นายเเพทย์พงษ์ศักดิ์ วังรัตนโสภณ
อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบภูมิคุ้มกัน
โรคลมพิษ คืออะไร?
“ลมพิษ (Urticaria)” คือ ผื่นคันที่เกิดขึ้นบนผิวหนัง เป็นอาการที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย โดยพบมากที่สุดในช่วงอายุ 20-40 ปี ลักษณะลมพิษจะเป็นผื่นหรือปื้นนูนแดง ไม่มีขุย กระจายตามตัวแขนขา หรือบริเวณใบหน้า ซึ่งผื่นลมพิษสามารถเกิดขึ้นได้บนทุกส่วนในร่างกาย โดยมากมักเป็นไม่เกิน 24 ชั่วโมง ผื่นจะค่อยๆ จางหายไป บางรายอาจมีอาการถึงขั้นปวดท้อง แน่นจมูก หายใจติดขัด หรือบางรายอาจมีอาการรุนแรงมาก ถึงขั้นเสียชีวิตได้
ประเภทของลมพิษ
ลมพิษนั้น แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ประกอบด้วย
1. ลมพิษชนิดเฉียบพลัน มักมีอาการต่อเนื่องกันไม่เกิน 6 สัปดาห์ สาเหตุที่เกิดได้ คือ จากการแพ้อาหาร, แพ้ยา, แมลงสัตว์กัดต่อย การติดเชื้อบางชนิด บางรายอาจมีอาการแสดงที่อวัยวะอื่น เช่น แน่นหน้าอก, แน่นจมูก, ปวดท้อง, ความดันต่ำ, ปากและตาบวม ผื่นอาจขึ้นต่อเนื่องไปจนเป็นลมพิษเรื้อรัง
2. ผื่นลมพิษชนิดเรื้อรัง มักจะแสดงอาการแบบเป็นๆ หายๆ อย่างน้อย 2 วัน/ สัปดาห์ ต่อเนื่องกันนานเกิน 6 สัปดาห์ ซึ่งสาเหตุจะแตกต่างจากลมพิษเฉียบพลัน โดยคนกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งไม่สามารถหาสาเหตุได้ เพราะอาจเกิดจากความแปรปรวนภายในร่างกาย แต่สิ่งที่สามารถกระตุ้นให้ลมพิษเรื้อรังเป็นมากขึ้น ได้แก่ ยาแอสไพริน, ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์, ยาปฏิชีวนะ, ประจำเดือน, พักผ่อนไม่เต็มที่ เป็นต้น
สาเหตุของการเกิดลมพิษ
สาเหตุของการเกิดผื่นลมพิษนั้นมีหลายปัจจัย โดยสาเหตุที่เราสามารถพบได้บ่อยๆ มีดังนี้
แพ้อาหาร
แพ้ยา
การติดเชื้อ เช่น เชื้อไวรัส, เชื้อแบคทีเรีย, เชื้อรา, ท้องเสีย, ทอนซิลอักเสบ, ฟันผุ, หูอักเสบ, เป็นหวัด ฯลฯ
การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
แพ้ฝุ่น ละอองเกสร พืชบางชนิด และขนสัตว์
แพ้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย
การสัมผัสสารเคมีหรือสารบางอย่าง เช่น เครื่องสำอาง สเปรย์ ยาฆ่าแมลง เป็นต้น
ลมพิษเรื้อรัง ยังอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่นๆ อีก เช่น การแพ้แสงแดด แพ้ความร้อน ความเย็น เหงื่อ (เช่น เหงื่อหลังจากการออกกำลังกาย) การสัมผัสน้ำ อุณหภูมิในร่างกายสูง หรือการขีดข่วนที่เกิดขึ้นกับผิวหนัง เป็นต้น
พักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายอ่อนแอ
ภาวะความเครียด วิตกกังวล เป็นสาเหตุหนึ่งของลมพิษเรื้อรัง
โรคลมพิษอาจเป็นสัญญาณของปัญหาทางสุขภาพ เช่น โรคไทรอยด์ หรือลูปัส (Lupus) หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง ที่เรียกกันติดปากว่า “โรคพุ่มพวง”
ทำอย่างไรเมื่อเป็นผื่นลมพิษ
หลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดผื่นลมพิษ
หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ และเลี่ยงไม่รับประทานหรือสัมผัสสารก่อภูมิแพ้นั้นๆ
ใช้ยาต้านฮีสตามีนหรือยาแก้แพ้ชนิดที่ไม่ง่วง เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น
ดูแลผิวไม่ให้ผิวแห้งตึงจนเกินไป หมั่นทาครีมหรือโลชั่นที่ปราศจากน้ำหอม เพื่อลดความไวของผิวหนัง
อาจใช้ คาลาไมน์โลชั่น ทาบริเวณผื่นลมพิษเพื่อช่วยลดอาการคัน
ไม่แกะเกาผิวหนัง, ขีดข่วน เพราะอาจทำให้เกิดผิวหนังอักเสบได้
ผู้ที่เสี่ยงมีอาการแพ้หรือต้องการทราบความเสี่ยงในการแพ้สารใดๆ อาจป้องกันได้โดยเข้ารับการตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้
ควรไปพบแพทย์เมื่อไร?
ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีที่อาการโรคลมพิษไม่หายไปภายใน 24 ชั่วโมง
ติดต่อแพทย์ทันทีที่อาการเริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น
มีอาการปวดตามข้อ อ่อนเพลีย มีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ และมีอาการเจ็บบริเวณผื่นร่วมด้วย
ลมพิษเฉียบพลันหากมีอาการรุนแรง เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ปวดท้อง มีอาการหน้าบวม ตาบวม ปากบวม ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว เนื่องจากอาการเหล่านี้อาจส่งผลให้เกิดอาการหอบหืด อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต
เมื่อรู้สึกวิตกกังวล ส่งผลต่อสุขภาพจิตและการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก
ยาฮีสตามีนหรือยาแก้แพ้
ยาแต่ละประเภทล้วนมีข้อบ่งชี้ ข้อควรระวังในการใช้ยา เนื่องจากยาแก้แพ้แต่ละชนิดล้วนมีส่วนประกอบที่แตกต่างกันจึงอาจส่งผลให้มีอาการข้างเคียงจากการใช้ยาที่แตกต่างกันไปด้วย ควรศึกษาข้อมูลยาอย่างละเอียด ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรและใช้ยาอย่างถูกวิธี หากพบอาการผิดปกติเกิดขึ้นหลังการใช้ยา ควรรีบพบแพทย์ทันที
ผื่นขึ้นแบบไหนเข้าข่ายติด Covid-19 – สังเกตอาการใหม่ของผู้ป่วยโควิด-19
อาการเตือน ที่บอกว่า คุณกำลัง “แพ้ยา”
