สุขภาพข้อไหล่ – โรคข้อไหล่ที่พบบ่อย รักษาได้อย่างไร?

นายแพทย์ไตร พรหมเเสง
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อไหล่และเวชศาสตร์การกีฬา


ทางการแพทย์ ข้อไหล่จัดเป็นข้อที่มีความซับซ้อนมากที่สุดในร่างกายมนุษย์ เมื่อเป็นโรคข้อไหล่แล้ว จะรักษายากที่สุด !! ต้องตรวจกันอย่างละเอียด ทั้งเอกซเรย์และ MRI ก่อนที่จะวินิจฉัยและให้การรักษาได้อย่างถูกต้อง บางครั้งก็ต้องทำกายภาพ ต้องผ่าตัดส่องกล้อง

ทำไมต้องตรวจ MRI – MRI ตรวจอะไรได้บ้าง?

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเกี่ยวกับข้อไหล่ต่างๆ อาจมาจากการยกของหนักมากเกินไป อายุ หรือแม้แต่อยู่เฉย ๆ ไม่ได้ทำอะไรก็ตาม นั่นก็เพราะไหล่เป็นข้อที่ยึดติดง่ายและก็เป็นข้อที่หลุดง่ายมากที่สุดอีกด้วยครับ เห็นไหมครับว่าอวัยวะที่เรียกว่า ” ข้อไหล่ ” ส่วนนี้ส่วนเดียวก็สามารถเกิดได้หลายอาการ เรามาดูกันครับว่าแต่ละอาการมีอะไรบ้าง และวิธีการดูแลข้อไหล่เป็นอย่างไรครับ

กระดูกไหล่หัก

กระดูกข้อไหล่หัก เกิดจากการหกล้มเอาไหล่ลงกระแทกพื้น ส่วนใหญ่รักษาโดยการใส่เฝือกได้ ยกเว้นกรณีที่กระดูกแตกละเอียด จะต้องรักษาโดยการผ่าตัด

 ภาพ: ข้อไหล่เทียม (ซ้าย) – กระดูกหัก (กลาง) – การดามกระดูกด้วยโลหะ (ขวา)

การผ่าตัดรักษากระดูกไหล่หัก มี 2 แบบ

  • ผ่าตัดเปลี่ยนข้อไหล่เทียม ใช้กับกระดูกที่แตกละเอียดจริง ๆ ไม่สามารถประกอบให้คืนรูปเดิมได้แล้ว
  • ผ่าตัดจัดเรียงกระดูกและดามด้วยโลหะ ใช้กับกระดูกหักที่ยังประกอบให้คืนรูปเดิมได้

ผลการรักษาส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี ผู้ป่วยสามารถยกแขนได้ ยกของหนักได้ และใช้งานได้อย่างปกติในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญมากหลังผ่าตัด ก็คือการทำกายภาพบำบัด และการออกกำลังกล้ามเนื้อรอบข้อไหล่ครับ


ข้อไหล่หลุด

ภาวะที่กระดูกข้อไหล่หลุดออกจากเบ้า สามารถหลุดได้หลายรูปแบบอาจหลุดทั้งข้อไหล่หรือหลุดเพียงบางส่วน ที่พบได้มากมักหลุดไปทางด้านหน้า

อาการทั่วไปที่สามารถสังเกตเห็นได้ชัด คือ รูปร่างของไหล่ที่ผิดแปลกไป มีลักษณะเป็นเหลี่ยม ๆ สามารถมองเห็นกระดูกที่เคลื่อนออกและอาจมีลักษณะเป็นก้อนนูนบวมใต้ผิวหนังได้ รวมถึงมีอาการปวดไหล่มาก บวม ฟกช้ำ ไม่สามารถขยับหรือยกแขนได้ตามปกติ หรือมีอาการชา รู้สึกเจ็บเหมือนมีเข็มแทงในบริเวณรอบข้าง


ข้อไหล่เสื่อม ผ่าตัดเปลี่ยนข้อไหล่เทียม

ผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อไหล่เสื่อม จะมีอาการปวดไหล่เรื้อรังนานเป็นปีและจะยกแขนไม่ขึ้น ส่วนใหญ่มักเกิดจากโรครูมาตอยด์และโรคเส้นเอ็นไหล่ฉีกขาดขนาดใหญ่ การที่เส้นเอ็นไหล่ฉีกขาดแต่ไม่ได้รับการรักษาด้วยการส่องกล้องเพื่อเย็บซ่อมเส้นเอ็น จะส่งผลให้ข้อไหล่เสื่อมอย่างรวดเร็ว กระดูกอ่อนบริเวณข้อสึกกร่อนไป สุดท้ายผู้ป่วยจะยกแขนไม่ขึ้นและมีอาการปวดไหล่เรื้อรัง การรักษาข้อไหล่เสื่อมไม่สามารถผ่าตัดส่องกล้องได้ ผู้ป่วยต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อไหล่เทียม ผลการผ่าตัดข้อไหล่เทียมในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้งานแขนได้ในชีวิตประจำวัน แต่ควรหลีกเลี่ยงการยกของหนักหรือการเหวี่ยงแขนแรง ๆ เพราะอาจทำให้ข้อเทียมสึกกร่อนได้


เอ็นไหล่ขาด

ภาพนี้แสดงให้เห็นการฉีกขาดของเส้นเอ็นไหล่ได้ชัดเจนมากครับ… อาการปวดไหล่เรื้อรัง ก็อาจเกิดจากเส้นเอ็นฉีกขาดได้ ถึงแม้ว่าจะไม่เคยมีอุบัติเหตุมาก่อนก็ตาม เพราะเส้นเอ็นไหล่ของคนเรามีเส้นเลือดไปเลี้ยงน้อย ทำให้เมื่ออายุมากขึ้น เส้นเอ็นจะค่อยๆ เปื่อยยุ่ย และฉีกขาดได้เอง

ผู้ป่วยสูงอายุที่เกิดอุบัติเหตุหกล้ม หัวไหล่หลุด ต้องมารักษาโดยการดึงหัวไหล่ที่โรงพยาบาล จะมีสิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากผู้ป่วยในวัยหนุ่มสาว คือ ในผู้สูงอายุมักจะเกิดเส้นเอ็นหัวไหล่ฉีกขาด (Rotator Cuff Tear) ร่วมด้วย ซึ่งการรักษาหลังจากที่ดึงหัวไหล่ให้เข้าที่แล้ว จะต้องตรวจ MRI เพื่อดูสภาพเส้นเอ็นว่ายังปกติดีหรือขาดไปแล้ว ถ้าเอ็นขาดผู้ป่วยจะไม่สามารถยกแขนได้อีกเลย การรักษาต้องรีบทำการผ่าตัดส่องกล้องเพื่อเข้าไปเย็บซ่อมเส้นเอ็น ไม่ควรปล่อยไว้นานเกิน เพราะเส้นเอ็นจะหดตัวและไม่สามารถเย็บซ่อมได้อีกตลอดไป


กระดูกงอก เอ็นไหล่ขาด

       ผู้ป่วยจะมีอาการปวดไหล่เวลากางแขน ยกของหนักไม่ได้ และจะปวดมากตอนนอน แม้ว่าจะทำกายภาพและฉีดยามาแล้วแต่อาการก็อาจจะไม่ดีขึ้น เนื่องจากกระดูกงอกที่ข้อไหล่กดทับเส้นเอ็นไหล่ขาดจะเป็นรูขนาดใหญ่ ต้องทำการรักษาโดยการส่องกล้องเข้าไปเย็บเส้นเอ็นโดยใช้ไหมชนิดพิเศษ การผ่าตัดส่องกล้องเป็นการรักษาที่ตรงจุดที่สุด ถ้าปล่อยเอาไว้จะทำให้เอ็นฉีกขาดไปเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไปรอยขาดจะใหญ่ขึ้นและไม่สามารถเย็บซ่อมได้อีก สุดท้ายผู้ป่วยจะมีข้อไหล่เสื่อมและยกแขนไม่ขึ้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่ หลังผ่าตัด 4 – 5 เดือน อาการปวดจะดีขึ้นมากและสามารถกลับไปใช้งานข้อไหล่ได้ตามปกติ


” โรคไหล่ติด 

โรคไหล่ติดนั้นไม่อันตรายและไม่ทำให้ถึงพิการ ผู้ที่เป็นโรคนี้ไม่จำเป็นต้องกังวลเกินไป อาการไหล่ติดในช่วงเริ่มต้นสามารถรักษาได้ด้วยการทำกายภาพบำบัดและการบริหารไหล่อย่างเป็นประจำ การรักษาให้หายขาดจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับตัวคนไข้เองด้วยเช่นกัน

4 ท่าบริหาร บรรเทาอาการปวดไหล่ติด


ท่าที่ 1 แกว่งแขนแบบลูกตุ้มนาฬิกา – ยืนหันข้าง โดยให้ไหล่ที่ดีหันข้างให้โต๊ะและท้าวแขนไว้บนโต๊ะ โน้มตัวไปด้านหน้า และปล่อยแขนด้านที่มีปัญหาลง แกว่งเป็นรูปวงกลมเบาๆช้าๆ

ท่าที่ 2 ท่ากางไหล่ – นั่งหันข้างโดยให้แขนข้างที่มีปัญหาชิดกับโต๊ะ นั่งกางไหล่ วางแขนไว้บนโต๊ะ ค่อยๆเลื่อนๆตัวออกในระยะที่พอทนได้ แล้วค้างไว้ประมาณ 10 วินาที

ท่าที่ 3 ท่ายกไม้ – จับปลายไม้ด้วยมือทั้งสองข้าง แล้วยกขึ้นลงเหนือศีรษะ

ท่าที่ 4 ท่ายืดกล้ามเนื้อด้านหน้า – นอนหงาย เอามือไขว้รองศีรษะ ยกศอกตั้งขึ้นในระยะที่พอทนได้ แล้วค้างไว้ประมาณ 10 วินาที

ขอขอบคุณภาพจาก frienddoctor.net/ 


เคล็บลับ 3 ข้อ ป้องกันปวดไหล่

  • หลีกเลี่ยงการยกของหนัก โดยเฉพาะการยกสูงเหนือศีรษะ เพราะการยกแขนสูง ๆ จะทำให้เกิดการกดทับของเอ็นไหล่กับกระดูกสะบัก ส่งผลให้เกิดเส้นเอ็นอักเสบ ถ้ามีความจำเป็นต้องยกของวางบนที่สูง ควรใช้เก้าอี้หรือบันไดช่วยจะดีกว่า
  • หลีกเลี่ยงการแกว่งแขนแรง ๆ เพราะแรงเหวี่ยงจะทำให้เกิดการเสียดสีกันของเส้นเอ็นไหล่ และจะเกิดการอักเสบของเส้นเอ็นตามมา ทำให้มีอาการปวดไหล่รุนแรงได้
  • ออกกำลังกายกล้ามเนื้อไหล่และต้นแขนเป็นประจำ เพื่อให้กล้ามเนื้อข้อไหล่มีความแข็งแรง ข้อไหล่มีความมั่นคง ไม่เคลื่อนหลุดง่าย แนะนำให้ยกดัมเบลขนาดเล็กสัปดาห์ละ 2-3 วัน

บทความทางการแพทย์
โทรหาเรา 1728 นัดหมายแพทย์ นัดหมายแพทย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า