โรคหัวใจในเด็กแรกเกิด

แพทย์หญิงศรัยอร ธงอินเนตร
กุมารแพทย์โรคหัวใจ

เด็กแรกเกิดก็เป็นโรคหัวใจได้!

รู้หรือไม่ จะมีเด็กแรกเกิด 8 คน จาก 1,000 คนเป็นโรคหัวใจพิการ โดยส่วนหนึ่งของเด็กที่ป่วยเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิดจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งโรคหัวใจแต่กำเนิด พบว่าจำนวน 1 ใน 4 หากไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง เด็กอาจเสียชีวิตได้

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Defects) คือ ความผิดปกติของการพัฒนาโครงสร้างหัวใจของทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา โดยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดในเด็กมี 2 ชนิด คือ

1. ชนิดที่มีอาการเขียว (Cyanotic Type) ภาวะที่เด็กมีออกซิเจนในเลือดต่ำ เนื่องจากมีโครงสร้างหัวใจผิดปกติ เลือดดำปนอยู่กับเลือดแดงที่ไปเลี้ยงร่างกาย การเจริญเติบโตของเด็กกลุ่มนี้จะน้อยกว่าปกติ โดยโรคหัวใจชนิดที่พบได้บ่อยในกลุ่มนี้ เช่น

  • Tetralogy of Fallot (TOF) เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดเขียวที่พบบ่อยที่สุด
  • Transposition of the Great Asteries (TGA) การสลับที่ของหลอดเลือดแดงใหญ่

2. ชนิดไม่มีอาการเขียว (Acyanotic Type) เด็กกลุ่มนี้จะไม่มีอาการเขียว เนื่องจากร่างกายได้รับเลือดแดงที่มีความอิ่มตัวของออกซิเจนในหลอดเลือดแดงมีปริมาณสูง อาจมีความผิดปกติที่เกิดจากผนังกั้นหัวใจมีรู ลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ หรือหลอดเลือดตีบหรือเกิน ซึ่งพบเด็กที่ป่วยเป็นโรคหัวใจชนิดไม่มีอาการเขียว ประมาณร้อยละ 85 ของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โดยโรคหัวใจชนิดที่พบได้บ่อยในกลุ่มนี้ เช่น

  • Ventricular Septal Defect (VSD) ภาวะที่ผนังกั้นหัวใจห้องล่างมีรูรั่ว
  • Patent Ductus Arteriousus (PDA) การคงอยู่ของหลอดเลือดแดงเชื่อมระหว่างหลอดเลือดแดงใหญ่ของร่างกายและปอด
  • Atrial Septal Defect (ASD) ภาวะที่ผนังกั้นหัวใจห้องบนมีรูรั่ว

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดเกิดจาก…

สาเหตุของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ยังไม่สามารถทราบได้ชัดเจน แต่มีปัจจัยและความเสี่ยงอื่นๆ ที่เป็นองค์ประกอบในการโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ดังนี้

1. ความผิดปกติทางพันธุกรรม ซึ่งการสร้างหัวใจของทารกจะถูกกำกับด้วยสารทางพันธุกรรมที่เรียกว่า ยีน (Gene) ตัวอย่างเช่น เด็กหลายคนที่มีภาวะดาวน์ซินโดรม มักมีภาวะโรคหัวใจพิการด้วย
2. การได้รับยาหรือสารเคมีบางอย่างในช่วงก่อนหรือระหว่างตั้งครรภ์ หรือสารบางอย่างที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก โดยก่อนรับยาควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง เพราะตัวยาบางชนิดไม่สามารถใช้ในระหว่างการตั้งครรภ์ และมีผลโดยตรงกับทารกในครรภ์
3. ปัจจัยเสี่ยงขณะตั้งครรภ์ อาจเกิดได้จาก การติดเชื้อของคุณแม่โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ การเจ็บป่วยขณะตั้งครรภ์ โรคประจำตัวของคุณแม่ เช่น เบาหวาน เป็นต้น
4. การปฏิบัติตัวที่ไม่ถูกต้องของมารดาขณะตั้งครรภ์ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การใช้สารเสพติดขณะตั้งครรภ์ เป็นต้น เพราะสารดังกล่าวอาจส่งผลต่อหัวใจและอวัยวะอื่นๆ ของเด็กในครรภ์

บุตรหลานของท่านเสี่ยงเป็นโรคหัวใจหรือไม่?

โดยส่วนใหญ่แล้วเด็กจะมีอาการที่ผู้ปกครองสามารถสังเกตได้ดังต่อไปนี้

หัวใจเต้นเร็ว เด็กมีอาการหัวใจเต้นแรงและเร็วกว่าปกติ
หายใจเร็ว เด็กหายใจเร็วกว่าปกติ เหนื่อยง่าย
ดื่มนมน้อย เด็กดูดนมได้ช้า ใช้ระยะเวลาในการดูดนมนานกว่าปกติ เนื่องจากหัวใจและปอดทำงานมากกว่าปกติ
เลี้ยงไม่โต เนื่องจากเด็กต้องใช้พลังงานมากกว่าปกติ ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตช้า
ภาวะเขียว เด็กจะมีริมฝีปาก ปลายมือ ปลายเท้าเขียว เล็บมีสีม่วงคล้ำ

หากสังเกตพบว่าบุตรหลานของท่านมีอาการดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาโดยกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในทันที

ปัจจุบัน แม้ว่าจะยังไม่มีวิธีที่จะป้องกันโรคหัวใจในเด็กได้ 100% แต่เราสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจในเด็กแรกเกิดได้ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบัน ยังช่วยวินิจฉัยโรคหัวใจพิการในทารกได้ตั้งแต่ในครรภ์หรือแรกเกิด การรักษาได้ทันท่วงทีสามารถช่วยให้เด็กรอดชีวิตและเจริญเติบโต มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงต่อไป


บทความทางการแพทย์ แม่และเด็ก
โทรหาเรา 1728 นัดหมายแพทย์ นัดหมายแพทย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า