โรคเบาหวานกับการดูแลเท้า

โรคเบาหวานกับการดูแลเท้า

     โรคเบาหวานกับการดูแลเท้า โรคเบาหวาน มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผลที่เท้าสูงเนื่องจากมีการเสื่อมของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบเลือดไปเลี้ยงบริเวณเท้าน้อยลง รวมทั้งมีการเสื่อมของเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงยังเท้า แผลที่เท้าจากโรคเบาหวาน เป็นอาการบาดเจ็บที่นำไปสู่การตัดขาที่พบมากที่สุด การป้องกันและให้การวินิจฉัยตั้งแต่แรกมีความสำคัญมาก การดูแลเท้าในผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องใช้องค์ความรู้ที่ครบถ้วน ครอบคลุมปัจจัยเสี่ยงหลัก ๆ ที่นำไปสู่การตัดอวัยวะ
 
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ต้องตัดขา ประกอบด้วย
1. ปลายประสาทอักเสบ (Peripheral neuropathy) 
  • ความบกพร่องหรือสูญเสียระบบรับความรู้สึก
  • ภาวะเลือดไปเลี้ยงไม่พอ
  • ความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ ก่อให้หลั่งเหงื่อน้อยลง ผิวแห้ง แตกเป็นร่อง
  • ภาวะอ้วน
  • ความบกพร่องด้านการมองเห็น
  • ภาวะบกพร่องในการควบคุมน้ำตาลในเลือด
2. โครงสร้างของเท้าผิดปกติ
  • เท้าผิดรูปและการเกิดปุ่มกระดูกงอก อันเป็นผลมาจากถูกกดเป็นเวลานาน
  • จำกัดการเคลื่อนไหวของข้อ
3. การเกิดแผลที่เท้า
  • มีประวัติเป็นแผลที่เท้า หรือเคยตัดอวัยวะส่วนล่างของร่างกาย
  • สวมรองเท้าไม่เหมาะสม ทำให้ผิวหนังถูกเสียดสี หรือ กดทับ
แนวทางการดูแลรักษาป้องกันเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน
1.  การตรวจและการดูแลเท้าอย่างสม่ำเสมอ
   จะรู้ได้อย่างไรว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนที่เท้า
  • สีของผิวเปลี่ยนไปเช่นคล้ำขึ้น  = ผิวสวยๆ
  • อุณหภูมิของผิวหนังเพิ่มขึ้น = เนื้ออุ่นๆ
  • บวมที่เท้า = บวมไม่บวปวดขา
  • ปวดเท้าเวลาเดิน = เดินไม่เจ็บ
  • แผลที่เท้าหายช้า  = เจ็บง่ายก็ต้องหายเร็ว
  • เล็บขบและมีเชื้อราที่เล็บ = อย่ามาขบ อย่ามากัด
  • เลือดออกบริเวณตาปลา  = เลือดฉันจะไหล
  • ผิวแห้งแตกโดยเฉพาะบริเวณส้นเท้า = ผิวฉันจะแตก

2. การทำรองเท้าพิเศษสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

         รองเท้าจำเป็นสำหรับผู้ป่วยเบาหวานอย่างไร
         ผู้ป่วยเบาหวานมีความจำเป็นต้องใช้รองเท้าชนิดพิเศษมากเพื่อการป้องกันไม่ให้เกิดแผล และหากมีแผลและรักษาแผลหายแล้วก็ยังต้องใช้รองเท้าชนิดพิเศษต่อไป เพื่อไม่ให้แผล เกิดซ้ำขึ้นมาอีก จากการวิจัยของ King’s college ของประเทศอังกฤษพบว่าผู้ป่วยที่หายเป็นแผลแล้วกลับมาใส่รองเท้าปกติ มีโอกาสเป็นแผล ซ้ำถึง 83% ส่วนผู้ป่วยที่ใส่รองเท้าพิเศษสำหรับผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสเกิดแผลซ้ำเพียง 17% เท่านั้น
 
 คุณสมบัติของรองเท้าที่เหมาะสมกับผู้ป่วยเบาหวาน
•   ต้องมีความนุ่ม (cushioning) 
      ความนุ่มที่เหมาะสมสำหรับ ผู้ป่วยเบาหวานคือ 15 องศาชอว์ วัดไม่ยาก คือ ความนุ่มที่เอามือบีบแล้วยุบลงครึ่งหนึ่งของความหนาเดิม  เราต้องการความนุ่มเพื่อลดแรงกระแทก และหนังแข็ง เพราะผู้ป่วยมักมีควาผิดปกติเช่น นิ้วเท้าจิกงอ (Claws toes) การโปนของปุ่มกระดูก (Bony prominent) บริเวณนี้จะมีแรงกดสูงกว่าปกติ อันจะส่งผลให้เกิด ตาปลา หนังแข็งนำไปสู่การเป็นแผลได้
•   ปรับสายคาดได้ (Adjustable)
     เพราะเท้าคนเราขนาดไม่เท่ากันแต่ละช่วงเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยเบาหวานที่มี ปัญหาหลอดเลือด โรคแทรกซ้อนทางไต มักจะมีการบวมได้ง่าย การปรับได้จะทำให้ลดการกดบริเวณหลังเท้า ซึ่งอาจไปขัดขวางการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงที่เท้า (blocked Dorsalis Pedis Artery)
•   ต้องมีสายรัดส้น (back strap)
       เนื่องจากกล้ามเนื้อในเท้าอ่อนแรงจากปลายประสาทเสื่อม ส่งผลให้รองเท้าหลุดออกจากเท้าได้ง่าย
       ผู้ป่วยจะพยายามจิกนิ้วเท้ากับรองเท้าเพื่อไม่ให้หลุด อันเป็นการส่งเสริมให้เกิดภาวะนิ้วงอ (Claw Toe) ตามมา ส่งผลให้เกิดเป็นความผิดปกติระดับทุติยภูมิ (Secondary Impairment) ตามมาจากภาวะปลายประสาทเสื่อม จะก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย
•    รูปแบบต้องเป็นที่ยอมรับ สำหรับตัวผู้สวมใส่เอง ลักษณะอาชีพ สังคม
      รองเท้าที่ดีใส่แล้วต้องรู้สึกสบาย และสิ่งที่พิสูจน์ในขั้นสุดท้ายว่ารองเท้านั้นดี คือ เท้าต้องไม่มีแผล ไม่ว่าแผลเก่าหรือแผลใหม่     
หลักการในการเลือกหรือผลิตรองเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
•    มีด้านหน้าของรองเท้า (Toe Box) ลึกและกว้างเพื่อป้องกันการบีบรัดและเสียดสี
•    มีความลึกของรองเท้ามากเป็นพิเศษเพื่อให้ใส่อุปกรณ์เสริมและการปรับแต่งได้ทำได้ง่าย
•    ออกแบบมาให้สามารถปรับและใส่อุปกรณ์เสริมได้ง่าย
•    พื้นรองเท้าทำจากวัสดุที่ นุ่ม ไร้รอยต่อ เพื่อป้องกันการเสียดสี
•    ส่วนรองรับหลังเท้ายาว นุ่ม และมีส่วนรองรับด้านในของเท้ายาวเป็นพิเศษเพื่อการรองรับน้ำหนักที่ดีและสวมใส่สบาย
•    พื้นรองเท้าหนา แข็งแรง และสามารถปรับแต่งได้เพื่อความมั่นคงและป้องกันการทิ่มแทงจากวัสดุต่างๆ
•    มีให้เลือกทั้งแบบผูกเชือก (lace) และแถบสายรัด (Velcro strap) เพื่อให้สามารถปรับได้ง่ายเนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานมักจะมีการเปลี่ยนแปลงของขนาดเท้าโดยเฉพาะผู้ที่มีความผิดปกติของไตร่วมด้วย
 
เหตุผลทางเทคนิคในลักษณะรองเท้าผู้ป่วยเบาหวาน
–  เพื่อป้องกันและลดแรงกระแทกที่จะเกิดกับร่างกายในเวลายืนหรือเดิน
–  ความแข็งและได้ทรงของตัวรองเท้าจะช่วยลดแรงเค้นและแรงเครียดที่เกิดจากการการเคลื่อนไหวในการเดินของบริเวณเท้าส่วนหน้าได้
–  เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานมักมีการเปลี่ยนแปลงขนาดของเท้าในระหว่างวันจากสภาวะโรค ดังนั้น สายเชือก หรือ แถบรัดจึงมีความจำเป็น
–  จากรูปดังกล่าวจะเห็นถึงการเปรียบเทียบระหว่างรองเท้าที่มีการหุ้มข้อเท้าด้านหลังหรือมีสายรัดข้อเท้าจะสามารถลดการเสียดสีจากการเดินที่จะเกิดขึ้นซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดแผลได้
3. การทำแผ่นรองในรองเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
      แผ่นรองในรองเท้าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยปกป้องฝ่าเท้าของผู้ป่วยเบาหวานได้ เนื่องจากเป็นบริเวณที่สัมผัสกับจุดเสี่ยงที่จะเกิดแผลเบาหวานโดยตรง การทำแผ่นรองในรองเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวานจึงมีข้อควรคำนึงเพื่อให้สามารถรองรับฝ่าเท้า ลดแรงกระแทก และ ลดความเสี่ยงที่จะเกิดแผลเบาหวานให้ได้มากที่สุด
 
เหตุผลทางเทคนิคในลักษณะแผ่นรองในรองเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
–   เพื่อป้องกันและลดแรงกระแทกที่จะเกิดกับร่างกายในเวลายืนหรือเดิน
–   จากการวิจัย การใส่แผ่นลดแรงกระแทกที่หน้าเท้า และ การเสริมอุ้งเท้า จะช่วยเพิ่มพื้นที่สัมผัสเท้าในการเดินถึง 47% และ แรงที่จะกระทำต่อฝ่าเท้าจะสามารถลดลงได้ถึง 1ใน 3 จากเดิม
–   แผ่นรองในรองเท้าจะช่วยรองรับฝ่าเท้าทั้งหมด และ จากการวิจัยพบว่า สามารถลดแรงกระทำต่อทั้งฝ่าเท้าได้ถึง 1ใน 2 จากเดิม
________________________________________
โดย นางสาว สุวิชา เตชะภูวภัทร นักกายอุปกรณ์ คลินิกสุขภาพเท้า โรงพยาบาลศิครินทร์ หาดใหญ่
บทความทางการแพทย์
โทรหาเรา 1728 นัดหมายแพทย์ นัดหมายแพทย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า