โรคสุดฮิตต้อนรับช่วงเปิดเทอม ที่พ่อแม่ต้องทำความรู้จัก

#ลูกเปิดเทอมแล้ว พ่อแม่ต้องระวัง! ทำความรู้จัก โรคสุดฮิต ที่เด็กๆ มักติดจากโรงเรียน


นพ.อภัย อักษราวณิชย์
กุมารแพทย์

ช่วงนี้กลับมาเปิดเทอมกันแล้ว เด็กๆ สามารถเผชิญกับอาการเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่เสมอ เรามักจะพบโรคเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยๆ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรทำความรู้จัก เพื่อที่จะได้สังเกตอาการ และป้องกัน โดยโรคที่มักพบบ่อยๆ หรืออาจเรียกว่า โรคยอดฮิตในช่วงเปิดเทอม มีหลายโรคโดยโรคที่พบบ่อย ได้แก่ โรค 2 ระบบ ดังนี้

กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ไข้หวัด, ไข้หวัดใหญ่, RSV และ โควิด-19

ซึ่งก่อให้เกิดโรคทั้งทางเดินหายใจส่วนบน และทางเดินหายใจส่วนล่าง โดยอาการที่สังเกตได้เมื่อเด็กๆ ติดเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจ คือ ไอ จาม มีน้ำมูก คัดจมูก เจ็บคอ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย

อาการที่คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตและรีบพามาโรงพยาบาลทันที คือ เด็กยังคงมีไข้สูงอย่างต่อเนื่อง ซึมลง รับประทานอาหารได้น้อยลง

กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจนี้ ติดต่อได้จากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ที่มีอาการ ไอ จาม รดกัน สัมผัสโดนสารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วย โดยที่ไม่ได้มีการป้องกัน

คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้เด็กๆ รักษาสุขอนามัยของตนเอง เมื่อต้องไปโรงเรียน หรือทุกครั้งที่ออกจากบ้าน พร้อมเตรียมของใช้ส่วนตัวที่จำเป็น เช่น แก้วน้ำ กระติกน้ำ ช้อนส้อม กระดาษทิชชู แอลกอฮอล์เจล หน้ากากอนามัย เป็นต้น สิ่งสำคัญ คือ ควรสอนให้เด็กๆ หมั่นล้างมืออยู่เสมอ รู้จักการใส่และเก็บหน้ากากอนามัยให้ถูกวิธี และเมื่อกลับถึงบ้าน ควรอาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการได้รับเชื้อ

วิธีเช็ดตัว “ลดไข้” ที่ถูกต้อง ควรทำอย่างไร ?


กลุ่มโรคระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ อาหารเป็นพิษ และลำไส้อักเสบ

สาเหตุหลักของการเกิดโรคระบบทางเดินอาหาร เกิดจากการได้รับเชื้อผ่านการรับประทาน ไม่ว่าจะเป็นความสะอาดของภาชนะใส่อาหาร จาน ชาม ช้อน ส้อม , ความสะอาดของอาหาร และ วิธีการกิน เช่น เด็กๆ อาจหยิบของรับประทานเข้าปากโดยไม่ล้างมือ

อาการที่สังเกตได้ของกลุ่มโรคระบบทางเดินอาหาร เด็กจะมีอาการอาเจียน ถ่ายเหลว ปวดท้อง มีไข้ ปวดศีรษะ และปวดเมื่อยตามร่างกาย

ซึ่งหากหลังจากที่ได้รับเชื้อมา และรักษาตามอาการประมาณ 1-2 วัน แต่อาการยังไม่ดีขึ้น เด็กมีอาการไข้สูงอย่างต่อเนื่อง ซึมลง รับประทานได้น้อยลง หรือไม่อยากอาหาร อาเจียนมาก ถ่ายเหลวอย่างต่อเนื่อง มีอาการที่บ่งบอกถึงภาวะขาดน้ำ คือ เด็กจะปากแห้ง ซึม ปัสสาวะลดลงและมีสีเข้มขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพามาโรงพยาบาลทันที เพราะเด็กอาจเกิดภาวะช็อคได้

วิธีการป้องกันโรคกลุ่มนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้เด็กๆ เลือกรับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ ไม่มีแมลงวันตอม ไม่ใช้ภาชนะที่ปนเปื้อน ไม่หยิบของที่หล่นพื้นมารับประทาน สอนให้ใช้ช้อนส้อมเมื่อต้องรับประทานแทนการใช้มือหยิบ และล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร


นอกจากการรักษาสุขอนามัยของเด็กๆ แล้ว การป้องกันอีกวิธีหนึ่ง คือ การรับวัคซีนเสริม หรือวัคซีนทางเลือก ซึ่งจะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันและป้องกันโรคต่างๆ ได้

  • วัคซีนไอพีดี ช่วยป้องกันโรคปอดบวม ป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส  ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคปอดอักเสบชนิดรุนแรง โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และการติดเชื้อในกระแสเลือด ด้วยการฉีดวัคซีนไอพีดี ซึ่งเป็นวิธีที่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังสามารถป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ดื้อยาได้ดี
    .
  • วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อที่รุนแรง และลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กเล็ก โดยสามารถรับวัคซีนได้ตั้งแต่เด็กอายุ 6 เดือนเป็นต้นไป โดยในเด็กที่อายุน้อยกว่า 9 ปีที่รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ครั้งเเรก จะต้องได้รับ 2 ครั้ง ในปีแรกนั้น โดยห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน หลังจากนั้น ควรได้รับการฉีดวัคซีน ทุกๆ ปี ปีละ 1 ครั้ง
  • .
    วัคซีนโรต้า ไวรัสโรต้าเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องร่วงรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กเล็กที่พบบ่อย ในปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้วัคซีนโรต้า เป็นวัคซีนพื้นฐานที่เด็กไทยทุกคนควรได้รับ
    .
  • วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ โรคไวรัสตับอักเสบเอ พบได้บ่อย โดยติดต่อผ่านการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค เด็กสามารถรับวัคซีนนี้ได้เมื่อเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในวัยผู้ใหญ่ได้อีกด้วย
    .
  • วัคซีนโควิด-19 เป็นอีกหนึ่งวัคซีนที่เด็กควรได้รับเพื่อป้องกันการเกิดโรครุนแรง ลดอาการเจ็บป่วย ลดอัตราการพักรักษาที่โรงพยาบาลสูงถึง 90% และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยควรรับวัคซีนชนิดนี้เมื่อเด็กมีอายุ 5 ปีขึ้นไป ตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ (ข้อมูล ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2565)

เรื่องต้องรู้! อาการที่ควรเฝ้าระวังหลังเด็กๆ ได้รับวัคซีนโควิด

ไปโรงเรียนยุคโควิด-19 เตรียมพร้อมอย่างไรดี?

(อ้างอิงจาก: คำแนะนำการเตรียมความพร้อมในการเปิดเรียนและการดูแลเด็กปฐมวัย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2565)

  • ผู้ปกครองควรทำความเข้าใจกับนโยบาย แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการป้องกัน คัดกรอง ค้นหาผู้ป่วย และการจัดการกับผู้ป่วยติดเชื้อของโรงเรียน และบอกให้ลูกรับทราบ และสอนให้ลูกปฏิบัติตาม และผู้ปกครองปฏิบัติตามเป็นตัวอย่างด้วย
  • เตรียมของใช้ส่วนตัวที่จำเป็นในการไปโรงเรียน และการทำความสะอาด อุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสมและเพียงพอ เช่น แก้วน้ำ ช้อนส้อม ภาชนะ กระติกน้ำ กระดาษทิชชู แอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัยหลายชิ้น (สำหรับเปลี่ยน เพราะอาจสกปรก เปียกน้ำ เปียกฝน หรือเกิดความชื้น)
  • สอนการทำความสะอาดที่ถูกวิธี และทำเป็นประจำ เช่น ล้างมือบ่อยๆ ก่อน-หลังเล่น ทำกิจกรรมต่างๆ รับประทานอาหาร เมื่อต้องจับของใช้ร่วมกัน จับสิ่งสกปรก หรือขยะ เป็นต้น
  • สอนการใช้หน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี ตั้งแต่การใส่ การพับเก็บ การเปลี่ยนหน้ากากใหม่ เมื่อเปียกน้ำหรือตกพื้นสกปรก และใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา โดยเฉพาะในพื้นที่ปิด พื้นที่ที่มีการระบายอากาศไม่ดี หรืออากาศไม่ถ่ายเท (ยกเว้นมีข้อห้ามในการใส่หน้ากากอนามัย เช่น เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี เด็กที่มีปัญหาทางกล้ามเนื้อ ปัญหาระบบประสาท ปัญหาด้านพัฒนาการล่าช้า)
  • ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามนโยบายตรวจคัดกรองของโรงเรียนอย่างเคร่งครัด เช่น การตรวจวัดอุณหภูมิ การซักถามประวัติ อาการ ความเสี่ยงสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย( ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้อาจสร้างความหงุดหงิดใจ หรือทำให้ผู้ปกครองเสียเวลาไปบ้าง) และปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณครู กรณีที่พบว่า อุณหภูมิสูงกว่า 37.5 องศา ก็ควรพาลูกกลับบ้านไปดูอาการ หรือไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจวินิจฉัย ไม่ฝ่าฝืนคำแนะนำของครูที่จะขอให้รับลูกเข้าไปในโรงเรียน เพราะอาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อไปสู่เด็กคนอื่นๆ ได้
  • แนะนำลูกให้พยายามอยู่ในสถานที่มีอากาศถ่ายเท หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับคนอื่นๆ ในระยะ 1 เมตร หลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มรับประทานอาหาร ขนมร่วมกัน หรือนั่งใกล้ชิดกัน
  • ประเมินความเสี่ยงการติดเชื้อด้วยตนเองก่อนไปโรงเรียน แนะนำตรวจ ATK เมื่อมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือมีอาการเข้าข่ายการติดเชื้อ
  • ผู้ปกครองทุกท่าน และเด็กที่อยู่ในเกณฑ์ที่รับวัคซีนได้ แนะนำให้รับวัคซีนตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข
  • หากลูกหรือผู้ปกครอง มีอาการเสี่ยงติดเชื้อ ต้องหยุดอยู่บ้าน ไม่พาไปโรงเรียน และอาจไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา และแจ้งให้คุณครูทราบโดยเร็ว
  • ผู้ที่ติดเชื้อให้เข้ารับการรักษาโดยเร็ว และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
  • เด็กที่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และไม่มีอาการ และรับวัคซีนครบตามเกณฑ์ และสามารถปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อได้อย่างเคร่งครัด
    • กรณีผลตรวจ ATK เป็นลบ (-) ให้หยุดกักตัวที่บ้าน 5 วัน และตรวจ ATK ซ้ำเมื่อครบกักตัว หากผลเป็นลบ สามารถกลับไปเรียนได้ตามปกติ งดการเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นการรวมกลุ่มจำนวนมาก และใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และแนะนำให้ตรวจ ATK อีกครั้งในวันที่ 10
    • กรณีผลตรวจ ATK เป็นบวก (+) หรือมีอาการแสดงการติดเชื้อ ควรหยุดเรียน และไปโรงพยาบาลทันที
  • ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง กลุ่มที่เป็นเด็กเล็ก ซึ่งมีข้อจำกัดในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อ กล่าวคือ ไม่สามารถใส่หน้ากากอนามัย หรือรับวัคซีนได้ แนะนำให้กักตัวอยู่ที่บ้าน 10 วัน

“อย่างที่หมอได้อธิบายไปในข้างต้น อาการเจ็บป่วยต่างๆ เกิดได้ตลอดเวลา และไม่ได้มีเพียงโรค Covid-19 ที่ต้องระวัง แต่ยังมีโรคติดเชื้อที่สามารถเกิดกับเด็กๆ ได้อีกหลายโรค ดังนั้น เพื่อสุขภาพลูกน้อยของเรา คุณพ่อคุณแม่ควรทำความรู้จักกับโรคต่างๆ สอนลูกให้รู้จักป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้ออย่างถูกวิธี และหากมีอาการป่วยจะได้รีบพามาโรงพยาบาลและรับการรักษาอย่างทันท่วงที”

นพ.อภัย อักษราวณิชย์ – กุมารแพทย์

บทความทางการแพทย์ แม่และเด็ก
โทรหาเรา 1728 นัดหมายแพทย์ นัดหมายแพทย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า