
ประจำเดือนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงเราทุกคนเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป โดยประจำเดือนในช่วง 2 ปีแรกนั้นมักจะมาไม่สม่ำเสมอเพราะการผลิตฮอร์โมนยังไม่สมดุล ปกติแล้วผู้หญิงจะมีรอบเดือนห่างกันทุก ๆ 28 – 33วัน (ขึ้นอยู่กับแต่ละคน) และมีประจำเดือนเฉลี่ยคือ 6 วัน ซึ่งก่อนช่วงที่ผู้หญิงเป็นประจำเดือน บางรายอาจมีอาการปวดท้องน้อย หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน เราเรียกอาการพวกนี้ว่า PMS หรือ Premenstrual Syndrome ซึ่งอาการพวกนี้จะหายไปเองหลังประจำเดือนมา 2-3 วัน แต่ในบางรายอาจจะมีอาการรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้
PMS คืออะไร
PMS (Premenstrual Syndrome) คือ อาการผิดปกติที่จะเกิดขึ้นก่อนมีประจำเดือนราว 1 – 2 สัปดาห์ โดยสาเหตุของอาการนั้นมีปัจจัยสำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศหญิงในช่วงก่อนมีประจำเดือน ซึ่งอาการ PMS นี้ เป็นตัวการที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้หญิงหลายคนเป็นอย่างมาก เพราะส่งผลทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจ

PMS มีอาการอย่างไร? อาการก่อนเป็นประจำเดือน
ก่อนวันนั้นของการมีประจำเดือนมักมีอาการแสดงให้รู้ตัว โดยสามารถแบ่งได้เป็นอาการทางด้านอารมณ์และพฤติกรรม และอาการทางด้านร่างกาย ดังนี้
อาการทางด้านอารมณ์และพฤติกรรม ได้แก่
- มีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดหรือโกรธง่าย
- มีความตึงเครียดและไม่มีสมาธิ
- มีอารมณ์เศร้า ร้องไห้กับเรื่องเล็ก ๆ วิตกกังวล
- มีความต้องการหรืออยากอาหารมากกว่าปกติ
- มีพฤติกรรมแยกตัวออกจากสังคม (Social Withdrawal)
- มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับ (Insomnia)
อาการทางด้านร่างกาย ได้แก่
- เจ็บเต้านม
- ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ
- ปวดศีรษะ
- ปวดท้อง ท้องอืด
- ท้องผูกหรือท้องเสีย
- น้ำหนักตัวเพิ่ม
- เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
- มีสิวขึ้น
PMS รับมือหรือบรรเทาได้อย่างไร?
ในช่วงก่อนมีประจำเดือนเราสามารถปฏิบัติตัวเพื่อลดอาการปวดท้องประจำเดือนได้ง่ายๆ ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งยาใดๆ เช่น ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารเค็มจัดหรือหวานจัด พยายามอย่าเครียด นอนหลับให้เพียงพอ งดการดื่มเหล้า กาแฟ และชา เป็นต้น
ถ้าปวดท้องประจำเดือนมาก ควรทำอย่างไร ?
หากปวดท้องประจำเดือนมาก แนะนำให้ปฏิบัติดังนี้
- ประคบด้วยกระเป๋าน้ำร้อน ไออุ่นจากกระเป๋าน้ำร้อนมีส่วนช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวและลดอาการปวดได้
- ดื่มน้ำเปล่าเยอะ ๆ ควรเป็นน้ำอุ่น เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนดียิ่งขึ้น
- นอนขดตัว การนอนพักถือเป็นอีกหนึ่งการบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือนได้ เพราะการนอนขดตัวจะช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณท้องคลายตัว
- รับประทานอาหารไขมันต่ำ (Low Fat) เช่น บลูเบอรี่ มะเขือเทศ พริกหยวก เป็นต้น ซึ่งอาหารดังกล่าวสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้
- ไม่ควรใส่เสื้อผ้ารัดตัว เพราะจะยิ่งทำให้รู้สึกอึดอัดไม่สบายตัว
- รับประทานยาแก้ปวดประจำเดือน หากมีอาการปวดมาก เช่น ปวดจนเดินไม่ไหว เป็นต้น
PMS นอกจากจะสร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้หญิงแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว คนรัก เพื่อนร่วมงาน หากพบว่าอาการ PMS มีผลจนเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่สามารถควบคุมอาการได้ และมีความผิดปกติทางสุขภาพและอารมณ์อย่างรุนแรง ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
ปรึกษาสูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ คลิก
สีของประจำเดือนบอกอะไรได้บ้าง ?
ปกติดี จะมีลักษณะ
- ประจำเดือนสีแดงสด > ปกติ สุขภาพแข็งแรง
- ประจำเดือนสีแดงเข้ม > ช่วงวันมามาก สาเหตุมาจากสภาพอากาศร้อน ส่งผลให้มดลูกทำงานหนัก และมีปริมาณเลือดออกมากกว่าปกติ
- ประจำเดือนสีดำหรือน้ำตาลเข้ม > เป็นการขับเอาเลือดเก่าออก
สีแบบนี้ อาจบ่งบอกถึงความผิดปกติบางอย่าง
- ประจำเดือนสีชมพูแดง > อาจจะมีบาดแผลภายในหรือมีฮอร์โมนต่ำ
- ประจำเดือนสีแดงส้ม > อาจมีการติดเชื้อภายในห้องคลอด มักมีกลิ่นเหม็นอับ ปวดท้อง
- ประจำเดือนสีเทาปนเขียว > หากมีอาการตกขาว ปวดท้องน้อยร่วม หรือมีไข้ อาจเป็นอาการบ่งชี้ว่ามีการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
อาการปวดท้องประจำเดือนขั้นรุนแรงหรือประจำเดือนมาไม่ปกติหรือขาดเป็นเวลานาน ๆ นั้น อาจเป็นสัญญาณของโรคบางอย่างก็เป็นได้ แต่ในอีกกรณีหากบางรายมีอาการเครียดมาก ๆ ก็ส่งผลทำให้ประจำเดือนขาด ไม่มาตามรอบได้เช่นกัน หากเรามีประจำเดือนมากกว่าปกติ เช่น ประจำเดือนมาเดือนละ 2 ครั้ง ควรรีบไปแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาความผิดปกติจะดีที่สุด