‘ฟันคุด’ คือ ฟันแท้ที่ไม่สามารถขึ้นมาได้ตามปกติ เป็นฟันที่ฝังตัวอยู่ใต้เนื้อเยื่อของเหงือก และบริเวณกระดูกขากรรไกร ฟันคุดจะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าหากตัวฟันไม่ได้โผล่พ้นขึ้นมาเหนือเหงือก จะต้องใช้การเอกซเรย์จึงจะสามารถเห็นได้
ลักษณะของฟันคุด สามารถแบ่งได้ตามลักษณะการขึ้นของแนวฟันคุด ซึ่งมี 3 แบบ
- ฟันคุดที่ขึ้นในเเนวตรง (Vertical impaction)
- ฟันคุดที่ขึ้นในแนวนอน (Horizontal impaction)
- ฟันคุดที่ขึ้นแนวเฉียง
ฟันคุดหรือฟันกรามซี่สุดท้าย จำเป็นต้องมีการถอน หรือผ่าออก โดยทันตแพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมช่องปาก เพราะว่าอยู่ในลักษณะที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามปกติ หรือไม่ได้อยู่ในแนวที่เดียวกับฟัน ส่วนมากฟันคุดจะเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่นตอนปลาย หรือช่วงอายุยี่สิบต้นๆ หากปล่อยฟันคุดไว้จะมีความเสี่ยงต่อภาวะต่างๆ
- เหงือกในบริเวณที่ปกคลุมฟันคุดอักเสบหรือมีการติดเชื้อ
- เกิดฟันผุที่ฟันกรามซี่ข้างเคียง
- สาเหตุของการเกิดโรคปริทันต์ (โรคเหงือก)
- เกิดถุงน้ำบริเวณขากรรไกร – ซีสต์เนื้องอกรอบๆ ฟันคุด
- มีอาการปวดเรื้อรังหรือรู้สึกไม่สบาย เนื่องจากแรงดันของฟันคุด
- ฟันยื่น ฟันเก กระดูกรอบรากฟัน หรือรากฟันข้างเคียงถูกทำลาย จากแรงดันตัวของฟันคุดที่พยายามดันขึ้นมา
- ส่งผลต่อการจัดเรียงฟัน ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการจัดฟันได้ในตำแหน่งที่ไม่ดี หรือมีฟันหน้าซ้อนเก
- เกิดความผิดปกติของเนื้อเยื่อหุ้มฟัน
ข้อควรรู้! ก่อน-หลัง ผ่าตัด/ถอนฟันคุด

ฟันคุดเป็นสิ่งที่สร้างผลกระทบต่อสุขภาพช่องปากรวมถึงสุขภาพกาย ถ้ารู้ตัวว่ามีฟันคุดแล้ว จำเป็นต้องผ่าหรือถอนฟันคุดออก เพราะฟันคุดที่ขึ้นมาจะส่งผลกระทบกับแนวฟัน ทำให้มีผลต่อฟันซี่ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงได้ อาจทำให้เกิดฟันผุ หรือเหงือกอักเสบ หรือหากปล่อยไว้นานจะทำให้เกิดถุงน้ำในบริเวณขากรรไกร ยิ่งฟันคุดอยู่ลึกมากเท่าไร อาการปวดบวมและอักเสบจะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการปวด หรือรู้สึกมีความผิดปกติเกี่ยวกับเหงือก และฟัน ควรรีบมาปรึกษาพบทันตแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธี และควรมาพบทันตแพทย์เป็นประจำทุกๆ 6 เดือน
สัญญาณเตือน อาการในช่องปากที่ควรรีบพบทันตแพทย์