การตากแดดจัดนานๆ จะทำให้ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป จนทำให้ความร้อนในร่างกายสูงมากกว่า 40 องศาเซลเซียส จะทำให้ร่างกายเกิดภาวะฮีทสโตรก หรือ โรคลมแดด อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต!!!

ฮีทสโตรค เกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไปทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส อาการเบื้องต้น ได้แก่ เมื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหารคลื่นไส้ อาเจียน สับสน ปวดศีรษะ ความดันต่ำ หน้ามืดและอาจมีผลต่อระบบไหลเวียน อาจมีอาการเพิ่มเติมได้แก่ ภาวะขาดเหงื่อ เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว ไตล้มเหลวมีการตายของเซลล์ตับ หายใจเร็ว มีการบวมบริเวณปอดจากการคั่งของของเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ การสลายกล้ามเนื้อลาย ช็อค และ เกิดการสะสมของ fibrin จนไปอุดตันหลอดเลือดขนาดเล็ก ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้
อาการผู้ป่วยฮีทสโตรก หรือโรคลมแดด เป็นอย่างไร?
- กระหายน้ำมาก หายใจถี่
- ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีเหงื่อออก
- ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
- ความดันโลหิตต่ำ
- เดินเซ เป็นลม หมดสติ
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
- นำผู้ป่วยเข้าในที่ร่ม ที่มีอากาศถ่ายเท ให้นอนราบโดยยกเท้าสูงทั้งสองข้าง
- คลายเสื้อผ้าให้หลวม และใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือน้ำแข็งประคบตามร่างกาย
- หากยังรู้สึกตัว ให้ดื่มน้ำเย็น
- รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
- ระวัง! หากผู้ป่วยไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกต้องอาจทำให้หัวใจหยุดเต้น และถึงแก่ชีวิตได้

ชัก ช็อก เสี่ยงเสียชีวิต! ใครบ้างเสี่ยงเป็นฮีทสโตรค?
- เด็ก ผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายสามารถระบายความร้อนได้น้อยกว่าวัยอื่นๆ
- คนอดนอน พักผ่อนไม่เพียงพอ
- คนดื่มจัด ร่างกายจะสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม
- คนไข้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง พาร์กินสัน
- ผู้ที่ต้องทำงาน ทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน
- ทำงานในอากาศร้อนชื้น
วิธีป้องกันฮีทสโตรค?
- ดื่มน้ำ จิบน้ำบ่อยๆ อย่างน้อยปริมาณ 6-8 แก้วต่อวัน แม้ไม่ได้รู้สึกกระหายน้ำ
- สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน โปร่ง ระบายความร้อนได้ดี
- หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดจัดเป็นเวลานาน
- หากจำเป็นต้องอยู่กลางแจ้ง หาเวลาเข้ามาพักในที่ร่มบ้าง เพื่อป้องกันฮีทสโตรค
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง สิ่งสำคัญคือ อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ!
- สวมแว่นกันแดด สวมหมวกปีกกว้าง กางร่ม
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว หากพบอาการผิดปกติ ให้รีบพบแพทย์ทันที