สะดือเด็กทารกทำความสะอาดอย่างไรให้ปลอดภัย ?

แพทย์หญิง ศศินี เอี่ยมอุไรรัตน์
กุมารแพทย์ทารกแรกเกิดและปริกำเนิด

สะดือของทารกเด็กคืออะไร ?

สะดือของเด็กทารกเป็นส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างทารกแรกเกิดกับรกมารดา หลังจากที่ทารกคลอดออกมาแล้ว สูติแพทย์จะทำการตัดและผูกสายสะดือ จากนั้นสายสะดือจะค่อย ๆ แห้งและหลุดไปภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ระหว่างนั้นคุณพ่อและคุณแม่ควรที่ทำความสะอาดสะดือให้แห้ง  เพราะหากทำความสะอาดสะดือไม่ดีหรือไม่สะอาด จะทำให้เกิดเชื้อโรคหรือสิ่งสกปรก ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย

สายสะดือของเด็กทารก สามารถติดเชื้อได้ไหม?

สายสะดือของเด็กทารกนั้นประกอบไปด้วยเส้นเลือดดำและเส้นเลือดแดง  ซึ่งสามารถเป็นทางผ่านของเชื้อโรคได้  รวมไปถึงผิวหนังบริเวณรอบ ๆ สะดือนั้นค่อนข้างเปราะบาง ถ้าคุณพ่อคุณแม่ทำความสะอาดได้ไม่ดี จะส่งผลให้ติดเชื้อได้  คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการของการติดเชื้อได้ โดยหากสะดือลูกน้อยมีอาการติดเชื้อ  จะมีลักษณะบวมแดงรอบ ๆ สะดือ มีกลิ่นเหม็น หรือมีหนอง คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพามาพบแพทย์ให้ไวที่สุด

เวลาอาบน้ำเด็กทารก ต้องล้างรอบสะดือไหม?

ส่วนมากคุณพ่อคุณแม่จะค่อนข้างกังวลว่าสะดือลูกน้อยเวลาโดนน้ำจะทำให้สะดือเน่า  แต่ที่จริงแล้วคุณพ่อคุณแม่สามารถอาบน้ำให้ลูกน้อยได้ตามปกติ  หลังจากที่อาบน้ำเสร็จ ควรเช็ดทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ 70 % โดยเช็ดทั้งขั้วและสายสะดือ ถ้าไม่ทำความสะอาดจะเกิดการหมักหมมของสิ่งสกปรก และเกิดการติดเชื้อที่สะดือได้

วิธีทำความสะอาดสะดือเด็กทารกให้ปลอดภัย

คุณพ่อคุณแม่ควรทำความคุ้นเคยกับสะดือลูกน้อย โดยการจับสายสะดือขึ้นตั้งตรงแล้วหมุนด้านซ้าย ด้านขวา ด้านหน้าและด้านหลัง   จะพบว่าบริเวณโคนสะดือจะมีซอกเล็ก ๆ เกิดขึ้น หลังจากนั้นสามารถทำความสะอาดสะดือลูกน้อยได้ดังนี้

1. ใช้ Cotton Buds ชุปด้วยแอลกอฮอล์ 70 % เช็ดบริเวณซอกโคนสะดือของลูกน้อย โดยหมุนไปทางเดียวกัน ไม่ควรเช็ดย้อนไปมา

         * หากใช้ Cotton Buds 1 ก้านเช็ดแล้วไม่สะอาด ควรทิ้งและใช้อันใหม่เช็ดทำความสะอาดจนกว่าสะดือของลูกน้อยจะสะอาด

2. ใช้สำลีก้อน ชุปด้วยแอลกอฮอล์ 70 % เช็ดบริเวณสายสะดือของลูกน้อย โดยเช็ดบริเวณโคนสะดือขึ้นมาจนถึงปลายสะดือให้รอบทุกด้านจนกว่าจะสะอาด

3. ใช้สำลีก้อน ชุปด้วยแอลกอฮอล์ 70 % บีบให้หมาด เช็ดบริเวณโคนสะดือที่เป็นผิวหนังของลูกน้อย  โดยหมุนวนประมาณ 1-2 นิ้ว เพื่อการฆ่าเชื้อบริเวณผิวหนัง

ภาวะปกติ VS ไม่ปกติสะดือเด็กทารก

หลังจากที่สายสะดือหลุด จะพบว่ามีน้ำหรือเลือดซึม อันนี้ถือว่าเป็นภาวะปกติ ดังนั้นควรเช็ดด้วยแอลกฮอล์ด้วย 70 % ต่อไปเรื่อย ๆ ก่อน  ส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์สะดือของทารกก็จะแห้งไปเอง 

โดยปกติกล้ามเนื้อหน้าท้องของเด็กทารกแรกเกิดยังไม่แข็งแรงดีพอ  ฉะนั้นเวลาเด็กทารกแรกเกิดมีการร้องหรือเบ่งมาก ๆ  จะทำให้เกิดแรงดันในช่องท้อง ส่งผลให้เกิดภาวะสะดือโป่งหรือสะดือจุ่นได้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่บางรายอาจจะคิดว่าเป็นภาวะที่ผิดปกติ  แต่ภาวะเช่นนี้พอเด็กทารกมีอายุเพิ่มมากขึ้น  กล้ามเนื้อจะค่อย ๆ แข็งแรง ส่งผลให้ภาวะสะดือโป่งหรือสะดือจุ่นจะหายไปเองภายในอายุ 1-2 ปี  

ข้อควรระวัง เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อที่สะดือเด็กทารก

ในคุณพ่อคุณแม่บางรายอาจมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องสะดือโป่งหรือสะดือจุ่นของลูกน้อย  จึงนำเอาเหรียญมากดทับที่สะดือลูกน้อยเอาไว้  ในกรณีนี้ไม่แนะนำให้ปฏิบัติ  เนื่องจากสะดือของเด็กทารกเป็นผิวหนังที่เปราะบางมาก อาจทำให้เกิดการขูดเป็นแผลหรือมีการสะสมของเชื้อโรคส่งผลให้ติดเชื้อได้ง่าย

คำแนะนำเกี่ยวกับ “การดูแลสะดือของลูกน้อย” จากแพทย์หญิงศศินี เอี่ยมอุไรรัตน์
กุมารแพทย์ทารกแรกเกิดและปริกำเนิด สถาบันกุมารเวช โรงพยาบาลศิครินทร์

บทความทางการแพทย์
โทรหาเรา 1728 นัดหมายแพทย์ นัดหมายแพทย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า