ปวดไหล่ ยกแขนไม่สุด รักษาได้ อย่าปล่อยไว้เรื้อรัง

ข้อไหล่จัดเป็นข้อที่มีความซับซ้อนมากที่สุดในร่างกายมนุษย์ เมื่อเป็นโรคข้อไหล่แล้ว จะรักษายากที่สุด !! ต้องตรวจกันอย่างละเอียด ทั้งเอกซเรย์และ MRI ก่อนที่จะวินิจฉัยและให้การรักษาได้อย่างถูกต้อง บางครั้งก็ต้องทำกายภาพ ต้องผ่าตัดส่องกล้อง

สุขภาพข้อไหล่ – โรคข้อไหล่ที่พบบ่อย รักษาได้อย่างไร?

รู้จัก “ข้อไหล่” กันก่อน

ไหล่ของคนเรา ประกอบด้วยกระดูก 3 ส่วน ได้แก่ กระดูกไหปลาร้าส่วนปลาย (Clavicle) กระดูกสะบัก (Scapular) และกระดูกต้นแขน (Humerus)

หัวกระดูกต้นแขนนี้ จะมีลักษณะต่อเข้ากับบริเวณแอ่งของกระดูกสะบัก โดยจะมีกระดูกไหปลาร้า ซึ่งเชื่อมต่อกับกระดูกสะบักส่วนบนเป็นหลังคาคุ้มกันให้ จากนั้นเส้นเอ็นจะทำหน้าที่ในการเพิ่มความแข็งแรง ให้กับข้อไหล่ และปกคลุมด้วยกล้ามเนื้อ เพื่อทำให้แขนสามารถเคลื่อนไหวในทิศทางต่างๆ

โดยปกติข้อไหล่จะมีการเคลื่อนไหวมาก ธรรมชาติจึงสร้างถุงน้ำมา เพื่อช่วยในการรองรับน้ำหนัก และลดการเสียดสีของเนื้อเยื่อภายในข้อ ทำให้ข้อไหล่สามารถเคลื่อนไหวได้หลายทาง


ปวดไหล่ เกิดจากอะไร?

อาการเจ็บหรือปวดที่บริเวณข้อไหล่ หรือยกแขนข้างนั้นขึ้นไม่สุด กรณีที่เป็นมากจะไม่สามารถใช้มือข้างนั้นหวีผม หรือไขว้หลังได้! สาเหตุของอาการปวดไหล่ ที่พบได้บ่อยๆ เกิดจาก…

ข้อไหล่หลุด มักเกิดจากอุบัติเหตุ โดยเกิดการกระแทกที่บริเวณไหล่โดยตรง สามารถเห็นได้ชัด เพราะมีอาการปวดมากจนไม่สามารถขยับไหล่ได้ มองเห็นไหล่ผิดรูปอย่างชัดเจน เกิดอาการบวมในทันที

เอ็นข้อไหล่ฉีกขาด จะมีอาการปวดยอกในขณะที่มีการเคลื่อนไหวและเอ็นเกิดการฉีกขาด ในกรณีนี้หากได้พักข้อไหล่อย่างเพียงพอ อาการดังกล่าวสามารถหายได้ภายในประมาณ 1 เดือน

กระดูกหัก อาการรุนแรงเด่นชัด ปวดมาก และเขียวช้ำ ต้องรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์เพื่อดามกระดูกโดยทันที

ข้อไหล่ติดแข็ง เป็นผลที่เกิดขึ้นหลังเกิดการบาดเจ็บของข้อไหล่ในสาเหตุต่างๆ แล้วไม่ได้มีการเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย เนื่องจากผู้ป่วยปฏิบัติตัวไม่ถูกต้องในระหว่างการรักษา

โรคไหล่ติด ทำไมถึงเป็น?


ปวดไหล่ ทำอย่างไรดี? ปวดไหล่แบบไหน ต้องมาพบแพทย์

  • กรณีที่ปวดมาก ควรพักการใช้ข้อไหล่ และใช้ผ้าคล้องแขนห้อยคอประมาณ 2-3 วัน
  • เมื่อเริ่มมีอาการปวด ควรประคบไหล่ด้วยถุงน้ำแข็ง วันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 15-30 นาที
  • ห้ามบีบ นวด หรือตัดข้อไหล่ที่กำลังปวด เพราะจะทำให้ไหล่ถูกดึงรั้ง เกิดการอักเสบได้ง่าย
  • ไม่ควรนอนทับไหล่ข้างที่ปวดเป็นเวลานาน
  • ห้ามใช้แขนข้างที่ปวดยกหรือหิ้วของหนัก เพราะจะทำให้ไหล่ถูกดึงรั้ง เกิดการอักเสบได้ง่าย
  • ควรเริ่มบริหารข้อไหล่ เมื่ออาการปวดทุเลาลง โดยเริ่มต้นทำช่วงเวลาสั้นๆ ในแต่ละครั้งก่อน แล้วจึงค่อยเพิ่มขึ้นจนกระทั่งสามารถเคลื่อนไหวหัวไหล่ได้ปกติ
  • ออกกำลังบริหารกล้ามเนื้อไหล่อยู่เสมอ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหวของข้อไหล่
  • กรณีที่มีอาการปวดรุนแรงมาก หรือสงสัยว่ามีความอันตราย ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อทันที

ปวดไหล่ ป้องกันได้!

การบริหารข้อไหล่ จะช่วยรักษาทิศทางของการเคลื่อนไหวให้เป็นไปอย่างคล่องแคล่วว่องไว การบริหารข้อไหล่อย่างสม่ำเสมอ เช่นเดียวกันกับการออกกำลังกาย การเล่นกีฬา หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ที่จำเป็นต้องใช้ข้อไหล่ จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหวข้อ อีกทั้งยังเป็นการช่วยป้องกันและรักษาอาการปวดข้อไหล่ได้อีกวิธีหนึ่ง

“การบริหารข้อไหล่” วิธีการป้องกันอาการปวดไหล่ที่ดีที่สุด โดยควรทำเป็นประจำอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการเจ็บปวดและขณะที่ทำการบริหารอาจทำให้มีอาการปวดหรือรู้สึกขัดบ้างเมื่อหยุดพัก อาการดังกล่าวจะหายไปเอง

ท่าบริหารหัวไหล่ ช่วยป้องกันอาการปวดไหล่

ท่าพื้นฐานในการบริหารหัวไหล่ง่ายๆ สามารถทำได้ด้วยตนเอง จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหวข้อ อีกทั้งยังสามารถป้องกันและรักษาอาการปวดของข้อไหล่ได้

➀ ท่าแกว่งแขวน

  • ให้นอนคว่ำบนเตียงสูง หรือยืนก้มตัวก็ได้
  • ปล่อยให้แขนข้างที่เจ็บห้อยลง ค่อยๆ แกว่งแขนไปข้างหน้าและข้างหลัง โดยไม่เกร็งกล้ามเนื้อ
  • ขณะที่แกว่งแขนให้ใช้แรงเหวี่ยงแบบตุ้มนาฬิกา แกว่งให้แรงที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาจเพิ่มน้ำหนักที่มือด้วยซึ่งจะช่วยให้มีแรงเหวี่ยงเพิ่มมากขึ้น

➁ ท่าไต่ผนัง

  • ยืนหันหน้าเข้าหาผนัง โดยห่างจากผนังประมาณ 1 ฟุต
  • ใช้มือทั้งสองข้างแตะผนังและพยายามไต่ผนังให้สูงที่สุดเท่าที่ทำได้
  • ถ้าทำได้สูงมากพอแล้วเอาแขนลง ก้าวเท้าชิดผนังเข้าไปอีก เพื่อทำต่อไป

➂ ท่าไต่ผนังด้านข้าง

  • ยืนหันข้างให้ผนัง แขนข้างที่เจ็บยกมือไต่ผนังให้สูงที่สุด ลำตัวตั้งตรง ไม่ต้องยกไหล่ตาม

➃ ท่ามือไขว้หลัง

  • ยืนหันหน้าเข้าหาผนัง โดยให้ลำตัวชิดผนัง
  • ใช้มือข้างที่ไม่เจ็บไขว้ไปด้านหลัง แล้วไต่ตามแนวกระดูกสันหลังขึ้นไปให้สูงที่สุดเท่าที่ทำได้ ค้างไว้แล้วเอาลง

➄ ท่ายกไม้ด้านหน้า

  • ใช้อุปกรณ์ไม้กลมหรือผ้าขนหนู ที่มีความยาวพอให้มือทั้งสองข้างจับ
  • ใช้มือทั้งสองข้างจับไม้ไว้ ยกมือขึ้นเหนือศีรษะตรงๆ ทางด้านหน้าให้สูงที่สุดแล้วยกลง

➅ ท่ายกไม้ด้านหลัง

  • ใช้อุปกรณ์อันเดิม และใช้มือทั้งสองข้างจับไว้ ยกแขนขึ้นไปทางด้านหลังแล้วยกลง

➆ ท่ายกไม้ด้านซ้าย-ขวา

  • ใช้มือทั้งสองข้างจับไม้หรือผ้าขนหนูไว้ แล้วยกขึ้นสูง เอียงไปทางซ้าย ตั้งตัวตรง และจากนั้นย้ายไปทางขวา

➇ ท่ามือไหว้หลังจับไม้

  • ใช้มือข้างซ้ายจับปลายไม้หรือผ้าขนหนูด้านหนึ่งไว้
  • ไขว้มือไปด้านหลัง ให้ปลายของอุปกรณ์อีกด้านหนึ่งตั้งขึ้น ท่อนไม้หรือผ้าขนหนูชิดแผ่นหลัง
  • มืออีกข้างหนึ่งอยู่เหนือศีรษะ จับปลายอุปกรณ์อีกด้านหนึ่งไว้แล้วยกขึ้น


ข้อมูลสุขภาพ
โทรหาเรา 1728 นัดหมายแพทย์ นัดหมายแพทย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า