ผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ผ่านกล้อง

นายแพทย์นเรนทร์ สันติกุลานนท์
ศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่แและทวารหนัก

 

“ผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ผ่านกล้อง”

 

รู้จัก “มะเร็งลำไส้ใหญ่”

มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon Cancer) สำหรับคนไทยถือเป็นภัยร้ายใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิด โดยพบโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นอันดับ 3 ในเพศชาย และอันดับ 5 ในเพศหญิง ที่มีวิถีชีวิตเร่งรีบเริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามสังคมตะวันตกมากขึ้นทุกวัน ซึ่งมากกว่า 90% ของมะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดในคนที่อายุมากกว่า 50 ปี เป็นมะเร็งที่เกิดกับส่วนหนึ่งในลำไส้ใหญ่ตั้งแต่ส่วนที่ต่อจากลำไส้เล็กไปจนถึงส่วนปลายที่ติดกับทวารหนัก การเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนมากจะเริ่มจากเนื้อเยื่อที่มีลักษณะเป็นต่อมในลำไส้ใหญ่ และก่อนที่เซลล์จะกลายเป็นมะเร็งอาจพบลักษณะคล้ายติ่งเนื้องอกในลำไส้ที่ถูกปล่อยให้ค่อยๆ งอกโตขึ้นจนเกิดการพัฒนากลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ อาการมะเร็งลำไส้ใหญ่มีทั้งหมด 4 ระยะ โดยในแต่ละระยะมีอัตราการหายขาดจากโรคที่แตกต่างกันไป ดังนี้

มะเร็งระยะที่ 1 – อาการมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะแรก เป็นระยะที่ยังไม่มีการลุกลาม อัตราการหายขาดสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด

มะเร็งระยะที่ 2 – เป็นระยะที่เริ่มลุกลาม โดยเซลล์มะเร็งจะทะลุเข้ามาในชั้นกล้ามเนื้อของลำไส้ และอาจลามไปถึงเยื่อหุ้มลำไส้ เนื้อเยื่อส่วนอื่นๆ หรืออวัยวะข้างเคียง

มะเร็งระยะที่ 3 – มะเร็งจะลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง ทำให้ต้องทำการผ่าตัดนำต่อมน้ำเหลืองออกให้มากที่สุด และต้องมีการทำเคมีบำบัดด้วยเพื่อไม่ให้มะเร็งฟื้นตัวและกลับมาลุกลามได้

มะเร็งระยะที่ 4 – ระยะสุดท้ายถือเป็นระยะที่ค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากมะเร็งได้แพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ โอกาสหายขาดค่อนข้างต่ำ ในการรักษาจะต้องทำการผ่าตัดเพื่อตัดอวัยวะบางส่วนที่เป็นมะเร็งออก และทำเคมีบำบัดร่วมด้วย

 

มะเร็งลำไส้ อาการเป็นอย่างไร

ผู้ป่วยแต่ละคนอาจมีอาการที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับขนาดและบริเวณที่เกิดเนื้องอก ในผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่มีอาการในช่วงแรกเริ่ม แต่เมื่อโรคเกิดการพัฒนาจนรุนแรงขึ้นจึงจะมีอาการ ซึ่งอาการที่พบได้บ่อย คือ มีพฤติกรรมการขับถ่ายเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม รู้สึกถ่ายไม่สุด ปวดท้อง รู้สึกแน่นอึดอัดบริเวณช่วงท้องเหมือนมีแก๊สในท้อง ท้องอืด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และมีน้ำหนักลงโดยไม่มีสาเหตุ ดังนั้นการตรวจสุขภาพ ตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้รู้เท่าทันภาวะของโรคที่เกิดขึ้นกับร่างกาย

ปัจจุบันมีวิธีการตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ เป็นวิธีการที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการประเมินปัญหาในลำไส้ใหญ่ โดยใช้กล้องส่องลำไส้ใหญ่ตรวจหาติ่งเนื้อได้ตลอดทั้งลำไส้ใหญ่ และหากพบรอยโรคผิดปกติหรือติ่งเนื้อ ก็สามารถตัดชิ้นเนื้อหรือติ่งเนื้อออกได้ทางกล้อง และนำไปส่งตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อประกอบการวางแผนการรักษาขั้นต่อไป

 

การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่

ในการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่นั้นเป็นการรักษาร่วมกันจากหลายวิธี คือ

  • การผ่าตัด

  • การใช้รังสีรักษา

  • การทำคีโมหรือเคมีบำบัด

การรักษาหลัก ก็คือ การผ่าตัด ส่วนการใช้รังสีรักษาและเคมีบำบัดขึ้นอยู่กับระยะของโรค ตำแหน่ง ขนาดของก้อนมะเร็ง การกระจายของมะเร็ง และสุขภาพความแข็งแรงของผู้ป่วย โดยต้องอาศัยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการวางแผนการรักษาที่ดีที่สุดเพื่อให้ผู้ป่วยมีความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ในปัจจุบันในการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นเทคนิคการผ่าตัดเปิดแผลขนาดเล็กที่มีผลข้างเคียงของการรักษาน้อยกว่าการเปิดแผลขนาดใหญ่ และได้รับความนิยมมากที่สุด คือ “การผ่าตัดส่องกล้อง (Minimal Invasive Surgery)” เป็นการผ่าตัดโดยใช้กล้องเรียวเล็กที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดเพียง 10 มิลลิเมตร , 5 มิลลิเมตร หรือ เพียง 3 มิลลิเมตร ที่สามารถขยายภาพและเห็นภาพได้ชัดกว่าปกติ ส่องเข้าไปในช่องท้องตรงจุดที่เจาะผ่านผนังหน้าท้อง โดยดูภาพผ่านจอทีวีในขณะทำการผ่าตัดแทนการผ่าตัดผ่านแผลใหญ่ ผลการผ่าตัดจึงออกมาดี มีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กลงประมาณ 1 – 2 เซนติเมตรเท่านั้น เนื้อเยื่อจึงได้รับความบาดเจ็บน้อย ลดอาการเจ็บแผล ลดโอกาสการเกิดแผลติดเชื้อได้เป็นอย่างดี และใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นน้อยลง ผู้ป่วยจึงสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น

 

หมายเหตุ: ข้อห้ามในการผ่าตัดส่องกล้อง ผู้ป่วยที่เซลล์มะเร็งมีระยะลุกลามไปอวัยวะข้างเคียงแล้ว หรือ ผู้ที่เคยผ่าตัดช่องท้องมาก่อน

 

 

บทความทางการแพทย์
โทรหาเรา 1728 นัดหมายแพทย์ นัดหมายแพทย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า