โรคหัวใจในเด็กแรกเกิด เด็กแรกเกิดก็เป็นโรคหัวใจได้!
รู้หรือไม่ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของความพิการแต่กำเนิดทั้งหมด โดยจะพบว่า เด็กทุกๆ 8 คน ที่คลอดออกมาจากเด็กจำนวนหนึ่งพันคน จะมีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจพิการ ซึ่งถือเป็นปัญหาที่สำคัญมากในเด็ก

โรคหัวใจพิการ (Congenital Heart Disease) คือ ความผิดปกติของการพัฒนาการสร้างหัวใจตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดา โดยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดในเด็กมี 2 ชนิด คือ ชนิดที่มีอาการเขียว หรือมีออกซิเจนในเลือดต่ำ และชนิดไม่เขียว โดยปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิดนั้น อาจเกิดจาก
ความผิดปกติทางพันธุกรรม เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างของหัวใจหรือหลอดเลือดใกล้หัวใจ ซึ่งการสร้างหัวใจของทารกจะถูกกำกับด้วยสารทางพันธุกรรมที่เรียกว่า ยีน (Gene) โดยพบว่าเป็นสาเหตุได้ประมาณร้อยละ 5 ตัวอย่างเช่น กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม โดยพบว่าเด็กหลายคนที่ป่วยเป็นโรคนี้มักมีภาวะโรคหัวใจพิการด้วย
การได้รับยาบางอย่างในช่วงก่อนหรือระหว่างตั้งครรภ์ หรือสารบางอย่างที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก โดยก่อนรับยาควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง เพราะตัวยาบางชนิดไม่สามารถใช้ในระหว่างการตั้งครรภ์ และมีผลโดยตรงกับทารกในครรภ์
การปฏิบัติตัวที่ไม่ถูกต้องของมารดาขณะตั้งครรภ์ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การใช้สารเสพติดขณะตั้งครรภ์ เป็นต้น เพราะสารดังกล่าวอาจส่งผลต่อหัวใจและอวัยวะอื่นๆ ของเด็กในครรภ์

อาการที่อาจสงสัยว่าเด็กเป็นโรคหัวใจ
- หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว
- เล็บสีม่วงคล้ำ
- ดื่มนมน้อย เลี้ยงไม่โต
- เหงื่อออกมาก
- อ่อนเพลีย
โรคหัวใจในเด็ก – Pediatric Heart Disease
หากสังเกตพบว่าบุตรของท่านมีอาการดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาโดยกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในทันที ทั้งนี้ การรักษาภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิดขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของอาการ โดยในบางรายสามารถรักษาโดยทางยา หรือหากมีอาการรุนแรงต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดเท่านั้น
ปัจจุบัน สามารถวินิจฉัยโรคหัวใจพิการในทารกได้ตั้งแต่แรกเกิด โดยใช้วิทยาการทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเทคนิคใหม่ในการคัดกรองทารกที่มีหัวใจพิการแต่กำเนิดแทนการเจาะเลือด