สารอาหารสำคัญ เพิ่มพัฒนาการทางสมองให้ลูกรัก

แพทย์หญิงกรกมล โหรสกุล
กุมารแพทย์โรคระบบประสาท

การพัฒนาของระบบประสาทและสมองเกิดขึ้นช่วงไหนบ้าง?

ระบบประสาทเริ่มพัฒนาตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดาประมาณ 22 วัน หลังตั้งครรภ์ จนทารกเกิด สมองก็ยังไม่หยุดพัฒนาจนกระทั่งเป็นวัยรุ่น และยังมีการพัฒนาและซ่อมแซมในวัยผู้ใหญ่ พัฒนาการส่วนต่าง ๆ ในสมอง มีระยะเวลาที่ต่างกัน เช่น สมองส่วน Hippocampus ที่ทำหน้าที่หลักในการเก็บความจำระยะสั้น พัฒนามากในช่วงมารดาตั้งครรภ์ได้ 32 สัปดาห์ จนถึงทารกอายุ 18 เดือน ในขณะที่เนื้อสมองส่วนกลีบหน้าผากส่วนหน้า (Prefrontal Cortex) ซึ่งมีบทบาทในการคิดวิเคราะห์ขั้นสูง หรือ Executive Function จะเจริญมากสุดในช่วง 6 เดือนแรก และบางส่วนจะมีการพัฒนาไปจนถึงช่วงผู้ใหญ่ตอนต้น หรือสมองที่มีหน้าที่เกี่ยวกับระบบรางวัล (Reward System) และอารมณ์ จะพัฒนามากในช่วง 3 ปีแรก เป็นต้น ดังนั้นช่วงตั้งแต่มารดาตั้งครรภ์ถึง อายุ 3 ปีแรก จึงเป็นช่วงที่สำคัญมากที่จะทำให้เด็กมีพัฒนาการทางสมองที่ดี

ปัจจัยอะไรบ้างที่มีผลต่อการพัฒนาสมอง?

ปัจจัยหลักๆ ได้แก่ การได้สารอาหารและพลังงานที่เพียงพอ ร่วมกับได้รับความรักความอบอุ่น ความ เอาใจใส่ และประสบการณ์ที่ดี ส่งผลต่อความฉลาดหรือ IQ ความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ การเรียนรู้ และ พฤติกรรม

บทบาทของนมแม่ต่อการพัฒนาสมองของเด็ก?

นมแม่มีสารอาหารต่าง ๆ รวมทั้ง DHA และ โคลีน (Choline) ซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบ ประสาทและสมอง ร่วมทั้งเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีมารดาและทารก ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เกิดการพัฒนาของ การเรียนรู้ และพฤติกรรม อารมณ์ที่ดี นอกจากนี้ยังเป็นการลดภาวะซึมเศร้าในมารดาแรกคลอด หรือ Maternal blue ได้ดี

สารอาหารที่มีประโยชน์ต่อพัฒนาการทางสมองที่สำคัญ มีอะไรบ้าง?

มีการศึกษาว่าสารอาหารบางอย่างจำเป็นต่อการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง ถ้าขาดสาร อาหารเหล่านี้ จะมีผลต่อการเรียนรู้ และพฤติกรรมได้ ได้แก่ การได้รับโปรตีนและพลังงานที่เพียงพอ กรดไขมัน จำเป็น โดยเฉพาะ DHA ธาตุเหล็ก (Iron) ไอโอดีน สังกะสี (Zinc) โคลีน (Choline) วิตามินบี เป็นต้น

สารอาหารดังกล่าวมีผลต่อพัฒนาการทางสมองอย่างไร และพบได้ในอาหารประเภทใดบ้าง?

กรดไขมันจำเป็น (Essential fatty acid)
มีการศึกษาว่าการได้กรดไขมันจำเป็น omega-3 โดยเฉพาะ DHA เพียงพอ ส่งผลต่อพัฒนาการ และความฉลาดในการเรียนรู้ (IQ) ที่ดี การมองเห็น การได้ยิน รวมไปถึงสมาธิ และการยับยั้งชั่งใจ ตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์ มารดา โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการใช้กรดไขมัน ในการสร้างและพัฒนา สมองมาก DHA พบมากใน ปลาทะเล เช่น แซลมอน ทูน่า แมคเคอเรล ซาดีน และยังพบในสาหร่ายทะเล เมล็ดเซีย ถั่วแระ วอลนัท น้ำมันพืช โดยเฉพาะน้ำมันคาโนล่า เป็นต้น

เหล็ก (Iron)
ผู้ปกครองควรระวังการขาดธาตุเหล็กในทารกอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป เนื่องจากธาตุเหล็กในทารกที่มาจาก มารดาลดน้อยลง ร่วมกับนมแม่มีธาตุเหล็กไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทารกจึงควรได้อาหารที่มีธาตุเหล็ก ได้แก่ เนื้อแดง เครื่องในสัตว์ หอย พืชตระกูลถั่ว เมล็ดฟักทอง บล็อคโคลี เป็นต้น และควรตรวจเช็คภาวะโลหิต จางจากการขาดธาตุเหล็กในทารกที่อายุ 9-12 เดือน มีการศึกษาว่าเด็กอายุน้อยกว่า2 ปี ที่มีภาวะเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก ส่งผลให้ทั้งพัฒนาการกล้ามเนื้อ การเรียนรู้ IQ พฤติกรรมและสมาธิลดลง เมื่อติดตามไปในอนาคต

ไอโอดีน (Iodine)
ไอโอดีนมีบทบาทสำคัญในการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งจำเป็นต่อการพัฒนาของระบบประสาท โดยช่วงเวลาที่ สำคัญที่สุดคือช่วงที่ทารกอยู่ในครรภ์มารดา โดยมีการศึกษาว่า การที่มารดาได้รับไอโอดีนไม่เพียงพอในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ส่งผลให้การเรียนรู้ของเด็กลดลงใน 8 ปี ต่อมาได้ นอกจากเกลือไอโอดีน อาหารที่มี ไอโอดีนมาก ได้แก่ อาหารทะเล ผลิตภัณฑ์จากนม เป็นต้น

สังกะสี (Zinc)
สังกะสีพบมากในสมอง มีการศึกษาว่าการให้สังกะสีมีผลต่อการพัฒนาด้านกล้มเนื้อของทารก แต่ยังไม่มีการ ศึกษาในมนุษย์ชัดเจนว่าการให้สังกะสีเสริมในทารกมีผลต่อการเรียนรู้ แต่อย่างไรก็ตาม การขาดสังกะสีในสัตว์ ทดลองส่งผลให้การเรียนรู้ ความจำ และ สมาธิลดลง อาหารที่มีสังกะสีสูง ได้แก่ อาหารทะเล ธัญพืช ถั่ว เป็นต้น

นอกจากนี้การได้รับ Vitamin B1, B2, B3, B6, B12 และโฟลิคแอซิด ที่เพียงพอมีผลที่ดีต่อการพัฒนาระบบประสาทและสมองทั้งสิ้น

อาหารเป็นปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มสมาธิและความจำได้?

อาหารบางประเภทช่วยลดอาการสมาธิสั้น ในผู้ป่วยโรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder) ได้แก่ การรับประทานอาหารเช้าที่มีสารอาหารครบถ้วน อาหารที่มีสาร Polyphenol ซึ่งเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ ผลไม้ตระกูลเบอรี่ มะเขือ ผักเคล หัวหอมใหญ่ และอาหารที่มีสังกะสี เหล็ก แมกนีเซียม วิตามินซี และบี 1 เป็นต้น อาหารบางประเภทช่วยเกี่ยวกับความจำ เช่น สารไอโซฟลาโวน (Isoflavone) ในถั่ว เหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง นอกจากนี้ยังมีน้ำมันมะกอก ซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระ อย่างไรก็ตามที่กล่าว มาเป็นสิ่งที่มีการศึกษามาจากงานวิจัย สุดท้ายสิ่งที่ดีที่สุดคือการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เพียงพอ ไม่กินบางอย่างน้อยหรือมากเกินไปนั่นเองค่ะ

บทความทางการแพทย์ แม่และเด็ก
โทรหาเรา 1728 นัดหมายแพทย์ นัดหมายแพทย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า