โรคงูสวัด

“โรคงูสวัด” เป็นโรคที่พบได้บ่อยขึ้นตามอายุ และอาการปวด และภาวะแทรกซ้อนของผู้สูงวัยก็มักจะรุนแรงและมีอาการยาวนานกว่าผู้มีอายุน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดที่จะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้

งูสวัด เกิดจากอะไร?

โรคงูสวัดเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับโรคอีสุกอีใส คือ varicella zoster virus (VZR) เชื่อว่าเมื่อหายจากโรคแล้วเชื้อจะค่อยๆ เคลื่อนตัวตามแนวเส้นประสาทเข้าไปซ่อนอยู่ในปมประสาทของร่างกายโดยไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติใดๆ แต่เมื่อใดที่ร่างกายมีภูมิต้านทานลดลงไม่ว่าจะจากวัยที่เพิ่มขึ้น หรือจากปัจจัยอื่นๆ เช่น เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต โรคที่เกิดจากภูมิต้านทานอย่างโรคเอชไอวี โรคเอสแอลอี หรือได้รับยากดภูมิต้านทาน เชื้อไวรัสก็สามารถกำเริบและก่อให้เกิดโรคงูสวัดขึ้นมาได้

โรคงูสวัดกับอาการที่ควรสังเกต

  • มีอาการปวดตามตัว ก่อนมีผื่น 2 – 3 วัน
  • ปวดแสบปวดร้อน
    นอกเหนือจากผื่นหรือตุ่มแล้ว อาการที่เด่นชัดอีกอย่างคือ อาการปวดแสบปวดร้อน ซึ่งเกิดบริเวณผิวหนังตามแนวเส้นประสาท โดยบางรายอาจปวดเหมือนไฟช็อต ในขณะที่บางรายเพียงแค่สัมผัสเบาๆ หรือสัมผัสกับเสื้อผ้าบางๆ ก็มีอาการปวดแล้ว
  • ผื่นแดงขึ้นตรงบริเวณที่ปวดแล้วกลายเป็นตุ่มน้ำใส
    ผื่นแดงหรือตุ่มนูนนี้จะขึ้นตามตัวคล้ายโรคอีสุกอีใส แต่แตกต่างกันคือจะไม่กระจายทั่วตัวเหมือนอีสุกอีใส แต่จะเรียงเป็นกลุ่มหรือเป็นแถวยาวตามแนวของเส้นประสาท จากนั้นตุ่มนูนจะกลายเป็นตุ่มน้ำใส และแตกออกจนตกสะเก็ด และหายได้เองใน 2 สัปดาห์ และเมื่อแผลหายแล้ว อาจยังมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาทได้


โรคงูสวัด อันตรายไหม? ภาวะแทรกซ้อนของโรคงูสวัด

ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อย ได้แก่ อาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลังการติดเชื้อ (postherpetic neuralgia) ซึ่งพบได้มากขึ้นในผู้ป่วยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยระยะเวลาในการปวดจะขึ้นกับแต่ละบุคคล บางรายอาจปวดเป็นเดือน บางรายอาจปวดเป็นปี หรือบางรายอาจปวดตลอดชีวิตก็ได้ นับว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้สูงวัยอย่างมาก

สำหรับภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจพบได้ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดการอักเสบ ตาอักเสบ เป็นต้น และสำหรับผู้ป่วยที่เป็นงูสวัดขึ้นที่ตา ควรปรึกษาร่วมกับจักษุแพทย์ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางตา

โรคงูสวัด ติดต่อได้หรือไม่?

โรคงูสวัดสามารถติดในผู้ที่ยังไม่เป็นโรคอีสุกอีกใส โดยติดต่อจากการสัมผัสหรือตุ่มพองของโรค หากร่างกายอ่อนแอก็จะทำให้เกิดงูสวัดขึ้นมาได้ ดังนั้นจึงแนะนำให้ควรฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคงูสวัด หรือหากเกิดการติดเชื้อ ก็จะช่วยลดความรุนแรงของอาการได้ โดยเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของโรคงูสวัด ผู้ป่วยควรแยกของใช้ เครื่องนุ่มห่ม ผ้าเช็ดตัว ที่นอนของตัวผู้ป่วย กับเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่ยังไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน


งูสวัดพันรอบตัว ถึงตายจริงหรือ?

หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินว่า “เป็นงูสวัดหากเป็นรอบตัวแล้วอาจตายได้” จริงหรือไม่?! ในผู้ป่วยบางรายรอยโรคของงูสวัด อาจจะสามารถปรากฏขึ้นได้ทั้งสองข้าง จนทำให้มองเห็นเหมือนลักษณะงูพันรอบเอว หรือรอบตัวได้ ดังนั้น ความเชื่อที่ว่า งูสวัดขึ้นรอบตัวแล้วจะเสียชีวิต จึงเป็นเรื่องที่ไม่จริง!


การรักษา

โรคงูสวัดอาจเป็นซ้ำได้ โดยในการรักษาแพทย์จะทำการรักษาตามอาการ ร่วมกับการให้ยาต้านไวรัส เพื่อช่วยให้ผื่นหายเร็วขึ้น ลดอาการเจ็บปวด และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ

โรคงูสวัด ป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน

“โรคงูสวัด” เป็นโรคที่พบได้บ่อยขึ้นตามอายุ หรือปัจจัยอื่นๆ เช่น โรคประจำตัว ซึ่งส่งผลให้อาการปวด และภาวะแทรกซ้อนของผู้สูงวัยก็มักจะรุนแรงและมีอาการยาวนานกว่าผู้มีอายุน้อยกว่า

ปัจจุบัน มีวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดที่จะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ โดยแนะนำให้ฉีดในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป สำหรับผู้ที่มีโรคเรื้อรังหรือมีโรคอื่นๆ ที่ทำให้ภูมิต้านทานไม่แข็งแรง อาจเข้ารับการฉีดวัคซีนก่อนอายุ 60 ปีหรือตามคำแนะนำของแพทย์ โดยข้อมูลในปัจจุบันพบว่า วัคซีน 1 เข็มมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ดีที่สุดประมาณ 10 ปีนับจากวันที่ฉีด อย่างไรก็ดี การฉีดวัคซีนไม่ได้หมายความถึงจะไม่ทำให้เป็นโรคงูสวัดเลย แต่สามารถลดอุบัติการณ์ของการเกิดโรคหรือหากเกิดโรคก็อาจช่วยลดความรุนแรงของอาการได้

ข้อมูลสุขภาพ สูงอายุ
โทรหาเรา 1728 นัดหมายแพทย์ นัดหมายแพทย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า