คำถามยอดฮิตที่คุณแม่ผ่าคลอดอยากรู้

Q: การผ่าตัดแบบบล็อกหลัง จะทำให้เกิดอาการปวดหลัง?
A: การบล็อกหลังไม่มีผลทำให้คุณแม่เกิดอาการปวดหลัง แต่การปวดหลังของคุณแม่อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งการนั่งให้นมลูกนานในท่าที่ไม่สบาย ก้มตัว หลังงอ เก็บของหรือยกของหนักผิดท่า

ผ่าคลอด! ดมยาสลบหรือบล็อกหลังดี?

Q: ท้องแรกผ่าคลอดแล้ว ท้องสองต้องผ่าคลอดด้วยไหม?
A: ในบางกรณีอาจคลอดธรรมชาติได้ โดยแพทย์พิจารณาเป็นรายๆ ไปเพื่อความปลอดภัย แต่ส่วนใหญ่แล้วหากคุณแม่เคยผ่าคลอด การผ่าคลอดครั้งแรกจะทำให้มีแผลที่มดลูกจนอาจเสี่ยงต่ออันตรายจากภาวะมดลูกแตก เพราะการบีบตัวของมดลูกขณะปวดท้องคลอดในท้องหลังได้

Q: ควรอยู่ไฟหลังผ่าคลอดหรือไม่?
A: คุณแม่ที่ผ่าตัดคลอดสามารถอยู่ไฟได้เช่นเดียวกับคุณแม่ที่คลอดธรรมชาติ แต่ต้องรอให้แผลผ่าตัดแห้งสนิท หายดีก่อน และร่างกายฟื้นตัวดีแล้วหลังผ่าตัดประมาณ 30-45 วัน และควรตรวจ หลังคลอดตามแพทย์นัดก่อน ดังนั้นก่อนการอยู่ไฟ คุณแม่ควรขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อนเสมอ

Q: แผลผ่าตัดหลังคลอด ควรดูแลอย่างไร?
A: การดูแลแผลผ่าคลอดอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันไม่ให้แผลอักเสบติดเชื้อ และยังทำให้แผลผ่าตัดของคุณแม่ไม่เป็นแผลเป็นง่ายอีกด้วย โดยคุณแม่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

  • เวลาลุกนั่ง ยืน หรือเดิน ควรทำอย่างช้าๆ เพื่อไม่ให้แผลที่หน้าท้องตึงเกินไป ซึ่งอาการปวดแผลส่วนใหญ่จะค่อยๆ ทุเลาลงหลัง 48 ชั่วโมง
  • การใส่ผ้ารัดหน้าท้อง จะช่วยให้อาการเจ็บแผลผ่าตัดบรรเทาลง และไม่ให้แผลผ่าตัดถูกดึงรั้งจากผนังหน้าท้องที่ยังหย่อน
  • ห้ามแกะแผล และระวังไม่ให้แผลโดนน้ำ คุณแม่ไม่ควรแกะแผลโดยเด็ดขาด ไม่ควรให้แผลโดนน้ำ ก่อนแพทย์นัดตรวจแผลผ่าตัด หลังจากตัดไหม หรือแผลแห้งดีแล้ว หากโดนน้ำควรใช้ผ้าสะอาดซับน้ำ หรือเช็ดแผลเบาๆ เท่านั้น
  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอาหารรสจัด พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ไม่ยกของหนักหรือเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง งดเว้นการบริหารที่ต้องยืดกล้ามเนื้อจนกว่าแผลจะหาย เพราะจะทำให้แผลอักเสบ และมีอาการเจ็บแผลได้

หากมีอาการปวดแผล มีการอักเสบ บวมแดง แผลฉีกขาด หรือมีหนอง มีกลิ่นเหม็น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

Q: มดลูกจะเข้าอู่เมื่อไร?
A: มดลูกจะค่อย ๆ เล็กลงจนใกล้เคียงกับขนาดเดิมก่อนตั้งครรภ์ โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์หลังคลอด

Q: หลังคลอดแล้ว เริ่มมีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อไร?
A: มีเพศสัมพันธ์ได้หลังคลอด 4 – 6 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับว่าคลอดแบบไหน ถ้าคลอดเอง 4 สัปดาห์ ก็มีเพศสัมพันธ์ได้ แต่จะต้องดูแผลที่เย็บอีกครั้งว่าหายหรือยัง  และมีน้ำคาวปลาออกอยู่หรือไม่ เพราะถ้ายังมีอยู่ก็จะไม่แนะนำให้มีเพศสัมพันธ์เพราะอาจติดเชื้อได้ ถ้าคลอดโดยการผ่าตัดประมาณ 6 สัปดาห์ถึงจะมีเพศสัมพันธ์ได้  แต่ต้องให้แพทย์ตรวจแผลก่อนทั้งแผลด้านนอกและแผลด้านในว่าแห้งสนิทดีหรือไม่ เพราะถ้ายังไม่แห้งหากมีเพศสัมพันธ์จะเจ็บซึ่งอาจทำให้รู้สึกไม่ดีกับการมีเพศสัมพันธ์ได้ เพราะฉะนั้นจะ 4 หรือ 6 สัปดาห์ก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของมารดาด้วย และหลังคลอดแล้วร่างกายกำลังปรับฮอร์โมนอยู่อาจจะทำให้ประจำเดือนยังไม่มาบางครั้งก็หลายเดือน ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของมารดาแต่ละคน 

คุณแม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อน้ำคาวปลาหมด แผลหายดี และมดลูกกลับสู่ขนาดใกล้เคียงกับช่วงก่อนตั้งครรภ์ ซึ่งโดยทั่วไปจะอยู่ที่หลังจากคลอดแล้วประมาณ 6 สัปดาห์

Q: หลังคลอดหน้าท้องหย่อน เหี่ยวย่น ทำอย่างไร?
A: หลังคลอดหน้าท้องคุณแม่อาจจะยังดูใหญ่ เนื่องจากผิวหนัง และมดลูกมีการขยายตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา มดลูกจะหดตัวกลับไปเท่าเดิมได้ใช้เวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์ และการให้ลูกดูดนมจะทำให้มดลูกหดตัวเป็นปกติเร็วขึ้น นอกจากนี้การควบคุมอาหาร และการออกกำลังกายหลังคลอด จะช่วยให้ผิวหนังที่ยืดขยายของคุณแม่กลับมาหดตัวแข็งแรงเหมือนเดิม

Q: ฝ้า กระ สิว ผิวหมองคล้ำ ปัญหาผิวที่คุณแม่ต้องเจอ
A: ปัญหาผิวหนัง เป็นอีกหนึ่งในเรื่องกังวลใจที่คุณแม่ต้องเผชิญ โดยปัญหาเกี่ยวกับผิวหนังที่เกิดตอนตั้งครรภ์ เช่น ฝ้า กระ สิว ผิวหมองคล้ำ ซึ่งปัญหาผิวหนังอันน่ากังวลใจเหล่านี้จะค่อยๆ ดีขึ้นหลังคลอด เพราะฮอร์โมนจะกลับมาอยู่ในระดับปกติ คุณแม่จึงกลับมามีผิวที่ดีเหมือนก่อนตั้งครรภ์

Q: ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด คืออะไร
A: ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Maternity Blue) เกิดจากระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงหลังคลอด ทำให้คุณแม่มีอาการซึมเศร้า เสียใจ หดหู่โดยไม่มีสาเหตุ ให้คุณแม่และครอบครัวพยายามทำความเข้าใจอาการที่เกิดขึ้น และทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ไม่เครียดหรือหงุดหงิดในการดูแลลูก คนใกล้ชิดในบ้านควรเข้าใจ และช่วยเป็นกำลังใจ เพราะครอบครัวคือกำลังใจสำคัญที่จะทำให้คุณแม่หายจากอาการซึมเศร้าได้มากที่สุด แต่ถ้าอาการเป็นมาก แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจประเมินอีกครั้ง


ข้อมูลสุขภาพ แม่และเด็ก
โทรหาเรา 1728 นัดหมายแพทย์ นัดหมายแพทย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า