“เมตาบอลิกซินโดรม” สัญญาณเตือนภัยโรคเรื้อรัง

     ในยุคปัจจุบันที่การแพทย์เจริญก้าวหน้าขึ้น โรคร้ายแรงในอดีตก็มียารักษาหรือไม่ก็มีวัคซีนป้องกัน แต่ทว่าโรคที่มีผู้ป่วยมากที่สุดในปัจจุบันกลับเป็นโรคเรื้อรังได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันสูง โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง ซึ่งมักจะมาเงียบๆ โดยไม่ให้เรารู้ตัว หมออยากให้ทุกคนที่อ่านมาถึงตรงนี้ได้สำรวจตนเองกันค่ะว่าเรามีโอกาสเป็นโรคเรื้อรังดังกล่าวหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ภัยดังกล่าวเกิดกับตัวคุณหรือคนใกล้ชิดของคุณ
    อันดับแรกให้สำรวจตนเองกันก่อนว่ามีภาวะอ้วนลงพุงหรือไม่โดยดูจากรอบเอว คุณผู้ชายถ้ามีรอบเอวตั้งแต่ 90 เซนติเมตร (หรือ 36 นิ้ว) ขึ้นไป และในคุณผู้หญิงถ้ามีรอบเอวตั้งแต่ 80 เซนติเมตร (หรือ 32 นิ้ว) อันนี้เป็นสัญญาณที่เราไม่ควรนิ่งนอนใจนะคะ เพราะว่าคุณอาจจะกำลังมีภาวะเมตาบอลิกซินโดรม (metabolic syndrome) อยู่ก็ได้ ศัพท์คำนี้หลายคนอาจเคยได้ยินกันมาบ้างเป็นคำที่ตั้งโดยแพทย์ชาวอเมริกันชื่อ นพ.เจอรัลด์ เรเวน ซื่งพบว่ามีกลุ่มความผิดปกติที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ในภาษาไทยมักจะเรียกว่า “โรคอ้วน”
     ถ้าจะให้แน่ในว่าเป็นเมตาบอลิกซินโดรมหรือไม่ก็ต้องมาตรวจร่างกายและตรวจเลือดกับแพทย์นะคะ  ซึ่งจะพบความผิดปกติต่อไปนี้
1. มีระดับไตรกลีเซอไรด์(triglyceride)ตั้งแต่ 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป
2. มีระดับเอชดีแอลคลอเรสเตอรอล(HDL cholesterol)น้อยกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตรในผู้ชาย หรือน้อยกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตรในผู้หญิง
3. มีระดับความดันโลหิตตั้งแต่ 130/85 มิลลิเมตรปรอท
4. มีระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารตั้งแต่ 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป หรือมีระดับน้ำตาลหลังอาหาร 2 ชั่วโมงตั้งแต่ 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป
   ถ้ามีความผิดปกติดังกล่าวตั้งแต่ 2 ใน 4 ข้อ แสดงว่าคุณกำลังเป็น 1 ใน 5 คนที่มีความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่าค่ะ
     จะเห็นได้ว่าการวินิจฉัยภาวะเมตาบอลิกซินโดรมนี้เป็นการตรวจเกี่ยวกับโรคเบาหวาน โรคไขมันและโรคความดันสูงใช่ไหมคะ ดังนั้นถ้าตรวจพบว่าเป็นทั้ง 3 โรคนี้ก็จะต้องทำการรักษาค่ะ แต่ถ้าคุณยังไม่เป็นโรค แต่เกือบๆ จะเป็น ต่อไปนี้คือสิ่งที่ควรปฏิบัติค่ะ
1. การออกกำลังกาย ปัจจุบันคนเรามีชีวิตที่มีความสะดวกสบาย กิจกรรมที่ต้องลงมือลงแรงก็มีเครื่องอำนวยความสะดวกเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส เราจึงต้องออกกำลังกายให้เพียงพอเพื่อให้ไขมันหน้าท้องลดลง ถ้าน้ำหนักตัวลดลงความดันโลหิตก็จะลดลงด้วย นอกจากนี้ทำให้ไขมันไตรกลีเซอไรด์ลดลง น้ำตาลในเลือดลดลง และระดับเอชดีแอลคลอเรสเตอรอลจะสูงขึ้น ดังนั้นเราควรจะออกกำลังกายครั้งละ 30-60 นาที อย่างน้อย 3-5 วัน/สัปดาห์
2. การควบคุมอาหาร ให้หลีกเลี่ยงอาการประเภทคาร์โบไฮเดรต ได้แก่ น้ำหวาน ขนมหวาน และเบเกอรี่ เป็นหัวใจสำคัญในการรักษาภาวะเมตาบอลิกซินโดรมนี้ได้ดียิ่งกว่าการลดอาหารประเภทไขมันเพียงอย่างเดียวเสียอีก
   
   ฟังดูไม่ยากเลยใช่ไหมคะสำหรับการป้องกันโรคเบาหวาน โรคความดันสูง โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง หมอหวังว่าทุกท่านจะสามารถนำความรู้นี้ไปใช้ในการดูแลสุขภาพของตัวเองอย่างต่อเนื่องให้แข็งแรงขึ้นทุกๆวัน ป้องกันไว้ก่อน เริ่มตั้งแต่วันนี้ยังไม่สายแน่นอนค่ะ
 

บทความทางการแพทย์
โทรหาเรา 1728 นัดหมายแพทย์ นัดหมายแพทย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า