พญ.บุรนาถ รุ่งลักษมีศรี
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
หงุดหงิด โกรธ เสียใจ เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ในคนทุกคน แต่ความสามารถในการจัดการกับอารมณ์นั้นเป็นปกติที่แต่ละคนจะมีไม่เท่ากัน โดยเฉพาะในเด็กๆ ซึ่งอาจยังไม่สามารถควบคุม หรือจัดการกับอารมณ์ต่างๆ ได้ดี ทำให้เกิดปัญหาพฤติกรรมต่างๆ เช่น ก้าวร้าว โวยวาย ร้องไห้ ทิ้งตัว ดิ้น หรือพูดคำหยาบคายได้
การควบคุมอารมณ์ (Emotional Control) คือ ทักษะในการจัดการกับอารมณ์ต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการทำงานให้ถึงเป้าหมายอย่างสมบูรณ์ เด็กๆที่มีทักษะนี้จะสามารถหายจากความผิดหวังในเวลาไม่นาน หรือสามารถจัดการกับความกังวลและตั้งใจทำข้อสอบอย่างราบรื่น เด็กบางคนที่มีปัญหาสมาธิสั้น อาจพบปัญหาการจัดการอารมณ์ร่วมด้วยได้บ่อย ความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) จากผู้ใหญ่ จะช่วยให้เด็กๆ ที่มีทักษะการควบคุมอารมณ์ต่ำ ผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากได้ดีขึ้น และสามารถจัดการควบคุมอารมณ์ในครั้งหน้าได้ง่ายขึ้น ครูหรือผู้ปกครองอาจใช้วิธีการต่างๆ ดังนี้
● ให้เด็กได้ นอนหลับอย่างเพียงพอ การอดนอนทำให้การควบคุมอารมณ์ทำได้ยากขึ้น นอกจากนั้นการใช้ชีวิตประจำวันอย่างเป็นเวลา มีวินัย ทำให้เด็กๆรู้ว่าจะต้องทำอะไรต่อไปและช่วยลดความสับสน
● หลีกเลี่ยงสถานการณ์ ที่น่าจะก่อให้เกิดปัญหา ไม่ควรให้เด็กที่โมโหง่ายนั่งใกล้เด็กที่แหย่เก่ง
● ฝึกวางแผน ขอความช่วยเหลือเมื่อมีปัญหา “ถ้าหนูไม่เข้าใจงานข้อไหน ให้รีบยกมือบอกครูนะคะ/ครับ” หรือหากเด็กอิดออดที่จะทำการบ้าน สอนเขาให้คิดว่า “งานนี้มันยาก แต่ฉันจะพยายาม ถ้าลองแล้วไม่สำเร็จ ฉันจะขอให้ครูช่วย”
● สอนวิธีจัดการอารมณ์ ให้เด็ก เช่น เวลาโกรธ เด็กๆมีสิทธิที่จะ “ขอเวลานอก” เพื่อให้พวกเขาสามารถจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้ดียิ่งขึ้น ผู้ปกครองอาจสอนเด็กให้พูดว่า “หนูเริ่มโกรธแล้ว ขอหนูอยู่คนเดียวสักพักนะคะ/ครับ” หรือวิธีอื่นๆเช่น การกอดตุ๊กตา หรือฟังเพลงที่ชอบ
● ช่วยเด็กทำบันทึกอารมณ์ โดยจด 3 สิ่งนี้ และชื่นชมหากพวกเขาทำตามที่จดไว้ได้
○ ตัวกระตุ้น ที่ทำให้ผิดหวังหรือโกรธ
○ สิ่งที่ห้ามทำ เมื่อเกิดอารมณ์เหล่านั้น
○ สิ่งที่ทำได้ เช่น วาดรูป พัก 5นาที ไปดื่มน้ำ ล้างหน้า เป็นต้น
● ให้คำชม เมื่อพบว่าเด็กสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดี “ครูรู้นะว่าหนูโกรธที่เพื่อนแหย่ เก่งมากที่หนูทำตัวปกติได้ ครูภูมิใจในตัวหนูมาก”
● สอนให้เด็กๆ รู้จักให้อภัยตนเองเมื่อผิดพลาด ความผิดหวังมักไม่ได้เกิดจากตัวเหตุการณ์นั้น แต่เกิดจากการที่เราย้ำตัวเองถึงความผิดพลาดต่างๆ ลองบอกเด็กๆว่า “ดูเหมือนหนูจะคิดว่าการไม่ได้เอาการบ้านมาส่งเป็นโทษใหญ่ ไหนลองคิดใหม่นะว่า แย่จังที่ลืมการบ้าน ครั้งหน้าจะทำอย่างไรให้ไม่ลืมดีนะ”
สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การทำให้ดู เด็กๆจะเรียนรู้จากสิ่งที่พวกเขาเห็นเราทำ อาจมากกว่าสิ่งที่เราพูดสอนด้วยซ้ำ ดังนั้นหากมีอารมณ์โกรธ หรือผิดหวัง จงทำใจให้สบาย ไม่ระเบิดอารมณ์ใส่เด็ก และพูดคุยกันเมื่ออารมณ์สงบแล้วเท่านั้น
