ศูนย์ผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลศิครินทร์

ทำไมถึงไม่มีเจ้าตัวน้อยสักที…?  หากคุณพยายามมีน้องโดยมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยไม่ได้คุมกำเนิด เป็นระยะเวลานาน 1 ปี แต่ยังไม่ตั้งครรภ์ แสดงว่าคุณเริ่มเข้าข่ายภาวะมีบุตรยาก!

ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก (Fertility Center) ให้บริการช่วยเหลือและพร้อมให้คำปรึกษาเพื่อการมีบุตรสำหรับชาวไทยและชาวต่างชาติ  มีอัตราประสบความสำเร็จ (Success Rate) สูงถึง 64.52%  

คอยดูแลและให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มากประสบการณ์ และนักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านตัวอ่อน (Embryologist) ด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์อย่างครบวงจร พร้อมห้องปฏิบัติการเพราะเลี้ยงตัวอ่อน และอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานสากล ให้คุณมีทายาทตัวน้อยมาช่วยเติมเต็มความสมบูรณ์ให้กับครอบครัวของคุณ

บริการของศูนย์ผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลศิครินทร์

หากคุณกำลังมีปัญหาเกี่ยวกับภาวะมีบุตรยาก หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่ศูนย์รักษาผู้มียาก โรงพยาบาลศิครินทร์ อาคาร 2 ชั้น 3 ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร 1728 ต่อ 20308, 20321


การทำเด็กหลอดแก้ว (ICSI)

เป็นการช่วยปฎิสนธิโดยวิธีฉีดอสุจิ 1 ตัวเข้าไปในเซลล์ไข่ ช่วยเพิ่มอัตราการปฎิสนธิและโอกาสการตั้งครรภ์ได้ ขั้นตอนเริ่มจากการฉีดยากระตุ้นรังไข่ในวันที่ 2 ของรอบเดือน โดยฉีดยาทุกวันประมาณ 9-12 วัน ในระหว่างนั้นจะมีการนัดทำอัลตร้าซาวด์ 2-3 ครั้ง เมื่อฟองไข่โตได้ที่แล้ว จะทำการเจาะดูดไข่ออกมาทางช่องคลอด (ทำในห้องผ่าตัด ไม่ต้องค้างคืนที่โรงพยาบาล) ฝ่ายสามีจะให้เก็บอสุจิออกมาในวันเดียวกัน จากนั้น Embryologist จะทำกระบวนการ ICSI ในห้องปฎิบัติการเลี้ยงตัวอ่อน เมื่อไข่และอสุจิปฎิสนธิกันก็จะเกิดเป็นตัวอ่อน (Embryo) ขึ้นมา

อิ๊กซี่ | ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection)


การเลี้ยงตัวอ่อนถึงระยะบลาสโตซิสท์ (Blastocyst Culture)

เป็นกระบวนการเลี้ยงตัวอ่อนนอกร่างกายในจานเพาะเลี้ยงที่มีน้ำยาเฉพาะสำหรับตัวอ่อนระยะต่างๆ ใส่ไว้ตู้ที่มีการควบคุมอุณหภูมิ, ความชื้น, ก๊าซ, แสงสว่าง จนตัวอ่อนอายุ 5 วันก็จะโตมาจนถึงระยะบลาสโตซิสต์ ซึ่งเป็นระยะที่ตัวอ่อนแบ่งเซลล์เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่จะเจริญต่อไปเป็นทารก (inner cell mass) และกลุ่มที่จะเจริญต่อไปเป็นรก (trophectoderm) เป็นระยะที่เหมาะสมสำหรับการฝังตัวในโพรงมดลูก


การตรวจคัดกรองพันธุกรรมตัวอ่อนก่อนฝังตัว (PGT)

ความผิดปกติของโครโมโซม เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของการแท้งในช่วง 3 เดือนแรก ปัจจุบันการทำเด็กหลอดแก้ว สามารถตรวจดูความผิดปกติของโครโมโซมได้ก่อนที่จะย้ายกลับเข้าโพรงมดลูก ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์และลดอัตราการแท้งที่เกิดจากตัวอ่อนผิดปกติได้

ขั้นตอนการทำ คือ จะมีการดูดเซลล์จากกลุ่มเซลล์ที่จะเจริญไปเป็นรกของตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสท์ แล้วนำไปตรวจด้วยวิธี NGS ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้ตรวจหาลำดับเบสของโครโมโซมทั้ง 24 ชนิด (โครโมโซมที่ 1 – 22, X, Y)

วิธีการนี้เหมาะสำหรับ คู่สมรสที่ฝ่ายหญิงอายุมากกว่า 35 ปี, เคยตั้งครรภ์ที่ทารกมีโครโมโซมผิดปกติ, มีประวัติแท้งบุตรก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป, ไม่ตั้งครรภ์ตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป จากการรักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์


การแช่แข็งตัวอ่อน (Embryo Freezing)

เป็นการเก็บรักษาตัวอ่อนในไนโตรเจนเหลว เพื่อคงสภาพเดิมของตัวอ่อนไว้สำหรับใส่กลับโพรงมดลูก เมื่อพร้อมมีบุตรในอนาคต เหมาะสำหรับ

  • ผู้ที่มีตัวอ่อนจำนวนมาก
  • ต้องการตรวจคัดกรองพันธุกรรมตัวอ่อนไว้ก่อนในระหว่างรอผลตรวจ
  • คู่สมรสที่วางแผนมีบุตรช้า การแช่แข็งตัวอ่อนเมื่อายุฝ่ายหญิงยังน้อยจะได้ตัวอ่อนที่มีคุณภาพดีกว่า
  • ช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ (การใส่กลับตัวอ่อนในรอบแช่แข็งมีโอกาสตั้งครรภ์มากกว่าการใส่กลับในรอบเก็บไข่)

การแช่แข็งไข่ (Oocyte Freezing)

ผู้หญิงเมื่ออายุมากขึ้น ปริมาณและคุณภาพของไข่ก็จะลดลงไปด้วย จึงเป็นสาเหตุให้มีบุตรยาก การแช่แข็งไข่เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยเก็บรักษาคุณภาพของไข่ไว้ ไม่ให้ลดลงตามอยุที่เพิ่มขึ้น เหมาะสำหรับ

  • ผู้ที่เป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษาที่มีผลต่อการทำงานของรังไข่ เช่น เคมีบำบัด การฉายแสง
  • ผู้ที่มีประวัติครอบครัวหมดประจำเดือนเร็ว เคยผ่าตัดรังไข่มาก่อน
  • ผู้ที่ยังไม่เคยแต่งงาน แต่วางแผนจะมีบุตรในอนาคต
  • ผู้ที่รักษาภาวะมีบุตรยาก แต่ในวันเก็บไข่ ฝ่ายชายหลั่งอสุจิหรือเก็บอสุจิไม่ได้

โปรแกรมฝากไข่ | Oocyte Freezing

การฝากแช่แข็งไข่ ขั้นตอนการฝากไข่


การแช่แข็งอสุจิ (Sperm Freezing)

เป็นการแช่แข็งอสุจิในไนโตรเจนเหลว เพื่อคงสภาพอสุจิไว้สำหรับการมีบุตรในอนาคต เหมาะสำหรับ

  • ผู้ที่เป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษาที่มีผลต่ออสุจิ เช่น เคมีบำบัด การฉายแสง การผ่าตัดอัณฑะ
  • ผู้ที่ต้องการเก็บอสุจิของตนเองเพื่อมีบุตรในอนาคต
  • ผู้ที่รักษาภาวะมีบุตรยาก แต่ไม่สะดวกเก็บอสุจิในวันที่รักษาได้ เช่น ติดงาน, ต้องเดินทางไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ
  • ผู้ที่จะทำหมัน แต่อาจเปลี่ยนใจต้องการมีบุตรในอนาคต
  • อสุจิที่เหลือจากการเจาะดูดจากท่อพักอสุจิ หรือตัดชิ้นเนื้อจากอัณฑะ
  • เก็บแช่แข็งอสุจิเพื่อบริจาค

การเก็บอสุจิด้วยการทำหัตถการ (PESA/TESE)

ใช้ในกรณีที่ฝ่ายชายเป็นหมันเนื่องจากไม่มีตัวอสุจิในน้ำอสุจิที่หลั่งออกมา ด้วยวิธีเจาะดูดจากท่อพักอสุจิ (PESA: Percutaneous Epididymal Sperm Aspiration) หรือโดยการตัดชื้นเนื้อเล็กๆออกมาจากอัณฑะ (TESE: Testicular Sperm Extraction) แล้วนำอสุจิที่ได้มาใช้ในกระบวนการ ICSI การทำหัตถการนี้จะทำในห้องผ่าตัด ไม่ต้องค้างคืนที่โรงพยาบาล


การฉีดเชื้อหรือการผสมเทียม (IUI)

เป็นการฉีดเชื้ออสุจิที่ผ่านการคัดเลือกเฉพาะตัวที่แข็งแรงเข้าไปในโพรงมดลูกในช่วงไข่ตก เพื่อให้อสุจิและไข่มีโอกาสพบกันมากขึ้น เหมาะสำหรับคู่สมรสที่มีปัญหาเชื้ออ่อนไม่มาก, มีความผิดปกติของมูกที่ปากมดลูก, คู่สมรสที่ไม่ทราบสาเหตุของการมีบุตรยาก

การฉีดเชื้ออสุจิเข้าโพรงมดลูก | Intrauterine Insemination: IUI


การแก้หมันหญิง (Tuboplasty)

การทำหมันหญิงโดยปกติจะเป็นการตัดส่วนกลางของท่อนำไข่ออกประมาณ 1-2 เซนติเมตร แล้วผูกปลายที่ตัดไว้ เพื่อไม่ให้ไข่กับอสุจิมาปฏิสนธิกัน การแก้หมันคือการต่อปลายทั้ง 2 ข้างที่ผูกไว้เข้าด้วยกัน อัตราความสำเร็จของการทำหมันอยู่ประมาณ 50%

ก่อนการผ่าตัดแก้หมัน ต้องได้รับการตรวจประเมินจากแพทย์เฉพาะทาง (ซักประวัติ, ตรวจร่างกาย, อัลตร้าซาวด์, ฉีดสีดูท่อนำไข่, ตรวจอสุจิสามี) เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจว่าควรแก้หมันหรือทำเด็กหลอดแก้วดีกว่า เช่น ฝ่ายหญิงอายุน้อย อสุจิดี อาจแก้หมันเพื่อให้มีโอกาสตั้งครรภ์เองตามธรรมชาติ, ฝ่ายหญิงอายุมาก การทำเด็กหลอดแก้ว จะมีโอกาสตั้งครรภ์มากกว่า, อสุจิอ่อนมาก ควรทำเด็กหลอดแก้ว เป็นต้น


การผ่าตัดส่องกล้องโพรงมดลูก (Hysteroscopic Surgery)

หนึ่งในสาเหตุที่พบบ่อย แต่คุณผู้หญิงอาจมองข้ามไปนั่นคือ เนื้องอกโพรงมดลูก และติ่งเนื้อในโพรงมดลูก ที่มีผลทำให้มีบุตรยาก เนื่องจากเนื้องอกไปขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อน และเป็นอุปสรรค์ต่อการเจริญเติบโตของทารกขณะตั้งครรภ์ ซึ่งอาจทำให้แท้งได้ง่าย จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

การผ่าตัดทำได้โดยใส่เครื่องมือ และกล้องผ่านปากมดลูกเข้าไปด้านในโพรงมดลูกเพื่อทำการตัดเนื้องอกออก ทำให้ไม่ต้องมีแผลทางหน้าท้อง ลดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ ฟื้นตัวได้เร็ว ไม่ต้องนอนค้างที่โรงพยาบาล (day case) กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ภายใน 2 – 3 วัน


การผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช (Laparoscopic Surgery)

เป็นการผ่าตัดโดยใช้การเจาะรูที่หน้าท้องเพื่อใส่กล้องและอุปกรณ์เข้าไปในช่องท้อง แผลจะมีขนาด 0.5 – 1 เซนติเมตร ประมาณ 4 แผล เนื่องจากแผลเล็กทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว เพราะเจ็บน้อย อยู่โรงพยาบาล 1 – 2 คืน และสามารถกลับไปทำงานได้เร็ว

โรคทางนรีเวชที่สามารถผ่าตัดผ่านกล้องได้

  • ถุงน้ำ (ซีสต์) รังไข่, เนื้องอกรังไข่บางชนิด
  • โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
  • ถุงน้ำข้างท่อนำไข่
  • การตัดท่อนำไข่ เช่น ท่อนำไข่บวมน้ำ ตั้งครรภ์นอกมดลูก
  • พังผืดในอุ้งเชิงกราน
  • ปวดท้องน้อยเรื้อรัง
  • เนื้องอกมดลูก

เทคนิคการผ่าตัดทางนรีเวช – ทางเลือกที่ผู้หญิงควรรู้


การตรวจวิเคราะห์สเปิร์ม (Semen Analysis)

การตรวจอสุจิในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพเพื่อประเมินภาวะเจริญพันธุ์ของเพศชาย โดยทำการประเมินอสุจิหลังจากที่งดการมีเพศสัมพันธ์มาแล้ว 3 วัน เพื่อทดสอบหาปริมาณ จำนวน การเคลื่อนไหว และความผิดปกติของเชื้ออสุจิ เพื่อนำไปวินิจฉัยและวางแผนการตั้งครรภ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บทความทางการแพทย์ แม่และเด็ก
โทรหาเรา 1728 นัดหมายแพทย์ นัดหมายแพทย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า