ไข้เลือดออก อันตราย!

แพทย์หญิงวรฉัตร เรสลี
อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อ


ในช่วงหน้าฝนแบบนี้กลุ่มโรคที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ คือ “กลุ่มโรคที่มากับยุงลาย” ซึ่งกลุ่มโรคเหล่านี้จะมียุงลายเป็นพาหะนำโรค และไม่ติดต่อจากคนสู่คน โดยโรคที่พบบ่อยในประเทศไทย ได้แก่ โรคไข้เลือดออก (Dengue Fever) โรคไข้ชิคุนกุนยา (Chikungunya Fever) และโรคไข้ซิกา (Zika Fever)

โรคไข้เลือดออก เป็นอีกหนึ่งโรคที่ระบาดในช่วงฤดูฝน เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) มี 4 สายพันธุ์ โรคไข้เลือดออกนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกกลุ่มอายุ และสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้! หากเกิดอาการรุนแรง แม้ว่าจะเคยติดเชื้อไข้เลือดออกแล้ว ก็สามารถติดเชื้อซ้ำได้ ถ้าหากได้รับเชื้อต่างชนิดกัน

อาการแบบนี้ไม่ใช่ไข้หวัด แต่อาจเป็นไข้เลือดออก!

หลายท่านอาจมีอาการไข้ หรืออาการคล้ายเป็นหวัด แต่อาการดังกล่าวอาจเป็นอาการของโรคไข้เลือดออก สำหรับอาการเด่น หรือวิธีสังเกตอาการของโรคไข้เลือดออก ผู้ป่วยจะมีอาการดังนี้

  • ไข้สูง (นาน 2-7 วัน)
  • ปวดตัว ปวดกล้ามเนื้อ
  • ปวดกระบอกตา
  • ตัวแดง ตาแดง

ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก อาจมีอาการไข้สูงได้ถึง 40 องศา และอาจเกิดอาการชักจากไข้สูงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยเด็กเล็ก นอกเหนือจากอาการข้างต้นที่เป็นอาการเด่นของโรคไข้เลือดออกแล้ว ยังพบอาการระบบอื่นๆ ที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • เบื่ออาหาร
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ถ่ายเหลว
  • ท้องอืด

ทำไมถึงเรียกโรคไข้เลือดออก? หลังจากมีอาการแสดงวันที่ 3 เป็นต้นไป ผู้ป่วยมีโอกาสที่จะมีภาวะเลือดออกได้ อาการดังกล่าวเป็นกลไกของโรคไข้เลือดออก ส่งผลให้ระดับเกล็ดเลือดลดต่ำลงเรื่อยๆซึ่งเราจะสามารถสังเกตอาการที่บ่งชี้ถึงความรุนแรงของโรคได้ในช่วงที่มีไข้ตั้งแต่วันที่ 3 เป็นต้นไป ผู้ป่วยอาจเกิดอาการรุนแรงและเสี่ยงเกิดอาการช็อกได้ เมื่อไข้ลดลงใน 24 ชั่วโมงแรก ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะต้องเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาล


ไข้เลือดออก อันตรายถึงชีวิต!

โรคไข้เลือดออกมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ทั่วร่างกาย (เฉลี่ย 0.3-1%) ได้แก่ ภาวะตับอักเสบ ภาวะไตวาย ภาวะสมองอักเสบ และภาวะอวัยวะในร่างกายล้มเหลวหลายระบบ (Multiple Organ Failure: MOF) อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาวะแทรกซ้อนรุนแรงดังกล่าวจะสามารถพบได้น้อยแต่ต้องระวัง!

  • เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี เสี่ยงเกิดอาการชักจากไข้สูง อาการชักเนื่องจากภาวะสมองอักเสบจากไข้เลือดออก
  • ผู้ใหญ่อายุ 15-60 ปี เป็นกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันตอบสนองกับเชื้อไวรัสรุนแรง เสี่ยงเกิดโรครุนแรง เกิดภาวะตับอักเสบ หรืออวัยวะภายในอักเสบ ได้มากกว่าผู้ป่วยสูงอายุ
  • เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาแล้ว ผลกระทบจากการเคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาแล้ว ผู้ป่วยกลุ่มนี้ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันบางส่วน ทำให้ร่างกายตอบสนองต่อการติดเชื้อครั้งที่ 2 หรือครั้งต่อๆ มา ได้มากขึ้นกว่าปกติ
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน โรคปอด โรคหัวใจ มีโอกาสเกิดโรครุนแรงได้มากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยโรคปอด และโรคหัวใจ จะเสี่ยงเกิดอาการช็อก และทำการรักษาได้ยากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ

ไข้เลือดออก จะแบ่งอาการออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะไข้ขึ้นสูง ระยะวิกฤตหรือระยะช็อก และระยะฟื้นตัว ซึ่งในช่วงระยะที่ 2 จะเกิดขึ้นเมื่อไข้เริ่มลดลงใน 24 ชั่วโมงแรก ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ หากไม่มีภาวะช็อกในช่วงระยะที่ 2 อาการป่วยจะค่อยๆ ดีขึ้น และเข้าสู่ระยะฟื้นตัว หรือระยะปลอดภัย

ไข้เลือดออกใกล้หาย อาการเป็นอย่างไร?

อาการที่บ่งบอกว่าผู้ป่วยใกล้จะหายจากโรคไข้เลือดออก และเข้าสู่ระยะปลอดภัยแล้ว หลังจากที่มีไข้สูงต่อเนื่องนาน 2-7 วัน ไข้จะเริ่มลดลงครบ 24 ชั่วโมง รู้สึกสบายตัวขึ้น เบื่ออาหารน้อยลง รู้สึกอยากรับประทานอาหาร และมีปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น ระบบไหลเวียนของโลหิต ความดันโลหิต และชีพจรเริ่มกลับมาเป็นปกติ ในระยะนี้มักมีผื่นแดงขึ้น คันตามร่างกาย ปลายมือ และปลายเท้า


ไข้เลือดออก อันตราย แต่ป้องกันได้!

การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เป็นอีกหนึ่งวิธีในการป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยควรกำจัดแหล่งที่มีน้ำขังรอบๆ บริเวณบ้าน กรณีที่ในชุมชนมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ทางภาครัฐจะได้รับข้อมูลและเข้ามากำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในชุมชน

อีกหนึ่งวิธีการป้องกันโรคไข้เลือดออก คือ การฉีดวัคซีนไข้เลือดออก โดยจะฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ซึ่งประสิทธิภาพของวัคซีนโรคไข้เลือดออก สามารถช่วยป้องกันลดการติดเชื้อ 50% ลดความรุนแรงของโรค 80% และลดอัตราการเสียชีวิต 90% ทั้งนี้สามารถมาเข้ามาปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำก่อนการรับวัคซีน

ในหน้าฝนนี้ ขอให้ทุกคนระมัดระวังตนเอง และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเพื่อป้องตนเองและคนที่คุณรักจากโรคไข้เลือดออก เมื่อใดก็ตามที่มีไข้ โดยที่ไม่ได้มีอาการอื่นๆ หรือมีอาการเตือนของโรคไข้เลือดออก ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาต่อไป และเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้


ข้อมูลสุขภาพ บทความทางการแพทย์ โรคที่พบบ่อย
โทรหาเรา 1728 นัดหมายแพทย์ นัดหมายแพทย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า