สาเหตุการเกิด PM 2.5 หลายสถาบันวิจัยทั้งไทยและต่างประเทศต่างวิเคราะห์ วิจัยสาเหตุของการเกิด PM2.5 ที่ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้ ทั้งจากเครื่องยนต์ของยานพาหนะต่างๆ และการเผาวัสดุต่างๆ ข้อมูลจากกรมมลพิษ และกระทรวงพลังงาน พบว่า สาเหตุของ PM2.5 ในประเทศไทยมาจาก ‘การเผาในที่โล่ง’ เป็นแหล่งกำเนิดของ PM2.5 มากที่สุด ตามด้วยอุตสาหกรรมการผลิต และการขนส่ง โดยภาคการผลิตไฟฟ้านั้นเป็นแหล่งกำเนิด PM2.5 ในอันดับที่ 4

ฝุ่นมีลักษณะที่ขรุขระคล้ายสำลี สามารถเข้าสู่ทางโพรงจมูก แล้วเข้าสู่กระแสเลือด นอกจากนี้แล้ว ฝุ่นยังเป็นพาหะนำสารอื่นเข้ามาด้วย เช่น แคดเมียม ปรอท โลหะหนัก ไฮโดรคาร์บอน และสารก่อมะเร็งจำนวนมาก
ด้วยขนาดที่เล็กของ PM 2.5 ทำให้ฝุ่นละอองชนิดนี้สามารถแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมสู่กระบวนการทำงานในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น มะเร็งปอด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หัวใจขาดเลือด หลอดเลือดในสมอง ติดเชื้อเฉียบพลันในระบบหายใจส่วนล่าง โรคผิวหนัง ภูมิแพ้ ไซนัส
ที่น่ากลัวกว่านั้น มีข้อมูลจากสมาคมโรคหัวใจของอเมริกาว่า หากคนที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น ความดัน ไขมัน เบาหวาน โรคหัวใจ เส้นเลือดในสมอง สัมผัสกับฝุ่นควัน PM2.5 เพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง จะกระตุ้นให้เกิดอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หัวใจวาย เส้นเลือดในสมองตีบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจถึงเสียชีวิต ได้เลย

อาการแบบนี้เกิดจากฝุ่น PM2.5
- แสบตา ตาแดง
- ผิวหนังอักเสบ ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
- สมองมีพัฒนาการช้า สมาธิสั้น
- ภูมิแพ้กำเริบ หอบหืด
- มีไข้ ตัวร้อน
- แสบจมูก มีน้ำมูก ไอจาม
- อาจเป็นโรคร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต เช่น มะเร็งปอด หัวใจขาดเลือด ปอดอักเสบ เป็นต้น
นอกจากกลุ่มเสี่ยงผู้ที่มีโรคประจำตัวที่กล่าวมาแล้วข้างต้น กลุ่มคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ ต้องระมัดระวังการเผชิญกับฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้เป็พิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ เพราะเพิ่มความเสี่ยงภาวะครรภ์เป็นพิษ ภาวะคลอดก่อนกำหนด PM2.5 อาจกระตุ้นให้คุณแม่อาจจะรู้สึกเหนื่อยมากขึ้น หรือกระตุ้นให้เกิดอาการภูมิแพ้ หอบหืด หรือโรคปอดที่มีอยู่เดิม นอกจากนี้ยังเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ ทารกเสี่ยงเป็นออทิสติกสูงขึ้น ทารกเสียชีวิตเฉียบพลัน (SIDs)
