ถามตอบปัญหา ไขข้อสงสัย การตั้งครรภ์

แพทย์หญิง สร้อยสุวรรณ บรรณเสถียนศรี
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินรีเวชและเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์

สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ โดยเฉพาะคุณแม่ตั้งครรภ์มือใหม่คงมีคำถาม หรือข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ใช่ไหมคะ เรามาพูดคุยกับ พญ.สร้อยสุวรรณ บรรณเสถียนศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินรีเวชและเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ที่จะมาตอบคำถามไขข้อสงสัยให้กับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์กันค่ะ

สังเกตอย่างไรว่าท้อง?

อาการเริ่มต้นของการตั้งครรภ์ คือ การขาดประจำเดือนหรือประจำเดือนไม่มา ซึ่งในบางรายอาจไม่แสดงอาการใดๆ เลย แต่ในบางรายอาจมีอาการต่างๆ ร่วมด้วย เช่น เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เหม็นอาหาร อ่อนเพลีย ขี้เกียจ

ในบางรายอาจจะมีประจำเดือนมาช้า หรือมีเลือดออกผิดปกติ ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ ควรมาพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยว่าตั้งครรภ์หรือไม่


เมื่อสงสัยว่าต้องครรภ์?

หากสงสัยว่าตั้งครรภ์ คุณแม่สามารถตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตนเองได้โดยการใช้อุปกรณ์ทดสอบการตั้งครรภ์ก่อนได้ค่ะ

และถ้าทราบว่าตั้งครรภ์แล้ว ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจครรภ์ ว่าตั้งครรภ์จริงหรือไม่ และมีอายุครรภ์เท่าไร โดยคุณหมอจะทำการซักประวัติและทำการอัลตราซาวนด์เพื่อดูอายุครรภ์

• การอัลตราซาวนด์ในระยะที่เริ่มต้นการตั้งครรภ์ เป็นผลดีต่อตัวคุณแม่และทารกในครรภ์ เพราะจะทำให้ทราบว่าเป็นการท้องในมดลูก หรือ ท้องนอกมดลูก

• ทราบอายุครรภ์ที่แน่นอน

• สามารถกำหนดช่วงวันคลอดได้อย่างแม่นยำ


“ท้องนอกมดลูก” อันตราย!

การท้องนอกมดลูก คือ การตั้งครรภ์อยู่บริเวณอื่นนอกโพรงมดลูก โดยส่วนใหญ่มักพบในบริเวณท่อนำไข่ และยังพบว่ามีการตั้งครรภ์ที่บริเวณอื่น เช่น ปากมดลูก รังไข่ หรือในช่องท้อง ซึ่งหากพบว่ามีการท้องนอกมดลูก จะต้องมีการยุติการตั้งครรภ์ โดยอาจใช้วิธีการผ่าตัด หรือการรักษาโดยการใช้ยา

หากเกิดการท้องนอกมดลูกแล้ว คุณแม่สามารถมีโอกาสตั้งครรภ์ใหม่ได้ แต่ขณะเดียวกันคุณแม่ก็มีความเสี่ยงที่จะท้องนอกมดลูกได้ ดังนั้น คุณแม่จึงควรรีบมาปรึกษาและเข้ารับการตรวจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

สาเหตุของการท้องนอกมดลูก

การท้องนอกมดลูกเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น มีพังผืดบริเวณท่อนำไข่จากการติดเชื้อที่บริเวณอุ้งเชิงกรานมาก่อน  เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ซึ่งส่งผลให้ท่อนำไข่มีการตีบตัน หรือในบางรายอาจไม่มีสาเหตุใดๆ มาก่อนก็สามารถเกิดการท้องนอกมดลูกได้เช่นกัน

เมื่อตั้งครรภ์ แพทย์จะตรวจอะไรบ้าง?

เมื่อคุณแม่ที่ตั้งครรภ์มาเข้าพบคุณหมอจะทำการตรวจดังนี้

• ซักประวัติ

• ตรวจร่างกายเพื่อดูความผิดปกติทางร่างกายหรือมีโรคประจำตัวหรือไม่

• เจาะเลือดเพื่อฝากครรภ์ เพื่อตรวจโรคธาลัสซีเมีย โรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์ต่างๆ


ภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ที่คุณแม่ต้องระวัง

“ภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์” เป็นภาวะและอาการต่างๆ ที่พบร่วมกับการตั้งครรภ์ และมีผลเสียต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อคุณแม่ และทารกในครรภ์ หากได้รับการดูแลไม่ถูกต้อง โดยภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ที่เรามักพบบ่อย ได้แก่

• เบาหวานขณะตั้งครรภ์

เกิดจากฮอร์โมนของรกหรือสารเคมีที่ไปยับยั้งการทำงานของอินซูลินที่ทำหน้าที่ควบคุมน้ำตาลในเลือด ผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ที่ตั้งครรภ์ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป หรือมีประวัติเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์มาก่อน เคยคลอดลูกที่มีน้ำหนักเกิน 4,000 กรัม มีประวัติครอบครัวเป็นเบาหวาน สำหรับการดูแลเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คุณแม่ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หากไม่ควบคุมอาจทำให้เกิดการช็อกได้ และอาจส่งผลให้ทารกในครรภ์เสียชีวิตได้ คุณแม่หลายท่านคงส่งสัยว่า หากเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะหายไหม? ไม่ต้องกังวล เพราะเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะหายไปเมื่อทำการคลอดแล้ว โดยแพทย์จะทำการตรวจเช็คอีกครั้งหลังจากคลอดบุตร

ครรภ์เป็นพิษ

เป็นภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ที่เป็นอันตราย โดยคุณแม่จะมีความดันโลหิตสูงกว่า 160/110 มิลลิเมตรปรอท และตรวจพบว่ามีโปรตีนออกมามากในปัสสาวะ หากมีภาวะครรภ์เป็นพิษจะมีอาการ ปวดศีรษะ ตาพร่า จุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ บวมเร็ว และมีน้ำหนักเพิ่มเร็วขึ้น หากคุณแม่มีอาการผิดปกติข้างต้น ให้รีบพบแพทย์ทันทีเพราะเป็นภาวะอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ หากไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องอาจทำให้เสียชีวิตได้ 

ปัจจัยเสี่ยงของครรภ์เป็นพิษ มักพบในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน หรือเคยมีประวัติครรภ์เป็นพิษมาก่อน

คลอดก่อนกำหนด

คือ การคลอดก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ ทารกมักมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัม เป็นภาวะที่มีความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด เช่น คุณแม่มีประวัติเคยคลอดก่อนกำหนด มีครรภ์แฝด ท้องใหญ่มากหรือทารกมีขนาดตัวใหญ่ หรือภาวะครรภ์เป็นพิษมีเหตุให้คลอดก่อนกำหนด ภาวะรกเกาะต่ำ มีเลือดออกขณะตั้งครรภ์ เป็นต้น ดังนั้น คุณแม่ควรดูแลตนเอง และปรึกษาแพทย์ หากพบว่าตนมีปัจจัยเสี่ยงเพื่อป้องกันการคลอดก่อนกำหนด

การคลอดก่อนกำหนดมีผลต่อเด็กทารกอย่างไรบ้าง

หากมีการคลอดก่อนกำหนดมาก เช่น คลอดภายในช่วง 27 – 28 สัปดาห์ สิ่งที่ต้องกังวลคือ ปอดของทารกในครรภ์จะยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ เด็กไม่สามารถหายใจเองได้ อาจมีปัญหาเกี่ยวกับตา ลำไส้อักเสบ ซึ่งหากคุณแม่มีภาวะคลอดก่อนกำหนด โดยที่ปากมดลูกยังไม่เปิด ทางแพทย์จะมีการให้ยาเพื่อยับยั้งการคลอด และให้ยากระตุ้นปอดเด็ก

การคลอดเกินกำหนด

นอกจากการคลอดก่อนกำหนดแล้ว ยังมีภาวะคลอดเกินกำหนดด้วย คือ อายุครรภ์เกิน 40 สัปดาห์ โดยแพทย์จะให้คุณแม่ทำการคลอดภายใน 42 สัปดาห์ แพทย์จะนัดมาเร่งคลอดเพื่อให้คลอดเองทางช่องคลอด หรือทำการผ่าตัดคลอด ในกรณีที่ปากมดลูกไม่เปิด การคลอดเกินกำหนดหากปล่อยทิ้งไว้จะเป็นอันตราย เพราะรกจะเสื่อมไปตามอายุครรภ์ที่มากขึ้น น้ำคร่ำจะลดน้อยลง ซึ่งจะไม่ปลอดภัยต่อทารกในครรภ์


อาการผิดปกติขณะตั้งครรภ์ที่ควรรีบมาพบแพทย์

หากคุณแม่มีอาการดังต่อไปนี้ นั่นถือเป็นสัญญาณอันตรายระหว่างตั้งครรภ์ ควรรีบมาพบแพทย์ทันที

• มีน้ำเดิน

• มีเลือดออกทางช่องคลอด

• มีอาการภาวะครรภ์เป็นพิษ ปวดศีรษะ ตาพร่า จุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ บวมเร็ว และมีน้ำหนักเพิ่มเร็วขึ้น

• ลูกดิ้นไม่ครบวันละ 10 ครั้ง เมื่ออายุครรภ์ 7 เดือนขึ้นไป

• มีอาการมดลูกบีบตัวถี่กว่า 10 นาที โดยนอนพักแล้วแต่อาการไม่ดีขึ้น


คุณแม่ควรตรวจอัลตร้าซาวนด์เมื่อไร? และบ่อยแค่ไหน?

เมื่อคุณแม่รู้ตัวว่าตนเองมีการตั้งครรภ์ จำเป็นจะต้องเข้ารับการตรวจอัลตร้าซาวนด์ เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพของทารกในครรภ์ และประเมินน้ำหนัก ปริมาณน้ำคร่ำ เป็นระยะ โดยคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ควรเข้ารับการตรวจอัลตร้าซาวนด์ อย่างน้อย 3 ครั้ง 

ครั้งที่ 1 หลังจากที่ทราบว่าตนเองตั้งครรภ์ ควรทำการอัลตร้าซาวนด์เพื่อดูว่าเป็นการท้องในมดลูกหรือนอกมดลูก และเพื่อกำหนดอายุครรภ์ และกำหนดวันคลอด 

ครั้งที่ 2 เมื่อมีอายุครรภ์ 18 – 20 สัปดาห์ เพื่อเป็นการตรวจความสมบูรณ์ของอวัยวะของทารกในครรภ์ 

ครั้งที่ 3 เมื่อมีอายุครรภ์ 30 – 34 สัปดาห์ เพื่อดูการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ น้ำหนัก และตรวจว่ามีความผิดปกติอื่นๆ เกิดขึ้นหรือไม่ และเพื่อเป็นการวางแผนคลอด 

*อย่างไรก็ตามคุณแม่อาจได้รับการอัลตร้าซาวนด์ที่บ่อยกว่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่ดูแลการฝากครรภ์


การตรวจความผิดปกติของโครโมโซมทารก

นอกจากการฝากครรภ์แล้ว แพทย์จะทำการอัลตราซาวนด์ตรวจการเจริญเติบโต ตรวจความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นเมื่อครบกำหนดอายุครรภ์ นอกจากนี้คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกกว่า 35 ปี จะต้องมีการตรวจโครโมโซม เพื่อเป็นการคัดกรองภาวะผิดปกติของโครโมโซม เช่น โรคดาวน์ซินโดรม โดยสามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 9 สัปดาห์

การตรวจความผิดปกติของโครโมโซมทารก โดยการเจาะเลือด สามารถเจาะได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 10 สัปดาห์ขึ้นไป ข้อดี คือไม่มีความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรเหมือนการเจาะน้ำคร่ำ และปัจจุบันมีความแม่นยำของผลการตรวจถึง 99%


การออกกำลังกายระหว่างตั้งครรภ์

คุณแม่ที่ตั้งครรภ์สามารถออกกำลังกายได้ โดยใน 3 เดือนแรกควรงดออกกำลัง เลือกการออกกำลังกายที่มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุน้อย เช่น การเดินเร็ว โยคะ ว่ายน้ำ เป็นต้น


“ท้อง” มีเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่?

สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ในระหว่างครรภ์ โดยงดมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 3 เดือนแรก และต้องไม่มีข้อห้ามต่างๆ เช่น ภาวะรกเกาะต่ำ มีประวัติเคยคลอดลูกก่อนกำหนด


คุณแม่ตั้งครรภ์ควรทานอะไร?

คุณแม่ควรทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และถูกสุขลักษณะ เน้นโปรตีน เนื้อสัตว์ นม ไข่ ทานผัก ผลไม้ในปริมาณที่มากขึ้น พยายามลดการทานของหวาน ของมัน เพื่อที่คุณแม่จะได้ไม่อ้วนมากจนเกินไป และควรทานอาหารหลากหลายชนิดหมุนเวียนกันไป ไม่ทานอาหารเดิมๆ ซ้ำๆ และสามารถทานเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ ได้วันละ 1 แก้ว และที่สำคัญควรงดการดื่มเหล้า และสูบบุหรี่

แม่และเด็ก
โทรหาเรา 1728 นัดหมายแพทย์ นัดหมายแพทย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า