นายแพทย์ธนุพัชร์ ดีทองอ่อน
สูตินรีแพทย์ ด้านมะเร็งนรีเวชวิทยา
โรคมะเร็งปากมดลูก ภัยร้ายใกล้ตัวผู้หญิง
ในแต่ละวันมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูก สูงถึง 7 คนต่อวัน
“ถ้าพูดถึงโรคร้ายของผู้หญิง จะต้องมีโรคมะเร็งปากมดลูกเป็นชื่ออยู่ในลำดับต้นๆที่ผู้หญิงมักเป็นกันอย่างแน่นอนครับ ในประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูกในแต่ล่ะปีประมาณ 9,000 คน และพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูกมากกว่า 4,000 – 5,000 คนต่อปี หรือคิดเป็น 50% ของผู้หญิงที่เป็นโรคนี้เลยทีเดียว”
ใครเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูก
โรคมะเร็งปากมดลูกพบในผู้หญิงตั้งแต่อายุก่อน 30 จนถึง 80 ปี โดยพบมากในช่วงอายุ 35 – 50 ปี พฤติกรรมของผู้หญิงไทยส่วนใหญ่มักคิดว่าตัวเองไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง และรู้สึกเขินอายกลัวที่จะพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ดังนั้นกว่าจะรู้ตัวว่ามีอาการผิดปกติ ความรุนแรงของโรคก็มักอยู่ในระยะลุกลามยากต่อการรักษา
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปากมดลูก
โรคมะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุหลักเกิดจาก
- การติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) ติดต่อได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ การมีคู่นอนหลายคน หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่มีคู่นอนหลายคน
- การสูบบุหรี่
- การรับประทานยาคุมกำเนิดเป็นเวลายาวนาน
- การตั้งครรภ์หรือมีบุตรหลายคน
- ภูมิคุ้มกันไม่ดี
- การละเลยไม่ไปตรวจภายในเพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
อาการของมะเร็งปากมดลูก
อาการมะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มแรกมักจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แต่เมื่อมะเร็งลุกลามแล้วอาจมีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด เช่น หลังจากการมีเพศสัมพันธ์ หลังหมดประจำเดือน มีตกขาว ปัสสาวะหรืออุจจาระปนเลือด ซึ่งเกิดจากมะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง
วิธีการรักษาและการป้องกัน
ระยะก่อนลุกลาม
- การตรวจภายใน การทำแพปสเมียร์ และการตรวจด้วยกล้องขยาย (Colposcope) ทุก 4 – 6 เดือน รอยโรคขั้นต่ำบางชนิดสามารถหายไปได้เองภายใน 1 – 2 ปี
- การตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า
- การจี้ปากมดลูกด้วยความเย็น
- การตัดปากมดลูกออกเป็นรูปกรวยด้วยมีด
ระยะลุกลาม การเลือกวิธีรักษาขึ้นกับโรคประจำตัวของผู้ป่วยและระยะของมะเร็ง
- ระยะที่ 1 และ 2 บางราย รักษาโดยการตัดมดลูกออกแบบกว้างร่วมกับการเลาะต่อมน้ำเหลืองเชิงกรานออก
- ระยะที่ 2 – 4 รักษาโดยการฉายรังสีร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด
การป้องกัน
“โรคมะเร็งปากมดลูก สามารถป้องกันได้โดยลดพฤติกรรมเสี่ยง เพียงรู้วิธีการป้องกันตนเอง และหมั่นตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอรวมไปถึงการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV”

วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก
วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก คือ วัคซีนที่สามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV โดยฉีดทั้งหมด 3 เข็ม
“วัคซีนนี้จะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อฉีดให้กับเด็กผู้หญิงอายุ 9 – 14 ปี หรือผู้ที่ยังไม่ผ่านการเพศสัมพันธ์มาก่อน แต่หากเป็นสตรีที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว วัคซีนจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพกับผู้ที่ยังไม่มีการติดเชื้อ HPV หรือไม่มีเซลล์ผิดปกติ “
ปัจจุบันวัคซีนมี 2 ชนิด สามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ความเสี่ยงสูง โดยเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูกส่วนใหญ่ถึง 75% ประสิทธิภาพของวัคซีนทั้งสองชนิดในการป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์ 16 และ 18 สูงเกือบ 100% ชนิดแรกคือ
วัคซีน Cervarix (2 สายพันธุ์) วัคซีน Gradasil (4 สายพันธุ์) เพิ่มการป้องกันเชื้อ HPV สายพันธุ์ 6, 11 ที่เป็นสาเหตุของหูดหงอนไก่บริเวณอวัยวะเพศ แต่อย่างไรก็ดี นอกจากฉีดวัคซีนแล้ว ก็ควรไปตรวจภายในและตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก
วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV 9 สายพันธุ์ สร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ป้องกันเชื้อเอชพีวีได้มากกว่า 90% ป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ (6/11/16/1/8/31/33/45/52/58) ป้องกันมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งในช่องปากและลำคอ โรคหูดหงอนไก่ และมะเร็งทวารหนัก