โรคเกาต์ – กรดยูริคในเลือดสูง

“โรคเกาต์พบได้บ่อยในคนไทย ส่วนใหญ่มักพบในเพศชายอายุ 35 ปีขึ้นไป โดยพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง 9-10 เท่า”

เกาต์ (Gout) เป็นโรคข้ออักเสบที่พบได้บ่อยที่สุดในบรรดาโรคข้ออักเสบทั้งหมด สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของการสันดาป (Metabolism) สาร Purines ซึ่งมีอยู่ในเนื้อเยื่อต่างๆ ทั่วร่างกาย ได้เป็นกรดยูริคที่มีระดับสูงกว่าปกติในเลือด

กรดยูริคในเลือดสูงและสะสมอยู่ในร่างกายเป็นเวลานานจนร่างกายขับออกทางไตไม่ทัน กรดยูริคจะตกผลึกเป็นเกลือยูเรตสะสมที่กระดูกอ่อนและเนื้อเยื่อรอบข้อ ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อในข้อ ส่งผลให้มีอาการปวด บวม แดงบริเวณข้ออย่างเฉียบพลันรุนแรงอย่างรวดเร็วในเวลา 12 – 24 ชั่วโมง

ปัจจัยเสี่ยงโรคเกาต์ จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นเกาต์

อาการข้ออักเสบมักกำเริดด้วยระดับกรดยูริคในเลือดที่เปลี่ยนแปลงทันทีทันใด คือ ระดับสูงขึ้นหรือลดลงฉับพลันซึ่งอาจเกิดจาก

  • หลังจากการดื่มไวน์ โดยเฉพาะไวน์แดง
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลังออกกำลังกาย
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขนาดหนัก
  • รับประทานยาต้านมะเร็ง

ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ล้วนเป็นตัวกระตุ้นให้ระดับกรดยูริคในเลือดสูงจนโรคเกาต์กำเริบได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีข้ออักเสบกำเริบหลังจากที่รับประทานอาหารที่ประกอบด้วย Purines ในปริมาณมาก การมีกรดยูริคในเลือดสูงโดยไม่มีข้ออักเสบไม่ถือว่าเป็นโรคเกาต์

  • มีเพียง 70% ของผู้ที่มีกรดยูริคในเลือดสูงที่ไม่มีอาการแต่อย่างใด
  • มีเพียง 30% ของผู้ที่มีกรดยูริคในเลือดสูงเท่านั้น ที่มีอาการข้ออักเสบ หรือ เป็นโรคเกาต์
  • ผู้ที่มีกรดยูริคสูงมากมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเกาต์สูงกว่าผู้ที่มีระดับกรดยูริคในเลือดสูงเพียงเล็กน้อย
  • มีผู้ป่วยประมาณ 20% ที่มีระดับของกรดยูริคในเลือดปกติ (ค่าปกติผู้ชาย 3.5-7.2 mg/dl , ค่าปกติผู้หญิง 2.6-6.0 mg/dl) ขณะที่มีข้ออักเสบเฉียบพลันจากโรคเกาต์

ปวดตามข้อ ปวดข้อเรื้อรัง อาการเตือนโรคเกาต์

ผู้ป่วยโรคเกาต์ไม่จำเป็นต้องมีระดับกรดยูริคในเลือดสูง และการมีระดับกรดยูริคในเลือดสูง ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นโรคเกาต์เสมอไป

ในการตรวจวินิจฉัยโรคเกาต์ ไม่ได้ใช้ระดับกรดยูริคเป็นหลัก แต่แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยจากอาการปวดข้อรุนแรงฉับพลัน และการตรวจพบผลึกยูริคจากของเหลวที่เจาะจากข้อ

การอักเสบแต่ละครั้ง มักเกิดเพียงข้อเดียวเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นที่ข้อหัวแม่เท้าและอาจเกิดอาการที่ข้ออื่นๆ เช่น ข้อเท้า ข้อเข่า และที่พบไม่บ่อย ได้แก่ ข้อมือ ข้อศอก และข้อนิ้วมือ

ข้อที่อักเสบมักเกิดการบวม แดง กดเจ็บ และปวดมากขึ้นเมื่อขยับข้อหรือลูบสัมผัสเพียงเบาๆ อาการปวดรุนแรงฉับพลันอาจทำให้เดินลำบาก และอาจมีไข้ต่ำๆ ในผู้ป่วยบางราย

โรคเกาต์รักษาให้หายได้ไหม? รักษาอย่างไร?

ผู้ป่วยโรคเกาต์หากได้รับการรักษาจะหายสนิทภายในเวลา 1-3 วัน แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษา มักหายเป็นปกติได้เองในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ และเว้นระยะเวลาอีกหลายเดือนหรือนานเป็นปี จึงมีอาการข้ออักเสบกำเริบขึ้นมาใหม่

อาการกำเริบของข้ออักเสบจะถี่ขึ้น นานขึ้น และเป็นหลายข้อขึ้นตามระยะเวลาที่ป่วย ดังนั้น จึงมีเพียงนานๆ ครั้งเท่านั้น ที่เราจะพบข้ออักเสบมากกว่า 1 ข้อในเวลาเดียวกัน ซึ่งอาการนี้มักพบในผู้ป่วยโรคเกาต์เรื้อรัง

โรคเกาต์เรื้อรัง หากไม่ได้รับการรักษา ผลึกเกลือยูเรตปริมาณมากที่สะสมในข้อ เนื้อเยื่อรอบข้อ กระดูกอ่อน จะรวมกันเป็นของเหลวลักษณะคล้ายชอล์กหรือยาสีฟันเกิดเป็นก้อนใต้ผิวหนัง ซึ่งจะค่อยๆ มีขนาดใหญ่ขึ้น เรียกว่า Tophus ซึ่งก้อน Tophus นี้จะทำลายเนื้อเยื่อโดยรอบ ทำให้ข้อผิดรูป พิการ เส้นเอ็นขาดได้

ผู้ป่วยที่เป็นเกาต์เรื้อรังนานวันเข้า ก้อน Tophus มีขนาดใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ เกิดก้อนตะปุ่มตะป่ำที่เนื้อเยื่อรอบข้อ อาจแตกออกเป็นแผล และมีของเหลวสีขาวคล้ายยาสีฟันไหลออกมาจากก้อน

นอกจากนี้ กรดยูริคในเลือดที่สูงถูกขับออกทางไตในปริมาณมากทำให้ความเข้มข้นของเกลือยูเรตในปัสสาวะสูงตามไปด้วย หากไม่ได้รับการรักษา เกลือยูเรตที่มีปริมาณสูงสะสมมาเป็นระยะเวลานานจะตกผลึกในไต ก่อให้เกิดภาวะไตวาย หรือ นิ่วในทางเดินปัสสาวะ

ใครบ้างเสี่ยงเป็นโรคเกาต์

มีแนวโน้มที่จะพบโรคเกาต์ในเครือฐาติ นั่นคือ ผู้มีที่กรดยูริคในเลือดสูง และมีญาติสายตรงเป็นโรคเกาต์ มีความเสี่ยงในการเกิดโรคสูงกว่าผู้ที่มีกรดยูริคในเลือดสูงเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีญาติสายตรงเป็นโรคเกาต์

โรคเกาต์สามารถพบได้บ่อยในเพศชาย ซึ่งมากกว่าเพศหญิง 9-10 เท่า พบผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศชายที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป และสำหรับเพศหญิงมักจะพบได้ในวัยหมดระดูเป็นส่วนใหญ่

นอกจากนี้แล้วยังพบโรคแทรกซ้อน หรือโรคที่มักพบได้ในผู้ป่วยโรคเกาต์ ได้แก่

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็น “เกาต์”

  • พบแพทย์ทันทีหากมีอาการข้ออักเสบเฉียบพลัน
  • ประคบเย็นขณะข้ออักเสบเฉียบพลัน
  • รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน หากน้ำหนักเกินมาตรฐานควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ ดัชนีมวลกาย (BMI) ไม่ควรเกิน 32 kg/m2 โดยคำนวณจากน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง หรือวัดรอบเอวแล้วไม่ควรเกิน 32 นิ้ว (80 เซนติเมตร) ในเพศหญิง และ 36 นิ้ว (90 เซนติเมตร) ในเพศชาย
  • รับประทานอาหารให้เหมาะสมและถูกสัดส่วน หลีกเลี่ยงอาหารที่มี Purines สูง โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีอาการข้ออักเสบกำเริบหลังรับประทานอาหารที่มี Purines มาก่อน เช่น เครื่องในสัตว์ ไก่ เป็ด ซุปจากการต้มเคี่ยวเนื้อสัตว์ น้ำต้มกระดูก น้ำเกรวี่ ปลาซาร์ดีน ไข่ปลา หอยบางชนิด ถั่ว ยอดผัก หน่อไม้ และแตงกว่า เป็นต้น (ทั้งนี้การควบคุมอาหาร สามารถลดระดับกรดยูริคในเลือดได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น)
  • จำกัดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเบียร์ ไวน์ ของหมักดองจากยีสต์
  • ดื่มน้ำในปริมาณมาก เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดนิ่วในไต
  • รับประทานยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง ห้ามหยุดยาเอง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน หากมีอาการแพ้ยา ควรหยุดยาแล้วรีบไปพบแพทยื
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

ข้อมูลสุขภาพ สูงอายุ
โทรหาเรา 1728 นัดหมายแพทย์ นัดหมายแพทย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า