ไตวายเรื้อรัง

ไตวายเรื้อรัง คืออะไร

ไตวายเรื้อรัง คือ ภาวะที่มีการทำลายเนื้อไตช้าๆ อย่างต่อเนื่อง ระยะเวลาหนานเป็นเดือนหรือเป็นปี เป็นการทำลายถาวร ทำให้ไตค่อยๆ มีขนาดเล็กลง ไตไม่สามารถฟื้นมาทำหน้าที่ได้ปกติ ดูได้จากค่าอัตราการกรองของไตที่ผิดปกติ มากกว่า 3 เดือน ขึ้นไป

ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง มักไม่ค่อยปรากฏอาการ เนื่องจากไตเป็นอวัยวะที่มีความสามารถพิเศษ ในการปรับการทำงานให้สมดุล แม้ว่าจะเหลือการทำงานเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ของปกติ  

ผู้ที่ไม่ได้รับการรักษา ไตจะเสื่อมลงจนเข้าสู่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย มีของเสียคั่งในกระแสเลือด ต้องรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไต เช่น การฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้องในที่สุด

สาเหตุและผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดไตวายเรื้อรัง

  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง
  • ผู้ที่ได้รับยาหรือสารบางชนิด เช่น ยาแก้ปวด ชนิดที่ไม่ใช่เสตียรอยด์ (NSAIDs) , ยาชุด, ยาหม้อ, สารทึบรังสี
  • ผู้ป่วยโรคไตอักเสบชนิดต่างๆ เช่น โรคเอสแอลอี (SLE)
  • ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคไตวายเรื้อรัง หรือมีโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น โรคถุงน้ำในไต
  • ผู้ที่ตรวจพบนิ่วในไต
  • ผู้ที่ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะหลายครั้ง
  • ผู้ป่วยโรคอ้วน
  • ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • ผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 60 ปี

อาการแสดงเมื่อเป็นโรคไต

  • ขาและเท้าบวม กดบุ๋ม หนังตาและหน้าบวม
  • ปัสสาวะผิดปกติ เช่น ปัสสาวะเป็นฟอง, ปัสสาวะเป็นเลือดหรือสีน้ำล้างเนื้อ, ปัสสาวะบ่อย เช่น ตื่นขึ้นมาปัสสาวะกลางคืนมากกว่า 1 ครั้ง, ปัสสาวะออกน้อยลง
  • ซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย คันตามตัว เบื่ออาหาร
  • ความดันโลหิตสูง

 

ป้องกันอย่างไร ไม่ให้เป็นไตวายเรื้อรัง

  • สาเหตุของไตวายเรื้อรังหลายอย่าง สามารถป้องกันได้ หากได้รับการรักษาในระยะแรก เช่น การควบคุมเบาหวาน และความดันโลหิตสูง ให้อยู่ในเกณฑ์ดี
  • ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง รวมถึงการตรวจปัสสาวะ และตรวจเลือด
  • เลี่ยงการกินอาหารรสเค็ม
  • เลี่ยงการใช้ยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น
  • ยาแก้ปวด ชนิดที่ไม่ใช่เสตียรอยด์ (NSAIDs), ยาชุด, ยาหม้อ
  • ยาปฏิชีวนะบางชนิด เช่น เจนตามัยซิน, คานามัยซิน
  • เลี่ยงการใช้สารทึบรังสีโดยไม่จำเป็น

 

ไตวายเรื้อรัง สามารถรักษาให้หายได้หรือไม่

                เมื่อไตเสื่อมหน้าที่อย่างเรื้อรัง การทำงานของไตจะลดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งไตฝ่อ เข้าสู่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ แต่เราสามารถชะลอการเสื่อมของไต เพื่อลดโอกาสในการต้องเข้ารับการฟอกเลือด หรือล้างไตทางช่องท้องได้ โดยการรักษาจากแพทย์และปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง

ปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อเป็นโรคไตวายเรื้อรัง

  • พบอายุรแพทย์โรคไตอย่างสม่ำเสมอ
  • จำกัดการกินอาหารรสเค็ม
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวด NSAIDs, ยาชุด, ยาหม้อ โดยไม่ปรึกษาแพทย์
  • ทานหรือฉีดยาให้ครบ เพื่อควบคุมความดันโลหิต และระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่แพทย์กำหนด
  • งดสูบบุหรี่
  • ไม่ซื้อยาที่โฆษณาว่าเป็น “ยาบำรุงไตมารับประทาน
  • ระวังการใช้สมุนไพรที่ทำให้เกิดไตวายเฉียบพลันได้ เช่น การดื่มน้ำมะเฟืองคั้น ปริมาณมากขณะท้องว่าง, ลูกเนียงดิบ
บทความทางการแพทย์
โทรหาเรา 1728 นัดหมายแพทย์ นัดหมายแพทย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า