุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจเข้าใจผิดว่าเป็นริดสีดวงทวารได้

นอกจากนี้ อุจจาระที่คั่งค้างอยู่ภายในลำไส้ อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องเรื้อรัง เด็กรู้สึกอืดท้อง แน่นท้อง ทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง ส่งผลกระทบต่อเรื่องการเจริญเติบโตและน้ำหนักตัวได้

ภาวะท้องผูกในเด็กยังส่งผลกระทบทางด้านจิตใจ เด็กที่มีอาการท้องผูกเรื้อรัง อาจมีปัญหาอุจจาระเล็ด ทำให้อุจจารเปื้อนกางเกง จนเด็กสูญเสียความมั่นใจ และรู้สึกอับอาย จนกลายเป็นบาดแผลในจิตใจได้

สำหรับการดูแลรักษาภาวะท้องผูกในเด็ก จะต้องใช้วิธีการปรับพฤติกรรมร่วมกับการรับประทานยา ที่จะให้อุจจาระนุ่มขึ้น ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมให้ลูกรับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น ในปริมาณที่เหมาะสมตามวัย นอกจากนี้ การรับประทานนมที่มากเกิน มีส่วนที่ทำให้เด็กเกิดอาการท้องผูกได้ โดยปริมาณนมที่เด็กควรรับประทานต่อวัน จะแบ่งตามช่วงวัย คือ

  • เด็กแรกเกิด – 6 เดือน ควรรับประทานนม 700 cc ต่อวัน
  • ตั้งแต่ 7 เดือน – 12 เดือน ควรรับประทานนม 800 cc ต่อวัน

ภาวะท้องผูก แม้ดูไม่ได้เป็นโรคที่ร้ายแรง แต่คุณพ่อ คุณแม่ก็ไม่ควรมองข้าม! หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของลูกทั้งทางร่างกายและจิตใจได้ วิธีการดูแลเด็กที่มีปัญหาท้องผูกที่ดีที่สุด คือ “การป้องกัน” คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร ส่งเสริมให้รับประทานผัก ผลไม้ ตั้งแต่อายุน้อย เพื่อปลูกฝังพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ถูกต้อง รวมถึงนมที่รับประทานต่อวัน ควรให้รับประทานในปริมาณที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน


ข้อมูลสุขภาพ แม่และเด็ก
โทรหาเรา 1728 นัดหมายแพทย์ นัดหมายแพทย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า