นายแพทย์ศุภวัชช์ ลีลาวัฒนสุข | อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม
แพทย์หญิงวรฉัตร เรสลี | อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อ
COVID19 กับ โรคเบาหวาน อันตรายอย่างไร? ผู้ป่วยโรคเบาหวานหากติดโควิด-19 จะพบความเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการรุนแรงจริงหรือไม่? หากเป็นโควิดแล้วจะเป็นเบาหวานตามมาจริงหรือ? ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน เมื่อใดที่ควรจะมาตรวจเช็กอาการ และ ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรฉีดวัคซีนโควิดไหม?
ตอบทุกคำถาม เคลียร์ทุกประเด็นที่กำลังเป็นที่สงสัยในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งโรคที่พบบ่อยในคนไทย “หมอเมย์-แพทย์หญิงวรฉัตร เรสลี อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อ” และ “หมอมิค-นายแพทย์ศุภวัชช์ ลีลาวัฒนสุข อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม” จากโรงพยาบาลศิครินทร์ พร้อมให้คำตอบกับทุกคน
ผู้ป่วยเบาหวานติดโควิด
เสี่ยงเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า!
หมอเมย์: จากข้อมูลในปัจจุบัน พบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานมีความเสี่ยงมากขึ้นในการป่วยเป็นโรคโควิดจริงไหมคะ?
หมอมิค: จากการศึกษาข้อมูลพบว่า ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานจะติดโควิดได้มากกว่าคนปกติหรือไม่ โดยอัตราการติดเชื้อพบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติเมื่อเทียบเท่ากับคนทั่วไปครับ
หมอเมย์: เมื่อเปรียบเทียบจากเคสผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมา โดยปกติแล้วผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคเบาหวาน แล้วเกิดติดเชื้อโควิด จะมีอาการรุนแรงหรือปอดอักเสบขั้นรุนแรงมากกว่าคนปกติจริงไหมคะ?
หมอมิค: หากพูดถึงอาการแล้ว อันนี้สามารถเห็นได้ชัดเจนเลยครับ สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน หากติดโควิดแล้ว จะมีอาการรุนแรงกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวานอย่างชัดเจน โดยจากข้อมูลพบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีอาการปอดอักเสบรุนแรงมากกว่าคนปกติถึง 2 เท่า และมีอัตราการเสียชีวิตมากขึ้นถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน
ควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี – อ้วน เสี่ยงเกิดโรครุนแรง
8 กลุ่มผู้ป่วยโรคประจำตัว เสี่ยงอาการหนัก หากติดเชื้อโควิด-19
หมอเมย์: ผู้ป่วยโรคเบาหวานกลุ่มไหนบ้างคะ ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรง
หมอมิค: ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่จะเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรง คือ กลุ่มผู้ป่วยที่ควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี หมายถึง ผู้ที่มีระดับน้ำตาลในตอนเช้าสูงกว่า 130 mg/dl หรือมีระดับน้ำตาลสะสมเฉลี่ย 3 เดือน หรือ HbA1C มากกว่า 7 mg% ซึ่งกลุ่มเหล่านี้จะมีโอกาสเกิดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงจากการติดเชื้อโควิดได้มากกว่าคนปกติ รวมถึงผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีน้ำหนักตัวเยอะ หรือมีภาวะอ้วน เนื่องจากภาวะดังกล่าวถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคที่รุนแรงครับ
หมอเมย์: นอกจากนี้ เท่าที่สังเกตแล้ว ยังพบด้วยว่า มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยเลยนะคะ ที่เพิ่งจะมาทราบทีหลังว่าตนเองป่วยเป็นโรคเบาหวานหลังจากติดเชื้อโควิดมาแล้ว แล้วถ้าเกิดกรณีแบบนี้เราจะมีวิธีในการสังเกตได้อย่างไร รวมถึงเมื่อไรที่เราควรจะมาตรวจเบาหวานกันคะ
หมอมิค: ตอบคำถามเรื่อง เมื่อไรที่เราควรจะมาตรวจเบาหวานกันนะครับ ก็ต้องขอบอกว่า คนที่ควรมาตรวจเบาหวาน คือคนที่มีปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน ปัจจัยเสี่ยงมีอะไรบ้าง มาเช็กกันนะครับว่าคุณเข้าข่ายหรือยัง?
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวาน ได้แก่
- ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเยอะ หรือมี BMI มากกว่า 23 (สำหรับคนเอเชีย)
- ผู้ที่อ้วนลงพุง คือ ผู้ชายที่มีรอบเอวมากกว่าหรือเท่ากับ 90 เซนติเมตร และผู้หญิงที่มีรอบเอวมากกว่าหรือเท่ากับ 80 เซนติเมตร
- ผู้ที่มีประวัติครอบครัวหรือมีญาติสายตรง พ่อแม่ พี่น้อง ป่วยเป็นโรคเบาหวาน
- ผู้หญิงที่มีประวัติป่วยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือคลอดบุตรที่มีน้ำหนักมากกว่า 4 กิโลกรัม
- ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง
- ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว โรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับหลอดเลือด
- ผู้ที่เคยได้รับการวินิจฉัยว่ามีถุงน้ำในรังไข่ (PCOS)
กลุ่มเหล่านี้ คือกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน แนะนำให้มาเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโรคเบาหวานโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ครับ แต่ถ้าไม่มีความเสี่ยงใดๆ เลย ตามที่หมอกล่าวมาข้างต้น แนะนำให้ควรมาเข้ารับการตรวจเช็กเบาหวานเมื่อมีอายุ 35 ปีขึ้นไปครับ
หมอเมย์: ไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็ตามค่ะ ถ้ารู้ตัวว่ามีความเสี่ยงเหล่านี้ อย่าลืมมาตรวจเช็กเพื่อป้องกันความเสี่ยงนะคะ แต่ถ้าไม่ได้มีความเสี่ยงก็ควรมาเข้ารับการตรวจเมื่ออายุเกิน 35 ปีค่ะ โดยควรตรวจเช็กทุกคนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
หมอมิค: ใช่ครับ ในกลุ่มที่ไม่มีความเสี่ยง ก็สามารถเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีได้ครับ โดยตรวจเช็กระดับน้ำตาลจากเส้นเลือดดำ โดยการเจาะเลือดว่าร่างกายมีระดับน้ำตาลสูงเข้าเกณฑ์การเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ครับ
โปรแกรมตรวจสุขภาพผู้ป่วยเบาหวาน
โปรแกรมตรวจสุขภาพประจำปี โรงพยาบาลศิครินทร์

ไม่เคยเป็นเบาหวาน ก็เป็นเบาหวานได้!
หมอเมย์: มีคนถามเข้ามากันเยอะมากเลยค่ะว่าไม่เคยเป็นเบาหวานมาก่อนเลย แต่หลังจากที่ป่วยเป็นโควิดแล้วอยู่ดีๆ ก็พบว่ามีโรคเบาหวาน พบว่าผู้ป่วยกรณีแบบนี้มีโอกาสเป็นไปได้สูงไหมคะ?
หมอมิค: อันนี้ต้องแยกเป็นกรณีนะครับ กรณีแรก อาจจะเกิดจากการที่ผู้ป่วยที่ไม่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน แล้วมารู้ตัวอีกทีว่าตนเองเป็นโรคเบาหวานตอนที่ป่วยเป็นโควิด เนื่องจากมีการตรวจร่างกายแล้วพบว่าป่วยเป็นโรคเบาหวานอยู่ด้วยครับ ซึ่งกรณีนี้มีไม่น้อยเลยทีเดียว กรณีที่สอง เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่เป็นตัวก่อโรคโควิด เข้าไปจับกับเซลล์ตับอ่อน ทำให้เซลล์ตับอ่อนเกิดความเสียหาย และทำให้ร่างกายสามารถสร้างอินซูลินได้น้อยลง ทำให้ร่างกายเกิดเป็นเบาหวานขึ้นมาในระหว่างที่ป่วยเป็นโควิดได้ครับ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจจะมีภาวะน้ำตาลสูงเพียงชั่วคราว หรืออาจจะเป็นโรคเบาหวานเลยก็ได้ ซึ่งกรณีนี้ยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมครับ
หมอเมย์: เหมือนกับว่าเบาหวานนี้ สามารถกลายเป็นกลุ่มอาการหนึ่งของภาวะลองโควิด (Long Covid) หรือ Post-COVID Condition ได้เช่นกันนะคะ ซึ่งเรายังคงต้องติดตามผลศึกษาที่ชัดเจนต่อไปค่ะ นอกจากนี้แล้วเรายังพบว่า ยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยโควิด ยังไปกระตุ้นให้ระดับน้ำตาลเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วยใช่ไหมคะ?
หมอมิค: ใช่เลยครับ เพราะว่าในการรักษาผู้ป่วยโควิด จะมีการใช้ยากลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มสเตียรอยด์ (Steroid) ถือได้ว่าแทบจะเป็นกลุ่มตัวยาหลักที่ใช้ในการรักษาคนไข้โรคเบาหวานที่มีอาการปอดอักเสบ ซึ่งจะส่งผลให้มีน้ำตาลสูงมากๆ แม้ว่าคนไข้จะไม่เคยป่วยเป็นเบาหวานมาก่อน อาจจะมีเพียงปัจจัยเสี่ยงในการเป็นเบาหวานเท่านั้น แต่เมื่อได้รับสเตียรอยด์เข้าไปแล้ว ก็จะทำมีระดับน้ำตาลสูงได้ครับ หรือแม้กระทั่งคนไข้ที่รู้ตัวว่าตนเองเป็นโรคเบาหวานอยู่ก่อน ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี เมื่อได้รับยาสเตียรอยด์เข้าไปก็พบว่ามีน้ำตาลสูงขึ้นไปได้อีก หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยเบาหวานที่คุมน้ำตาลได้ไม่ดี ก็จะยิ่งส่งผลให้ระดับน้ำตาลในร่างกายไม่ดี ทำให้การรักษาเป็นไปได้ยาก จำเป็นต้องมีการวางแผนหรือปรับเปลี่ยนแนวทางในระหว่างการรักษาครับ
หมอเมย์: สรุปง่ายๆ เลยนะคะ เชื้อโควิดเป็นตัวการที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยแย่ลง โดยสามารถแบ่งได้เป็น 3 กรณีด้วยกันค่ะ
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว แต่ไม่เคยรู้ตัวมาก่อน พบว่าตนเองป่วยเป็นโรคเบาหวานเมื่อติดเชื้อโควิด
- เชื้อโควิดเข้าไปทำลายเซลล์ตับอ่อนซึ่งทำหน้าที่ผลิตอินซูลิน
- ตัวยาที่ใช้รักษาโควิด เข้าไปกระตุ้นให้เกิดโรคเบาหวาน
หมอเมย์: ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะดูแลตนเองอย่างไรในช่วงที่มีเชื้อโรคแพร่ระบาดแบบนี้บ้างคะ?
หมอมิค: การดูแลตนเองนี้เป็นเรื่องสำคัญเลยนะครับ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน ช่วงโควิด-19 การใช้ชีวิตของเราก็จะต้องเปลี่ยนไป บางท่านอาจจะมีการ Work from home เรื่องอาหารการกินอาจจะเลือกได้ยากมากขึ้น อันดับแรกเลย ขอให้ควบคุมน้ำตาลให้ดีครับ ปรึกษาแพทย์ที่รักษาประจำว่า จะต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างไรบ้างไหม สำหรับใครที่คุมน้ำตาลได้ดีอยู่แล้ว ก็ให้รักษาระดับนั้นไว้ครับ แต่ถ้าใครคุมน้ำตาลได้ไม่ดี ก็ให้พยายามปรับการรักษาเพื่อให้คุมน้ำตาลได้ดีขึ้นครับ
ข้อสอง ควรจัดสต็อคยาให้เพียงพอ อย่างน้อยต้องมีไว้สำหรับ 2 สัปดาห์นะครับ เพราะว่าอาจจะเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่สามารถเดินทางมาโรงพยาบาลได้ อย่าขาดยาเด็ดขาดนะครับ เพราะจะส่งผลเสียที่ร้ายแรงได้ครับ
ข้อที่สามจะเป็นเรื่องอาหารการกินครับ ช่วงนี้หลายๆ ท่านคงมีการสั่งอาหารทางเดลิเวอรี่มารับประทานที่บ้าน อย่าลืมเลือกอาหารที่มีน้ำตาลต่ำ หรือมีคาร์โบไฮเดรตต่ำด้วยนะครับ ข้อต่อมาคือ ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ เพราะผู้ป่วยเบาหวานถ้าเกิดการขาดน้ำ จะทำให้มีภาวะน้ำตาลสูงแบบรุนแรง ดังนั้นต้องดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยประมาณ 2-3 ลิตรต่อวันครับ อาจจะมีการเตรียมน้ำหวานไว้ที่บ้านด้วยนะครับ เผื่อเกิดภาวะน้ำตาลต่ำโดยไม่คาดคิด และควรมีเบอร์ติดต่อโรงพยาบาล แพทย์ประจำตัว คนใกล้ชิด ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เกิดหมดสติ จะได้มีคนคอยช่วยเหลือได้ครับ สุดท้ายอย่าลืมสังเกตอาการของตัวเองให้ดีครับ ถ้าเกิดมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ ให้รีบมาโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดครับ
เมื่อเป็น “เบาหวาน” – ดูแลตนเองอย่างไร กินอะไรได้บ้าง
ฉีดหรือไม่ฉีด!
ผู้ป่วยโรคเบาหวานฉีดวัคซีนโควิด ได้ไหม?
หมอเมย์: นอกจากการดูแลตัวเองตามที่หมอมิคแนะนำแล้ว อย่าลืมไปฉีดวัคซีนกันด้วยนะคะ สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน แนะนำให้ฉีดวัคซีนในทุกกรณีค่ะ โดยจะเป็นวัคซีนชนิดใดก็ได้ที่ผ่านการรับรองและสามารถเข้าถึงได้เร็วที่สุดค่ะ
หมอมิค: หมอเมย์มีคำแนะนำไหมครับเกี่ยวกับวัคซีนโควิด ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรฉีดวัคซีนโควิดยี่ห้อไหนดี แล้วจะต้องมีการเตรียมตัวอย่างไรบ้างครับ
หมอเมย์: จริงๆ แล้ว วัคซีนโควิดทุกชนิดสามารถป้องกันความรุนแรงได้ทั้งหมดค่ะ แต่ถ้าหากเลือกได้ แนะนำให้เลือกวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง ตั้งแต่วัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral Vector Vaccines) เช่น แอสตราเซนเนก้า (AstraZeneca) หรือ วัคซีนชนิดสารพันธุกรรม หรือวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) เช่น ไฟเซอร์ (Pfizer), โมเดอร์นา (Moderna) ค่ะ หรือวัคซีนอะไรก็ได้ที่สามารถเข้าถึงได้เร็วที่สุดค่ะ ในกรณีที่ผู้ป่วยฉีดวัคซีนเชื้อตาย (Inactivated Vaccines) มาแล้วเกิน 3 เดือน แนะนำให้ฉีดกระตุ้นเข็ม 3 โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ค่ะ เพราะว่าโควิดน่าจะอยู่กับเราไปเรื่อยๆ อย่างน้อยน่าจะอีก 2-3 ปีเลยค่ะ สุดท้ายนี้หมอขอฝากให้ทุกคนไปฉีดวัคซีนกันนะคะ และควบคุมโรคประจำตัวของตัวเองให้ดี และขอให้ทุกคนปลอดภัยค่ะ
อาการข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป หลังฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca)
อาการต้องรู้ หลังฉีดวัคซีนโควิด-19
คำถาม-คำตอบ ข้อสงสัยเกี่ยวกับวัคซีนโควิด19