‘โรคไอพีดี’ โรคติดเชื้อที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรวางใจ

นายแพทย์ธนกร กาญจนประดับ
กุมารแแพทย์โรคระบบหายใจ

” โรคไอพีดี “ โรคติดเชื้อที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรวางใจ

โรคไอพีดี คือ อะไร?

โรคไอพีดี (Invasive Pneumococcal Disease, IPD) คือ โรคติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรียที่มีชื่อว่า “นิวโมคอคคัส” (Streptococcal Pneumoniae) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่สามารถพบได้ภายในช่องปากของคนและไม่ก่อให้เกิดอาการผิดปกติในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรง แต่เชื้อจะก่อให้เกิดโรครุนแรงในผู้ที่มีความเสี่ยง โดยติดต่อกันผ่านคนสู่คน ทางละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย

การติดเชื้อนิวโมคอคคัสมีอาการตั้งแต่ไม่รุนแรง ได้แก่ คอหอยอักเสบ ทอนซิลอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ และอาจลุกลามจนมีอาการรุนแรง ได้แก่ ปอดอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างท่วงทัน

เชื้อนิวโมคอคคัส พบว่าเป็นเชื้อแบคทีเรียที่สามารถตรวจพบได้สามอันดับแรกของการติดเชื้อแบบรุนแรง ดังที่กล่าวมา โดยเฉพาะในเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี[1] เอกสารอ้างอิง


[1]  

ใครที่มีความเสี่ยง?

คนทั่วไปสามารถติดเชื้อนิวโมคอคคัสโดยไม่มีอาการรุนแรง แต่หากเกิดการติดเชื้อในคนที่มีความเสี่ยง จะก่อให้เกิดการติดเชื้อชนิดลุกลามหรือรุนแรงได้ คนที่มีความเสี่ยง ได้แก่

▪ เด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี
▪ ผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี
▪ ผู้ที่มีโรคประจำตัว (โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยที่ถูกผ่าตัดเอาม้ามออก หรือมีม้ามทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง โรคตับเรื้อรัง)
▪ ผู้ป่วยที่มีน้ำไขสันหลังรั่ว
▪ ผู้ป่วยที่มีการใส่อุปกรณ์ฝัง (Cochlear Implant)

อาการของโรคไอพีดี

โดยส่วนใหญ่การติดเชื้อที่พบเป็นหลักในเด็ก คือ เชื้อไวรัส ซึ่งมักหายได้เอง อย่างไรก็ตามผู้ปกครองควรดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะหากเกิดจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัส ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรง แย่ลงอย่างรวดเร็ว

อาการของผู้ป่วยที่ติดเชื้อนิวโมคอคคัส คือ มีไข้สูงคล้ายโรคติดเชื้อทั่วไป 2 – 3 วัน ความรุนแรงจะขึ้นกับอวัยวะที่ติดเชื้อหรือลุกลาม ได้แก่

▪ ติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน ได้แก่ คอหอยอักเสบ ทอนซิลอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ และไซนัสอักเสบ

▪ การติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ได้แก่ ปอดอักเสบ (ปอดบวม) ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ไอ หายใจหอบเหนื่อยหรือหายใจลำบาก เจ็บหน้าอก หากมีความรุนแรงมากอาจทำให้เกิดภาวะหนองหรือฝีในโพรงเยื่อหุ้มปอด

▪ การติดเชื้อชนิดลุกลาม ได้แก่

1. การติดเชื้อในกระแสเลือด คือ มีเชื้อนิวโมคอคคัสในเลือด ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ หรือตัวเย็น ปลายมือปลายเท้าเขียวคล้ำเย็น ซึมลง หายใจเร็ว ชีพจรเต้นเร็ว กระสับกระส่าย เหงื่อออก ตรวจวินิจฉัยจากการนำเลือดไปส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อเพาะเชื้อ ถือเป็นการติดเชื้อที่มีความรุนแรงสูงอาจทำให้ช็อคและเสียชีวิตได้

2. เยื่อหุ้มสมองอักเสบ คือ มีการติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ซึม อาเจียน คอแข็ง และสามารถชักได้ ในเด็กเล็กอาจมาด้วยอาการไข้สูง ซึม ชัก อาเจียน ไม่ดูดนม  และอาจตรวจพบกระหม่อมโป่ง วินิจฉัยจากการเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง

การรักษา

การติดเชื้อนิวโมคอคคัส สามารถรักษาได้โดยการให้ยาปฏิชีวนะ แต่ปัจจุบันเริ่มมีบางสายพันธุ์ย่อยของเชื้อนิวโมคอคคัสดื้อต่อยาปฏิชีวนะ ทำให้การรักษามีความซับซ้อนมากขึ้น อาจต้องให้ยาปฏิชีวนะขั้นสูงขึ้นได้

ภาวะแทรกซ้อน

แม้ว่าสามารถให้การรักษาโดยการให้ยาปฏิชีวนะ หากรักษาไม่ทันอาจเกิดความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต และหากมีการติดเชื้อที่รุนแรง แม้รักษาหายก็ยังอาจเกิดความพิการหลงเหลือ เกิดจากผลต่ออวัยวะที่ติดเชื้อนั้นอย่างถาวร เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาจก่อให้เกิดความพิการทางการได้ยิน หรือพัฒนาการช้า ปอดอักเสบจนเกิดหนองในโพรงเยื่อหุ้มปอดอาจทำให้เกิดเป็นโรคปอดเรื้อรัง ส่งผลต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน

การป้องกัน

▪ การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส ซึ่งนับเป็นวิธีที่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังสามารถป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ดื้อยาได้ดี
▪ ปลูกฝังเด็กเรื่องสุขอนามัยส่วนบุคคล ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนและหลังทำกิจกรรมต่างๆ ปิดปาก ปิดจมูกทุกครั้งเวลาไอหรือจาม
▪ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย
▪ การกินนมแม่ในทารก เนื่องจากทารกจะได้รับภูมิต้านทานที่มีในน้ำนมแม่

วัคซีนป้องกันโรคไอพีดี

ปัจจุบันโรคไอพีดี มีวัคซีนที่สามารถป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรให้ในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคชนิดลุกลามหรือรุนแรง หรือสามารถให้ในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปีที่ต้องการป้องกันโรค ในประเทศไทยมีวัคซีนไอพีดี 2 ชนิด ได้แก่

1. PCV (Pneumococcal Conjugate Vaccine) เป็นวัคซีนป้องกันโรค IPD ใช้ในเด็กเล็กกว่า 2 ปี ที่มีใช้ในปัจจุบันมี 2 แบบ คือ วัคซีนชนิด 10 สายพันธุ์ (PCV10) และ 13 สายพันธุ์ (PCV13)

▪ หากเริ่มฉีดตั้งแต่อายุ 2 เดือน ฉีดวัคซีน PCV (10 หรือ 13 สายพันธุ์) เมื่ออายุ 2, 4, 6 เดือน และฉีดกระตุ้นอีก 1 ครั้งที่อายุ 12 – 15 เดือน โดยห่างจากเข็มสุดท้ายอย่างน้อย 2 เดือน (รวมฉีดทั้งหมด 4 ครั้ง)
▪ หากเริ่มฉีดหลังอายุ 6 เดือน แต่น้อยกว่า 1 ปี ให้ฉีด 3 เข็ม โดยสองเข็มแรกฉีดห่างกัน 2 เดือน และฉีดกระตุ้นอีก 1 ครั้ง เมื่ออายุ 12 – 15 เดือน
▪ หากเริ่มฉีดหลังอายุ 1 ขวด ฉีด 2 เข็มห่างกันสองเดือน

2. PPSV (Pneumococcal Polysaccharide Vaccine) ที่มีใช้ในปัจจุบัน คือ วัคซีนชนิด 23 สายพันธุ์ (PPSV23) เป็นวัคซีนป้องกันโรค IPD ใช้ในเด็กที่มีอายุมากกว่า 2 ปี ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ หรือผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยง

คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการป่วยของลูกอยู่เสมอ
หากลูกมีไข้สูง อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน

บทความทางการแพทย์
โทรหาเรา 1728 นัดหมายแพทย์ นัดหมายแพทย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า