ภาวะปกติ ที่พบบ่อยในทารกแรกเกิด


บ่อยครั้งที่คุณพ่อและคุณแม่มือใหม่มีความวิตกกังวลกับอาการบางอย่างที่พบในลูกน้อยที่เพิ่งคลอดออกมาลืมตาดูโลก (ทั้งๆ ที่สิ่งที่พบเหล่านั้นเป็นภาวะปกติที่พบได้ในวัยทารกแรกเกิด) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณพ่อและคุณแม่วิตกกังวล และนำลูกมาเพื่อขอคำปรึกษาจากแพทย์หรือพยาบาลผู้ชำนาญการอยู่บ่อยๆ หรืออาจทำให้ทารกต้องได้รับการตรวจรักษาโดยไม่จำเป็น

ภาวะต่อไปนี้เป็นสิ่งปกติที่พบได้ในวัยทารกแรกเกิด หรือลักษณะทั่วไปในทารกแรกเกิด เป็นภาวะที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาแต่อย่างใด … คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องวิตกกังวล เพราะอาการเหล่านี้จะหายไปได้เองเมื่อทารกเจริญวัยขึ้น


1. การแหวะนม เนื่องจากหูรูดหลอดอาหารตอนบนของทารกแรกเกิดยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ ทารกส่วนมากจึงอาจมีอาการแหวะนมปริมาณเล็กน้อยออกทางมุมปากและจมูกได้ ซึ่งอาการนี้จะค่อยๆ ลดน้อยลงและหายไปเมื่อทารกเจริญวัยขึ้น วิธีการแก้ไขคือให้อุ้มทารกนั่งหรืออุ้มพาดบ่าหลังการให้นม เพื่อไล่ลมที่มากเกินออก ถ้าทารกยังมีอาการแหวะนมมากทุกมื้อ ถึงแม้ทําการไล่ลมแล้ว ควรพามาพบแพทย์

2. การสะอึก พบได้ในทารกแรกเกิดทุกราย อาจพบได้ภายหลังการดูดนม เกิดเนื่องจากการทํางานของกระบังลมยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ ไม่ต้องให้การรักษาใดๆ อาจแก้ไขโดยอุ้มนั่งหรือพาดบ่าทําการไล่ลม ไม่มีความจําเป็นต้องให้ลูกดูดน้ำเพื่อแก้อาการนี้ อาการสะอึกจะลดน้อยลงตามลําดับเมื่อ ทารกอายุ 1-2 เดือน

3. ลิ้นเป็นฝ้าขาว พบเป็นปกติในทารกแรกเกิดทุกราย จะเห็นเป็นฝ้าขาวบาง ๆ กระจายเท่า ๆ กันบริเวณกลางลิ้น ทารกจะดูดนมได้ดีเป็นปกติ ไม่จําเป็นต้องให้การรักษาใดๆ แต่ถ้าพบเป็นฝ้าขาว ลักษณะเป็นแผ่น หนา ติดแน่นบริเวณลิ้น กระพุ้งแก้ม เหงือก หรือที่ริมฝีปาก ทารกอาจมีอาการดูดนมลดลงหรือมีอาการท้องเสียร่วมด้วย แสดงว่าอาจมีการติดเชื้อราในช่องปาก จําเป็นต้องนําทารกมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

4. หายใจเสียงดังครืดคราด พบได้บ่อยมาก พ่อแม่มักเข้าใจผิดว่า ลูกเป็นหวัด ถ้าทารกดูดนมแม่ได้ดี นอนหลับสบาย ไม่ร้องกวน ไม่มีน้ำมูกเหนียวข้นอุดในรูจมูก ไม่จำเป็นต้องให้การรักษาใดๆ เสียงครืดคราดนี้จะลดลงหรือหายไปเมื่อทารกอายุ 2-3 เดือน อย่างไรก็ดี ถ้าทารกรายนั้นได้รับนมวัวเป็นหลัก อาการนี้อาจเป็นอาการแสดงเริ่มแรกของการแพ้นมวัว

5. อาการจามร่วมกับมีน้ำมูกใส ในช่วงเดือนแรกหลังคลอด โดยที่ลูกไม่มีอาการตัวร้อน ร้องกวน หรือดูดนมไม่ดีร่วมด้วย มักทำให้พ่อแม่กังวล ว่าลูกเป็นหวัดหรือภูมิแพ้ ภาวะนี้หายได้เองไม่ต้องให้การรักษา และไม่ใช่อาการของหวัดหรือการแพ้แต่อย่างใด

6. การสะดุ้งหรืออาการผวา โดยเฉพาะเมื่อมีเสียงดังหรือได้รับการสัมผัส ทารกจะมีการตอบสนอง โดยการกางแขนและขาออก พร้อมกับแบมือ หลังจากนั้นทารกจะโอบแขนเข้าหากัน จัดเป็นสิ่งปกติของทารก ซึ่งบ่งบอกถึงระบบประสาทที่เป็นปกติ บางครั้งอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจผิด ว่าลูกมีอาการซักลักษณะเช่นนี้ อาการนี้จะพบได้ถึงทารกอายุประมาณ 6 เดือน

7. การบิดตัว ทารกครบกำหนดมีการเคลื่อนไหวลำตัวขณะตื่นนอนคล้ายผู้ใหญ่บิดขี้เกียจ ทารกจะเหยียดแขนเหนือศีรษะ งอข้อสะโพกและข้อเข่า และบิดลำตัว บางคนอาจบิดตัวมากจนหน้าแดงร่วมกับการออกเสียงอืดอาดได้ ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้ถือเป็นภาวะปกติ

8. อาการกระตุก ในบางช่วงจังหวะของการนอนหลับ อาจพบเห็นทารก มีอาการกระตุกเล็กน้อยที่แขนหรือที่ขาได้ โดยไม่มีอาการคล้ำหรือเขียว และขณะตื่นนอนไม่มีอาการกระตุกให้เห็น มักทำให้พ่อแม่เข้าใจว่าลูกมีอาการชัก ภาวะนี้เป็นการเคลื่อนไหวที่เป็นปกติในช่วงทารกแรกเกิด

9. ผื่นแดงตามตัว เริ่มพบในช่วงอายุ 1-2 วัน อาจพบกระจายทั่วไป ยกเว้นที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า เป็นๆ หายๆ และเปลี่ยนที่ไปมา บางครั้งอาจเห็นมีตุ่มนูนสีขาวขนาดเล็กอยู่กลางผื่นแดงนั้นด้วย บางรายอาจมีฝนเกิดขึ้นมากจนน่าตกใจ และพ่อแม่อาจเข้าใจผิดว่าลูกมีอาการแพ้หรือถูกมดหรือแมลงกัด ซึ่งแท้จริงแล้ว ผื่นเหล่านี้เกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ และหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ ไม่ต้องให้การรักษาแต่อย่างใด และไม่มีอันตรายใดๆ ต่อทารก

10.ปานแดงแบนราบบริเวณเหนือหว่างคิ้วและเปลือกตาบน เป็นกระจุกของเส้นเลือดฝอย พบได้บ่อยพอสมควร หายได้เอง แต่อาจใช้เวลาหลายเดือน และส่วนน้อยที่อาจจางหายในเวลาเป็นปี

11. กลุ่มของตุ่มขาวละเอียดที่ปลายจมูก เป็นต่อมไขมันที่เรียงชิดแน่นเป็นระเบียบ พบได้บ่อยมากในทารกแรกเกิด หายได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์

12. ตุ่มขาวขนาดเล็กบริเวณกลางเพดานแข็งในช่องปาก พบได้บ่อยมากในทารกแรกเกิด อาจทำให้พ่อแม่เข้าใจผิดว่าเป็นตุ่มหนอง ซึ่งตุ่มลักษณะนี้ เป็นสิ่งปกติ และหายได้เองในเวลาประมาณ 5 เดือน

13. ปานสีเขียวอมฟ้า ลักษณะแบนราบ บริเวณก้นกบ กัน หรือบริเวณหลัง พบได้บ่อยมากในทารกชาวเอเชีย จางหายไปได้เอง แต่อาจใช้เวลาเป็นปี

14. ผิวหนังลอก ทารกที่คลอดเกินกำหนดหรือทารกที่มีการเจริญเติบโตช้าในครรภ์ อาจพบผิวหนังตามตัวหรือแขนขาลอกแตกเป็นร่องตั้งแต่วันแรกหลังคลอดได้บ่อย หรือทารกครบกำหนด น้ำหนักตัวปกติ ก็มักพบผิวหนังแห้งและลอกได้ที่ปลายสัปดาห์แรก ซึ่งเป็นสิ่งปกติ เกิดเนื่องจากผิวหนังกำพร้าหมดอายุ และทารกจะมีการซ่อมสร้างผิวหนังให้เปล่งปลั่งได้เองในเวลา 1-2 สัปดาห์

15. เมือกสีขาวจากช่องคลอดในทารกเพศหญิง และในบางรายอาจพบมีเลือดปนด้วยได้ ภาวะนี้เกิดเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศหญิงภายหลังคลอด จัดเป็นภาวะปกติและหายได้เอง

16. ตาเหล่ชั่วครู่เป็นครั้งคราว และกลับเป็นปกติได้เอง พบได้ในทารกบางราย เนื่องจากพัฒนาการของการเคลื่อนไหวของดวงตา ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์เต็มที่ ซึ่งส่วนมากจะกลับเป็นปกติได้เองที่อายุ 1 เดือน หรืออย่างช้าที่สุดไม่เกิน 6 เดือน และบางรายอาจดูคล้ายมีอาการ ตาเข ทั้งๆ ที่เป็นปกติ พบได้บ่อยในเด็กเชื้อชาติจีน เกาหลี เนื่องจากดั้งจมูกแบนและตาชั้นเดียว

17. นมเป็นเต้า ทารกทั้งเพศชายและหญิงบางคน อาจคลำได้นมเป็นเต้า และบางรายอาจพบมีน้ำนมออกมาด้วย เกิดขึ้นเนื่องจากฮอร์โมนจากแม่ผ่านสู่ลูกขณะอยู่ในครรภ์ ซึ่งภาวะนี้หายได้เองในเวลาหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน โดยไม่ต้องทำการตรวจรักษาพิเศษแต่อย่างใด ในกรณีที่พบมีน้ำนมออกมา ไม่ควรบีบบริเวณเต้านม เนื่องจากอาจทำให้เกิดเต้านมอักเสบได้

18. ขาโก่ง ทารกแรกเกิดจะมีภาวะขาโก่งตามธรรมชาติ ไม่ควรทำการดัดขา เนื่องจากอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อข้อและกระดูกได้ ภาวะนี้จะค่อย ๆ ลดน้อยลงจนดูเป็นปกติ เมื่อทารกอายุประมาณ 2 ปี และไม่เป็นสาเหตุทำให้การเดินของทารกผิดปกติ

ข้อมูลสุขภาพ แม่และเด็ก
โทรหาเรา 1728 นัดหมายแพทย์ นัดหมายแพทย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า