จริงหรือ?! โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสมองและระบบประสาท

แพทย์หญิง กรกมล โหรสกุล
กุมารแพทย์โรคระบบประสาท


ไวรัสโควิด-19 สามารถทำให้เกิดความผิดปกติอื่นๆ ในร่างกาย รวมถึงก่อให้เกิดความผิดปกติทางระบบประสาทโดยตรง ซึ่งเกิดจากการอักเสบของอวัยวะต่างๆ อาการทางระบบประสาทที่พบในผู้ป่วย มีทั้งอาการไม่รุนแรง เช่น อ่อนเพลีย วิงเวียน สูญเสียการรับกลิ่น สูญเสียการรับรส หรืออาจมีอาการร้ายแรงจนถึงขั้นภาวะสมองอักเสบ ภาวะหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันได้!

อาการใหม่! โควิดสายพันธุ์โอมิครอน อาการเป็นอย่างไร?

ผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ต่อระบบประสาท

ไวรัสโควิด 19 (COVID-19) หรือเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 เป็นเชื้ออุบัติใหม่ของโลกในปลายปี 2019 และกำลังระบาดทั่วทั้งโลกในเวลานี้ อย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด 19 จะมีอาการผิดปกติทางระบบหายใจ และ/หรือ ระบบทางเดินอาหาร ในความเป็นจริงไวรัสโควิด 19 สามารถทำให้เกิดความผิดปกติอื่นๆ รวมไปถึงอาการทางระบบประสาทได้ ซึ่งมีรายงานจากต่างประเทศแล้วในปัจจุบัน

ไวรัสโควิด-19 มีผลต่อระบบประสาทได้อย่างไร ?

ในสมองโดยเฉพาะเซลส์เยื่อบุเส้นเลือดสมองจะมีตัวรับสัญญาณประสาท (receptor) ที่มี angiotensin converting enzyme-2 (ACE2) ซึ่งไวรัสโควิด 19 สามารถมีปฏิกิริยากับ ACE2 receptor นี้ ส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางระบบประสาท

ไวรัสโควิด-19 เข้าสู่ระบบประสาทได้อย่างไร?

  • ผ่านทางระบบประสาทการได้กลิ่น (olfactory route) เมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่โพรงจมูก เชื้อสามารถผ่านเยื่อบุโพรงจมูก (olfactory epithelium) และมีงานวิจัยสนับสนุนว่าเชื้อสามารถเข้าไปที่เส้นประสาทการรับกลิ่น (olfactory nerve) และไปที่ olfactory bulb ซึ่งอยู่ในสมองได้ (Spudich et al., 2020) เบื้องต้นทำให้ผู้ป่วยมีอาการไม่ได้กลิ่น (anosmia) นั่นเอง
  • ผ่านทางแนวกั้นระหว่างเลือดกับสมอง (blood brain barrier) เป็นผลมาจากการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่เยื่อบุเส้นเลือดในสมอง (endothelial infection) ทำให้เกิดการอักเสบของเส้นเลือด ซึ่งเป็นส่วนประกอบของแนวกั้นระหว่างเลือดกับสมอง (blood brain barrier) ในคนไข้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ซึ่งเส้นเลือดมีปัญหาอยู่เดิม ทำให้เชื้อผ่านแนวกั้นระหว่างเลือดกับสมองได้ง่ายขึ้น (increase blood brain barrier permeability)
  • ผ่านทางเซลล์ภูมิคุ้มกันและเซลล์เม็ดเลือดขาว เช่น monocyte, neutrophil, T-cell เป็นต้น

อาการทางระบบประสาทของการติดเชื้อไวรัสโควิด-19

มีรายงานใน 30% ของผู้ป่วยที่รักษาในโรงพยาบาล 45% ของผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบรุนแรง และ 80% ของผู้ป่วยที่มีภาวะทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (acute respiratory distress syndrome-ARDS) (Helm et al., 2020; Mao et al., 2020) อาการทางระบบประสาท ที่พบเห็นได้บ่อยในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่ไม่รุนแรง ได้แก่ อ่อนเพลีย วิงเวียน ปวดศีรษะ ไม่ได้กลิ่น รับรสไม่ได้ เป็นต้น อาการรุนแรงที่มีรายงาน มีดังนี้

ภาวะสมองอักเสบ (encephalopathy and encephalitis) ผู้ป่วยจะมีระดับความรู้สึกตัวที่เปลี่ยนไป (altered mental status) ซึ่งพบได้ไม่บ่อย แต่จะพบมากขึ้นในผู้ป่วยที่มีภาวะทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (acute respiratory distress syndrome-ARDS) เนื่องจากส่งผลให้สมองขาดออกซิเจน (hypoxic brain injury)

ภาวะหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (ischemic stroke) ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรงหรือชาแขนขาข้างใดข้างหนึ่ง หน้าเบี้ยว พูดไม่ได้หรือพูดไม่ชัด เป็นต้น มีรายงานว่าสามารถพบได้ 1-3% ของผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลและพบได้ถึง 6% ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง (Mao et al., 2020; Merkler et al., 2020; Yaghi et al., 2020) ส่วนมากเกิดในผู้ป่วยสูงอายุ ที่มีความผิดปกติของหลอดเลือดสมองอยู่เดิม สาเหตุจากเชื้อไวรัสโควิด 19 กระตุ้นให้เกิดภาวะการแข็งตัวของเลือดง่ายกว่าปกติ (hypercoagulable state)

ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่เป็นผลมาจากระบบภูมิคุ้มกันที่มีต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ซึ่งเกิดทั้งในระบบประสาทส่วนกลางและรอบนอก (central and peripheral nervous system) เช่น

  • ภาวะที่มีการอักเสบของระบบประสาทส่วนกลางแบบกระจายทั่วไป (acute disseminated encephalomyelitis – ADEM) ผู้ป่วยจะมีระดับความรู้สึกที่เปลี่ยนไปและ/หรือลดลง (altered mental status) ร่วมกับมีความผิดปกติอื่นๆ เช่น อ่อนแรง เส้นประสาทสมองผิดปกติ การทำงานของไขสันหลังผิดปกติ เป็นต้น ซึ่งต้องอาศัยภาพ MRI หรือ CT Scan ร่วมด้วยในการวินิจฉัยโรค
  • กลุ่มอาการ acute hemorrhagic necrotizing encephalopathy ซึ่งเกิดจากภูมิคุ้มกันมีผลต่อสมอง เช่น ส่วน thalamus ซึ่งต้องอาศัยภาพ MRI หรือ CT Scan ร่วมด้วยในการวินิจฉัยโรค ผู้ป่วยจะมีระดับความรู้สึกที่เปลี่ยนไปและ/หรือลดลง เช่น มีอาการซึม เป็นต้น
  • กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (Guillain barre syndrome) เกิดจากภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี้ (antibody) ทำลายเซลล์ประสาทของระบบประสาทรอบนอก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ชาตามร่างกาย (มักเกิดที่เท้าและขาสองข้างก่อน) และอาจเป็นอัมพาตของกล้ามเนื้อแขนขาทั้งสองข้าง และการหายใจมีปัญหาได้


นอกจากความผิดปกติทางระบบประสาทโดยตรง Covid-19 ยังส่งผลทางอ้อมต่อระบบประสาท ซึ่งเกิดจากการอักเสบของอวัยวะต่างๆ เช่น

  • ผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบ และภาวะทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน  (acute respiratory distress syndrome-ARDS) มีผลทำให้สมองได้รับออกซิเจนลดลง เกิดภาวะสมองขาดออกซิเจน (hypoxic brain injury)
  • ไวรัสโควิด 19 ทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย และทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ (systematic inflammation and immune dysregulation) เกิดภาวะ cytokine release syndrome
  • ไวรัสโควิด 19 กระตุ้นให้สมองส่วนไฮโปทาลามัส (hypothalamus) หลั่งสาร norepinephrine และ glucocorticoid ซึ่งทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ (immune dysregulation)
  • ไวรัสโควิด 19 กระตุ้นให้เกิดภาวะแข็งตัวของเลือดง่ายกว่าปกติ (hypercoagulable state)

Covid-19 บทความทางการแพทย์
โทรหาเรา 1728 นัดหมายแพทย์ นัดหมายแพทย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า