ก้อนเนื้องอกต่อมน้ำลายหน้าหู – อาการ วิธีการรักษา

พญ.ปิยมาภรณ์ อิทธิโสภณพิศาล
แพทย์เฉพาะทาง โสต ศอ นาสิกวิทยา


ทำความรู้จัก “เนื้องอกต่อมน้ำลายหน้าหู”

เนื้องอกต่อมน้ำลายหน้าหู (Parotid Tumor) เป็นเนื้องอกของต่อมน้ำลายขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย ซึ่งเป็นตำแหน่งที่พบเนื้องอกบ่อยที่สุด รองลงมาคือเนื้องงอกต่อมน้ำลายใต้คาง (Submandibular Tumor)

อาการสำคัญที่ทำให้คนไข้มาที่โรงพยาบาล คือ คลำได้ก้อนบริเวณหน้าหู อาจจะเริ่มจากขนาดเล็กและค่อยๆโตขึ้นอย่างช้าๆ

ในบางรายอาจมีอาการปวดที่ก้อนร่วมกับโตเร็วขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากติดเชื้อที่ก้อนเนื้องอกร่วมด้วย

สิ่งที่สำคัญเมื่อเราคลำได้ก้อนเนื้องอกที่หน้าหู คือ ควรได้รับการตรวจประเมินว่า ก้อนนั้นเป็นเนื้องอกของต่อมน้ำลาย (Parotid Gland) หรือเป็นต่อมน้ำเหลืองที่อักเสบโตขึ้น เพราะการรักษาจะแตกต่างกันออกไป

โดยแพทย์ผู้ตรวจรักษาจะทำการตรวจร่างกายอย่างละเอียด ประเมินลักษณะของก้อน ขนาด ความแข็ง การโตอย่างรวดเร็ว มีก้อนต่อมน้ำเหลืองที่คอโตร่วมด้วยหรือไม่ รวมทั้งตรวจเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของใบหน้าว่ามีภาวะอัมพาตใบหน้าร่วมด้วยหรือไม่

ในกรณีที่สงสัยว่าเป็นเนื้องอกของต่อมน้ำลายหน้าหู แพทย์จะทำการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคโดยทำการเจาะชิ้นเนื้อและส่งตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อดูว่าเป็นเนื้องอกชนิดใด ซึ่งเนื้องอกบริเวณนี้มักเป็นเนื้องอกชนิดที่ไม่เป็นมะเร็ง 67% และมีโอกาสเป็นมะเร็ง 25%


ก้อนเนื้องงอกต่อมน้ำลายหน้าหู รักษาอย่างไร?

หากก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่มากอาจจะทำการส่งตรวจ CT scan เพื่อดูว่าก้อนมีการกดเบียดโครงสร้างที่สำคัญด้วยหรือไม่?

เมื่อได้ผลชิ้นเนื้อแล้วแพทย์จะวางแผนการรักษา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วภาวะนี้มักรักษาโดยการผ่าตัดนำก้อนเนื้องอกออกซึ่งการผ่าตัดนั้น หากเป็นเนื้องอกธรรมดา จะมีวิธีผ่าตัดออกบางส่วน (Superficial Parotidectomy) หากก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่มากหรือเป็นมะเร็ง จะทำการผ่าตัดเนื้องอกรวมถึงต่อมน้ำลายหน้าหูข้างนั้นทั้งหมด (Total Parotidectomy)

ภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดที่พบได้คือ หน้าเบี้ยวหลังผ่าตัด (Facial Nerve Injury) ซึ่งถือว่าเป็นภาวะที่หายได้หากทำการผ่าตัดโดยแพทย์ที่มีความชำนาญ มีการเก็บเส้นประสาทเลี้ยงใบหน้าได้ รวมถึงอาจมีการใช้เครื่องมือในการติดตามเส้นประสาทขณะผ่าตัดเพื่อลดความเสี่ยงหน้าเบี้ยวถาวรหลังผ่าตัดได้ ส่วนภาวะอื่นๆ ที่เจอได้ เช่น การติดเชื้อหรือมีเลือดออกใต้แผลผ่าตัด เนื้อเยื่อบางส่วนที่เย็บมีเนื้อตาย เกิดภาวะน้ำลายรั่วที่แผลผ่าตัด หรือมีเหงื่อออกบริเวณใบหน้าที่ทำการผ่าตัด (Frey’s syndrome) ซึ่งภาวะทั้งหมดนี้สามารถลดอัตราการเกิดได้เมื่อวางแผนการผ่าตัดที่เหมาะสมและดูแลภายใต้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อคลำก้อนได้บริเวณหน้าหูควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจดูอย่างละเอียดเพราะหากเป็นเนื้องอกที่มีขนาดเล็ก การผ่าตัดก็จะทำได้ง่ายกว่าการปล่อยจนก้อนมีขนาดใหญ่รวมถึงความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดก็จะลดลงเช่นกัน


บทความทางการแพทย์
โทรหาเรา 1728 นัดหมายแพทย์ นัดหมายแพทย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า