โรคหืดในเด็ก

นายแพทย์ธนกร กาญจนประดับ
กุมารแแพทย์โรคระบบหายใจ

โรคหืด คืออะไร?

โรคหืด คือ โรคที่หลอดลมมีการตีบแคบฉับพลัน เนื่องจากหลอดลมมีการอักเสบเรื้อรัง จึงทำให้หลอดลมมีความไวต่อสารกระตุ้นต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ทำให้เวลาคนไข้มีอาการ จะมีอาการ ไอ แน่นหน้าอก หอบเหนื่อย ออกซิเจนในเลือดต่ำ

โรคหืดในเด็กเกิดจากสาเหตุใด

ยังไม่มีสาเหตุที่เเน่ชัด แต่พบว่ามีความสัมพันธ์กับปัจจัยบางอย่าง ได้แก่

1. กรรมพันธุ์ พ่อแม่ พี่น้อง มีประวัติโรคประจำตัวภูมิแพ้ หรือ หืด
2. สารก่อภูมิแพ้ อาจสัมพันธ์กับสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ ขนแมว ขนสุนัข และเกสรดอกหญ้า
3. ปัจจัยอื่นๆ
• การติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น การติดเชื้อไวรัสบางชนิด
• การเปลี่ยนแปลงของอากาศ
• สิ่งระคายเคืองและมลภาวะ (Air pollution)
• การออกกำลังกาย
• ความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์และจิตใจ

จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเป็นหอบหืด? อาการที่คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกต

ในเด็กอาจต้องอาศัยการสังเกตอาการ เพราะเด็กไม่สามารถบอกอาการเองได้ ทำให้ได้รับการวินิจฉัยเป็นหลอดลมอักเสบหรือปอดบวมบ่อยๆ โดยลักษณะหรืออาการที่อาจเป็นโรคหืด มีดังนี้

▪ ในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี  เด็กที่มีอาการ ไอ หายใจลำบากหรือหอบเหนื่อยบ่อยๆ  เกิน 3 ครั้งขึ้นไป
▪ ได้ยินเสียงหายใจวี๊ด
▪ ไอนานๆ หายใจเสียงวี๊ดนานๆ หลังจากติดเชื้อ
▪ อาการไอ หรือหายใจวี๊ด มักเป็นตอนกลางคืน หรือหลังได้รับสิ่งกระตุ้น เช่น สารก่อภูมิแพ้ ออกกำลังกาย หัวเราะ ร้องไห้
▪ อาการไอ หรือหายใจวี๊ด เกิดขึ้นเองโดยที่ไม่มีไข้หรือการติดเชื้อในทางเดินหายใจ
▪ มีประวัติปอดติดเชื้อ หรือหลอดลมอักเสบบ่อยๆ
▪ ภายหลังจากที่ได้รับการพ่นยาขยายหลอดลมเเล้วไอลดลง
▪ มีประวัติ คุณพ่อคุณแม่หรือพี่น้องเป็นโรคหืด
▪ เด็กมีอาการของภูมิแพ้ เช่น ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้หรือเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือเคยทดสอบภูมิแพ้แล้วผลเป็นบวกต่อสารก่อภูมิแพ้ในอาการหรืออาหารบางชนิด
▪ ในเด็กที่อายุมากกว่า 6 ปี สามารถตรวจสมรรถภาพปอด (Spirometry) แล้วพบผลผิดปกติ

การตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ

▪ ตรวจสมรรถภาพปอด (Spirometry) เพื่อดูว่ามีภาวะทางเดินหายใจมีการอุดกั้นจากการตีบแคบชั่วคราวของหลอดลมในปอด และตอบสนองต่อยาขยายหลอดลมหรือไม่
▪ ในรายที่มีอาการหอบเหนื่อย อาจจะตรวจ peak flow meter ก่อนเเละหลังพ่นยาขยายหลอดลม เพื่อดูการเปลี่ยนเเปลงของค่าแรงดันอากาศที่หายใจ
▪ เด็กมีอาการของภูมิแพ้ แนะนำให้ตรวจการทดสอบภูมิแพ้ ได้แก่ Skin prick test for aero-allergen หรือ Serum for specific IgE
▪ Film Chest X-ray ตามดุลยพินิจของแพทย์

อาการแสดงเมื่อมีอาการหอบ

▪ หายใจเร็ว พูดแล้วเหนื่อย หรือพูดไม่เป็นประโยค
▪ อาการไอถี่ หรือหายใจแล้วได้ยินเสียงวี๊ด
▪ มีอาการแน่นหน้าอก
▪ ริมฝีปากเขียวคล้ำ

ในเด็กที่เป็นโรคหืด หากลูกมีอาการหอบ หรือหืดจับต้องทำอย่างไร?

1. ให้หยุดทำกิจกรรมนั้นๆ
2. ใช้ยาขยายหลอดลมตามเทคนิคที่แพทย์ได้สอนไว้
3. หากอาการหอบไม่ดีขึ้นภายใน 15-20 นาที ให้ใช้ยาซ้ำได้อีกครั้งหนึ่ง
4. ถ้าอาการดีขึ้นพ่นห่าง 6 – 8 ชั่วโมงจนดีขึ้นไป 2-3 วัน
5. หากยังมีอาการหายใจลำบากหรือไม่ดีขึ้น หลังจากพ่นยาขยายหลอดลมไปแล้ว 3 ครั้ง ให้รีบไปพบแพทย์

สามารถรักษาได้อย่างไร?

1. การใช้ยา แบ่งยารักษาออกเป็นสองกลุ่ม ได้แก่
▪ การบรรเทาอาการ (Quick reliever) เช่น ยาขยายหลอดลม ซึ่งเป็นยาบรรเทาอาการเวลาเด็กมีอาการ ไอหรือหอบหืดกำเริบ สามารถออกฤทธิ์บรรเทาอาการหลอดลมตีบได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยจะต้องใช้ยาขยายหลอดลมบ่อยมากขึ้นหรือใช้ในปริมาณที่สูง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ
▪ ยาควบคุมอาการ (controller) ต้องใช้เป็นประจำทุกวัน โดยแพทย์จะพิจารณาเลือกใช้ยาตามความรุนแรงของโรค และแนะนำให้ใช้ยาอย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมอาการไม่ให้เกิดโรคกำเริบ
– สเตียรอยด์แบบพ่น เป็นยาหลักในการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ผู้ป่วยควรได้รับการพ่นยาอย่างอย่างถูกวิธีและสม่ำเสมอ
– ยาต้านฤทธิ์ Leukotriene
2. การเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และสารอื่นๆ ที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการ
3. การรักษาโรคร่วมที่สามารถพบได้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ เช่นโรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ เป็นต้น
4. การดูแลสุขภาพทั่วไป เช่น การออกกำลังกายที่เหมาะสม การนอนหลับให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
5. รับวัคซีนป้องกันโรค โดยเฉพาะกลุ่มโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ วัคซีนไอกรน วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนนิวโมคอคคัส (IPD) วัคซีนหัด

การป้องกันการเกิดโรคหืด  

▪ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ สารก่อภูมิแพ้และสารอื่นๆ ที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการ
▪ การคลอดปกติ
▪ การให้นมแม่อย่างน้อยจนถึงอายุ 4-6 เดือน
▪ หลีกเลี่ยงใกล้ชิดกับป่วยเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อในช่วงอายุ 1 ปีแรก
▪ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ สารระคายเคือง โดยเฉพาะควันบุหรี่

พ่นยาสเตียรอยด์นานๆ มีผลเสียหรือไม่?

▪ การพ่นยาสเตียรอยด์ในปริมาณที่แพทย์ควบคุมแลพติดตามอาการ ยาจะออกฤทธิ์ในระบบทางเดินหายใจ ดูดซึมเช้ากระแสเลือดในระดับน้อยมาก
▪ อย่างไรก็ตามหากพ่นยาสเตียรอยด์ปริมาณสูงเป็นเวลานาน หรือมีอาการหอบกำเริบบ่อยๆทำให้ต้องได้รับยาสเตียรอยด์ในรูปแบบกินหรือฉีดเข้าร่างกาย อาจส่งผลต่อร่างกายได้แก่ ภาวะเตี้ยลง น้ำหนักขึ้น ภูมิคุ้มกันร่างกายลดลง
▪ ผลข้างเคียงอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการพ่นยาสเตียรอยด์แล้วไม่ได้ทำความสะอาดช่องปากและใบหน้าหลังจากใช้ยา ได้แก่ ช่องปากอักเสบจากการติดเชื้อรา เสียงแหบ

ถ้าเป็นโรคหืดแล้วไม่ได้รับการรักษาทำให้หอบหืดกำเริบบ่อยๆ จะส่งผลอย่างไรต่อเด็ก?

ผลเสียโดยตรง
▪ หลอดลมเกิดการอักเสบบ่อยๆ ทำให้หลอดลมไวต่อการกระตุ้นจากสารก่อภูมิแพ้ การติดเชื้อ หากเกิดบ่อยๆซ้ำอาจเกิดพังผืดขึ้นภายในโครงสร้างผนังหลอดลม ทำให้หลอดลมตีบแคบถาวร
▪ สมรรถภาพการทำงานของปอดลดลง ทำให้ออกกำลังกายแล้วเหนื่อยง่าย

ผลเสียทางอ้อม
▪ ต้องไปโรงพยาบาล เพื่อรับยาขยายหลอด เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
▪ กรณีอาการรุนแรงต้องนอนโรงพยาบาล เด็กต้องหยุดไปโรงเรียนขาดเรียน ทำให้เรียนหนังสือไม่ทัน
▪ ผู้ปกครองต้องหยุดทำงานเพื่อเฝ้าที่โรงพยาบาล

บทความทางการแพทย์ แม่และเด็ก
โทรหาเรา 1728 นัดหมายแพทย์ นัดหมายแพทย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า