แพ้ยา..อันตรายกว่าที่คิด

“หลังกินยาแล้วมีผื่นขึ้น”

“มีตาบวม ปากบวมหลังกินยา”

อาการเหล่านี้ บ่งบอกว่าลูกของท่าน อาจแพ้ยา ควรหยุดยาและปรึกษาแพทย์

แพ้ยา (Drug allergy)

คือ อาการไม่พึงประสงค์จากยาที่แสดงอาการคล้ายคลึงกับโรคภูมิแพ้

องค์การอนามัยโลก แบ่งอาการไม่พึงประสงค์จากยาเป็น 2 รูปแบบได้แก่

  1. อาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นจากฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ทำให้คาดเดาการเกิดอาการได้ อาการเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับขนาดยาที่ได้รับ เช่น อาการง่วงนอนจากยาแก้แพ้ อาการตับเสบจากยารักษาวัณโรค
  2. อาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นจากกลไกอื่นที่ไม่เกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา เช่น ระบบภูมิคุ้มกันเกิดปฏิกิริยาต่อต้านยา ทำให้ไม่สามารถคาดเดาการเกิดอาการได้ อาการไม่พึงประสงค์ชนิดนี้ไม่มีความสัมพันธ์กับขนาดยาที่ผู้ป่วยได้รับ อาการที่เกิด ได้แก่ ผื่นลมพิษ หรือ แพ้ยารุนแรงที่อันตรายถึงชีวิต (anaphylaxis)เป็นต้น

การแพ้ยา จัดเป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นจากกลไกอื่นที่ไม่เกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา โดยที่การแพ้ยาไม่จำเป็นต้องแสดงอาการตั้งแต่ครั้งแรก อาจมีอาการแพ้หลังใช้ยาในอนาคตได้ 

อาการแพ้ยา

  • ผื่นแดงหรือผื่นลมพิษ
  • ตาหรือปากบวม
  • มีน้ำมูกหรือคัดจมูก ไอหรือหายใจเหนื่อยหอบ
  • คลื่นไส้ อาเจียนหรือถ่ายเหลว
  • อาการแพ้รุนแรงที่อันตรายถึงชีวิต (anaphylaxis)
  • อาการผื่นผิวหนังรุนแรงที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน ได้แก่ Stevens-Johnson SyndromeและToxic Epidermal Necrolysis) จะมีผื่นแพ้ยาที่เยื่อบุทั่วร่างกาย เช่น ในปาก หลอดอาหารลำคอ หลอดลม กล่องเสียง ช่องคลอด รูปัสสาวะ และทวารหนัก

ผู้ป่วยอาจแสดงอาการแพ้ยาทันทีหลังได้รับยาภายใน 1-6 ชม. หรือแสดงอาการภายหลังโดยอาจแสดงอาการแพ้ยา เมื่อได้รับยามากกว่า 1 ชม.หรืออาจนานถึง 6 สัปดาห์

การแพ้ยาที่พบบ่อย

  • ยาปฏิชีวนะ(ยาฆ่าเชื้อ) ได้แก่ กลุ่มยาเพนิซิลลิน (Penicillin) กลุ่มซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamides)เป็นต้น
  • ยากันชัก
  • ยาแอสไพรินและยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์(NSAIDs)
  • ยาเคมีบำบัด

การวินิจฉัยการแพ้ยา

จากประวัติเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอสำหรับการยืนยันว่าผู้ป่วยแพ้ยาจริง จากการสำรวจผู้ป่วยเด็กที่มาตรวจในแผนกผู้ป่วยนอก พบว่าเมื่อนำผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยามาตรวจเพิ่มเติม มีผู้ป่วยเพียงร้อยละ 10 ที่มีผลการตรวจยืนยันว่าแพ้ยาจริง ส่วนผู้ป่วยอีกร้อยละ 90 ผ่านการทดสอบสามารถกลับไปใช้ยาต่อได้โดยไม่เกิดอันตราย

  • การทดสอบแพ้ยาทางผิวหนัง(Skin test) เป็นการทดสอบโดยการใช้ยาที่คาดว่าเด็กจะแพ้ในปริมาณเล็กน้อย สะกิดเข้าไปภายใต้ผิวหนังหากเด็กที่มีอาการแพ้ ผิวหนังจะแดง คัน และเป็นตุ่มขึ้นมา การทดสอบนี้มีความแม่นยำสูงในกลุ่มที่แพ้ยาเพนิซิลลินควรทำหลังจากเกิดอาการ 4 ถึง 6 สัปดาห์
  • การทดสอบโดยทดลองให้ยาที่สงสัยว่ามีอาการแพ้ (Drug provocation test) โดยต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

การรักษาการแพ้ยา

  • หลีกเลี่ยงยาที่แพ้
  • หากสงสัยแพ้ยาให้หยุดยาทันทีและรีบมาพบแพทย์ เพื่อป้องกันการแพ้ยาที่รุนแรงที่อันตรายถึงชีวิต
  • พกบัตรแพ้ยาทุกครั้งที่ไปพบแพทย์หรือเภสัชกร              
บทความทางการแพทย์
โทรหาเรา 1728 นัดหมายแพทย์ นัดหมายแพทย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า