นายแพทย์ธนกร กาญจนประดับ
กุมารแพทย์โรคระบบการหายใจ
การหายใจและปอดของเด็กแตกต่างจากผู้ใหญ่หรือไม่?
เด็กมีขนาดอวัยวะเล็กกว่าผู้ใหญ่ รวมถึงสรีรวิทยาการทำงานบางอย่างเเตกต่างจากผู้ใหญ่ เช่น อัตราการหายใจจังหวะการหายใจรวมถึงเซลล์เยื่อบุผิวในทางเดินหายใจที่ยังเจริญไม่เต็มที่เท่าผู้ใหญ่
ปอดจะเจริญเติบโตเต็มที่เมื่อเด็กอายุ 8 ปีขึ้นไป เพราะฉะนั้นหากเกิดความเจ็บป่วยบางอย่างในวัยเด็กอาจส่งผลต่อการเจริญของปอดและทางเดินหายใจได้
เด็กในวัยเล็กยังไม่สามารถดูแลตัวเองได้ เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองจึงมีส่วนสำคัญในการเป็นผู้ปกป้องดูแลสุขภาพของเด็ก
ทำไมต้องดูแลปอด ปอดมีหน้าที่สำคัญอย่างไร?
ปอดเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่สำคัญในระบบการหายใจ คือเป็นส่วนที่มีการแลกเปลี่ยนก๊าซรับเอาก๊าซออกซิเจนจากลมหายใจเข้าร่างกายเพื่อไปสู่อวัยวะต่างๆใช้ผลิตพลังงาน เเละกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากกระบวนการต่างๆของเซลล์ ทำให้ร่างกายมีชีวิตอยู่เเละสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
แม้ร่างกายจะมีโครงสร้างและระบบภูมิคุ้มกันคอยทำหน้าที่ทำลายเชื้อโรค กำจัดของเสียหรือสิ่งสกปรกตกค้าง อย่างไรก็ตามกระบวนการเหล่านี้มีข้อจำกัด เพราะในเด็กเล็กระบบเหล่านี้ยังไม่สมบูรณ์เท่าผู้ใหญ่ หากร่างกายได้รับเข้าไปมากเช่น รับมลพิษเข้าไปมากหรือเกิดการติดเชื้อบ่อยๆ อาจส่งผลต่อการทำงานของปอดในระยะยาว รวมถึงอาจก่อให้เกิดการเกิดโรคร้ายแรงในอนาคต
5 วิธีหลักที่ช่วยปกป้อง “ปอดของเด็ก”
1. หลีกเลี่ยงมลพิษในบ้านและนอกบ้าน

มลพิษส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพเด็ก?
ปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหาเรื่องมลพิษในอากาศ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผม ทำให้ระบบกรองปกติในทางเดินหายใจไม่สามารถดักจับไว้ได้ ฝุ่นเหล่านี้ประกอบด้วยสารที่เป็นพิษหลายชนิด เมื่อเข้าไปในทางเดินหายใจส่วนลึกของเนื้อเยื่อปอดจะทำให้เกิดการอักเสบคล้ายเกิดการติดเชื้อในปอด ส่งผลต่อการแลกเปลี่ยนก๊าซซึ่งเป็นหน้าที่หลัก ในระยะยาวเมื่อเกิดการอักเสบซ้ำๆจะทำให้โครงสร้างของปอดและหลอดลมเปลี่ยนแปลง ก่อให้เกิดโรคปอดเเละหัวใจตามมาได้ เพิ่มโอกาสการเกิดหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคหืด โรคติดเชื้อในทางเดินหายใจ และโรคมะเร็ง นอกจากนี้ฝุ่นจิ๋วเหล่านี้ยังสามารถถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดเข้า ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อหัวใจ และสมองได้
2. ออกกำลังกายเป็นประจำ
การออกกำลังเป็นการเพิ่มความสามารถการทำงานของปอดและหัวใจ อีกทั้งเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางอ้อมให้แก่ร่างกาย ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกลางแจ้งในสภาวะที่อากาศมีมลพิษ โดยให้ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมในบ้านแทน เพราะขณะที่ออกกำลังกาย เด็กจะหายใจเร็วกว่าและลึกกว่าปกติทำให้ได้รับอากาศที่มีมลพิษเข้าไปมากยิ่งขึ้น ส่งผลเสียต่อสุขภาพระยะยาว
3. หากเด็กมีโรคประจำตัว ควรรักษาและติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง
ควรใช้ยาที่แพทย์สั่งอย่างเป็นประจำอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคหืด โรคภูมิแพ้และโรคปอดเรื้อรัง เด็กไม่ควรลดยาหรือหยุดยาที่ใช้ประจำเอง และควรปรึกษาแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ
4. รับประทานผักผลไม้สม่ำเสมอ
ผลไม้บางชนิด เช่น กล้วย แอปเปิ้ล หรือมะเขือเทศ มีสารต้านอนุมูลอิสระ และสารฟลาโวนอยด์ ช่วยต่อต้านการอักเสบที่เกิดขึ้นในร่างกายได้
5. หลีกเลี่ยงการติดเชื้อในทางเดินหายใจ
การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะปอดอักเสบหรือปอดบวมเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในเด็กเล็ก ทั้งในเด็กไทยเเละทั่วโลก
ปอดอักเสบมักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจมาก่อนเเล้วจึงมีแบคทีเรียซึ่งเป็นเชื้อประจำถิ่นเข้าติดเชื้อซ้ำเติม
ผู้ปกครองสามารถป้องกันการติดเชื้อโดย
• การดูแลสุขอนามัย เช่น การล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ หลีกเลี่ยงอยู่ในที่แออัดหรือแหล่งโรคระบาด เเละเมื่อมีคนในบ้านป่วยหรือไม่สบายควรเว้นระยะห่าง ลดการสัมผัส แยกของใช้จนกว่าจะหายจากการป่วย
• การกินนมแม่อย่างเดียว ในทารกจนถึงอายุ 6 เดือน
• การฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบในเด็ก
ปัจจุบันเทคโนโลยีการแพทย์มีความก้าวหน้าสามารถคิดค้นผลิตวัคซีนได้หลายชนิดและโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจหลายโรคสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน
วัคซีนที่สามารถป้องกันการเกิดโรคปอดอักเสบในเด็ก ได้แก่ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีน IPD และวัคซีนพื้นฐานตามวัยที่ประกอบด้วย วัคซีนป้องกันโรคไอกรน โรคฮิบและโรคหัด
วัคซีนไอกรน (ผสมอยู่ในวัคซีนคอตีบ บาดทะยัก)2, 4, 6, 18 เดือน, 4-6 ปี และ เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น อายุ10-12ปี เพราะภูมิคุ้มกันจะลดลงควรได้รับการกระตุ้นอีกครั้ง จากนั้นให้ทุก 10 ปี
วัคซีนฮิบ แนะนำให้เมื่ออายุ2, 4, 6 เดือนและอาจฉีดกระตุ้นที่อายุ 12 ถึง 18 เดือน
วัคซีนโรคหัด ให้ฉีดสองครั้งเมื่ออายุ 9-12 เดือนและกระตุ้นเมื่ออายุ 18 เดือนขึ้นไป การฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดสามารถป้องกันโรคแทรกซ้อนอื่นๆนอกเหนือจากปอดอักเสบได้ไม่ว่าจะเป็นหูอักเสบ อุจจาระร่วงหรือสมองอักเสบและป้องกันการเสียชีวิต
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ควรให้ในเด็กตั้งเเต่อายุ 6 เดือนขึ้นไปจนถึงอายุ 18 ปี ซึ่งกลุ่มที่เสี่ยงที่สุดได้แก่เด็กที่มีอายุน้อยกว่าสองปี การฉีดวัคซีนในปีแรกของชีวิต ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 9 ปีควรจะฉีดสองครั้งห่างกันประมาณหนึ่งเดือน ในกรณีที่ปีแรกฉีดไปเพียงครั้งเดียวในปีถัดมาให้ฉีดสองครั้ง เด็กควรได้รับวัคซีนทุกปีเพราะไข้หวัดใหญ่เป็นไวรัสที่มีการกลายพันธุ์บ่อยๆ
วัคซีน IPD (Invasive Pneumococcal Disease) หรือ PCV (Pneumococcal Conjugate Vaccine)เป็นวัคซีนป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย Pneumococcus ซึ่งมีความรุนแรง ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบปอดอักเสบและหูอักเสบ
ปัจจุบันในประเทศไทยวัคซีน IPD ถูกจัดเป็นวัคซีนเสริม เริ่มให้ตั้งเเต่เด็กอายุ 2, 4, 6 และ 12-15 เดือน โดยสามารถให้ร่วมกับวัคซีนพื้นฐานอื่นๆตามกำหนด เด็กที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดติดเชื้อที่รุนแรงเช่น โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง ภาวะไม่มีม้าม หรือเป็นโรคที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องควรได้รับวัคซีน PPV23 โดยรับได้ตั้งเเต่อายุ 2 ปีขึ้นไป

