โรคหัวใจขาดเลือด

โรคหัวใจขาดเลือด
     โรคหัวใจขาดเลือด หมายถึง โรคที่เกิดขึ้นเนื่องจากหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบหรือตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจมีเลือดไปเลี้ยงลดลงหรือไม่มีเลย  เป็นผลให้การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ  หากรุนแรงทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ การที่หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบหรือตันนั้น ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากหลอดเลือดแข็งตัวขึ้น  เนื่องจากมีไขมันสะสมในผนังด้านในของหลอดเลือด  เป็นผลให้ทางที่เลือดไหลผ่านแคบลง เลือดไหลไม่สะดวก กล้ามเนื้อหัวใจจึงได้รับเลือดน้อยกว่าปกติ  นอกจากนั้นยังอาจเกิดจากเกร็ดเลือดและลิ่มเลือดอุดตันอีกด้วย
มีอาการอย่างไร
     อาการที่สำคัญของภาวะหัวใจขาดเลือด คือ อาการเจ็บแน่นหน้าอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะออกแรง พักแล้วดีขึ้นโดยจะรู้สึกแน่นๆ อึดอัด บริเวณกลางหน้าอก หรือค่อนมาทางซ้าย เจ็บลึกๆ หายใจไม่สะดวก อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อแตก ใจสั่น หน้ามืด บางรายนอกจากแน่นหน้าอกแล้ว ยังอาจเจ็บร้าวไปที่หัวไหล่ แขน หรือ คอ
ใครบ้างที่มีโอกาสเกิดโรคหัวใจขาดเลือด
     สาเหตุของโรคหัวใจขาดเลือด มักจะเกิดจากปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงหลายข้อก็จะมีโอกาสเกิดโรคหัวใจขาดเลือดได้มากกว่าผู้อื่น และมักมีความรุนแรง ของโรคมากกว่าผู้ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่
1. เพศชาย หรือเพศหญิงในวัยหมดประจำเดือน โดยเพศชายมีโอกาสเกิดโรคหัวใจขาดเลือด มากกว่าเพศหญิง 3-5 เท่า
2. สูบบุหรี่
3. ไขมันในเลือดสูง (โคเลสเตอรอลรวม หรือโคเลสเตอรอลแอล ดี แอล ชนิดร้าย)
4. ไขมันโคเลสเตอรอล เอช ดีแอล (ชนิดดี) ต่ำ
5. โรคความดันโลหิตสูง
6. โรคเบาหวาน
7. อ้วนและไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย
8. มีบุคลิกภาพเจ้าอารมณ์ โกรธ โมโหง่าย เครียดเป็นประจำ
9. มีประวัติโรคหัวใจขาดเลือดของคนในครอบครัว
ตรวจอย่างไร ถึงจะทราบว่าเป็นโรคนี้
     แพทย์จะซักประวัติโดยละเอียด ตรวจร่างกาย ตรวจเลือด และดูคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะพักนั้น จะช่วยวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ แต่กรณีที่หลอดเลือดหัวใจตีบน้อยคลื่นไฟฟ้าหัวใจมักจะปกติ  ซึงให้ข้อมูลได้ไม่เพียงพอจะวินิจฉัยโรค  แพทย์จะแนะนำให้ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ขณะออกกำลังเพิ่มเติมเรียกว่า “ Exercise Stress Test” ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ต้องการออกซิเจนมากขึ้น เมื่อหลอดเลือดหัวใจตีบ ไม่สามารถนำเลือด และออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้เพียงพอ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และอาจมีอาการเจ็บหน้าอกเกิดขึ้น จึงช่วยในการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ นอกจากนี้การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย ยังช่วยบอกความรุนแรงของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และสมรรถภาพของหัวใจได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการตรวจอัลตร้าซาวด์หัวใจ (Echocardiogram) เพื่อดูโครงสร้างภายในหัวใจด้วย เช่น ลิ้นหัวใจ , กล้ามเนื้อหัวใจ , เยื่อหุ้มหัวใจ
รักษาอย่างไร
     โรคหัวใจขาดเลือดเนื่องจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจเกิดตีบหรืออุดตัน โรคนี้เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วเป็นโรคที่ต้องรักษาต่อเนื่อง แม้จะไม่หายขาด แต่สามารถควบคุมโรคได้ ทางที่ดีที่สุดก็คือ การป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ขึ้น  โดยการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นจะชะลอการเกิดโรคนี้ก่อนวัยอันควรจะเป็น หรืออาจไม่เป็นเลยก็ได้
     ในผู้ที่มีอาการของโรคหัวใจขาดเลือดเป็นครั้งแรก คือ มีอาการเจ็บหน้าอกเวลาออกกำลังกาย หรือเหนื่อยง่ายกว่าปกติโดยหาสาเหตุไม่ได้ ควรพบแพทย์แต่เนิ่นๆ เพื่อที่จะได้วินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง พร้อมทั้งจะได้รับการรักษา และป้องกันไม่ให้โรคลุกลามไปมากขึ้น กล้ามเนื้อหัวใจส่วนที่ยังดีอยู่จะได้ทำงานเป็นปกติต่อไปได้
การรักษาโรคหัวใจขาดเลือดประกอบด้วย
1. การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต  โดยการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่สำคัญ
2. การรักษาด้วยการใช้ยา  ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรง ได้แก่

  • ยาเพื่อป้องกันการจับตัวของเกล็ดเลือดเข้ากับผนังของหลอดเลือดแดง ซึ่งมีผลทำให้เกิดการทำลายของผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบตันและอุดตันมากขึ้น
  • ยาเพื่อช่วยลดอาการเจ็บหน้าอก ลดการทำงานของหัวใจ ช่วยให้การทำงานของหัวใจดีขึ้น
  • ยาเพื่อใช้สลายลิ่มเลือด ที่อุดกั้นหลอดเลือดหัวใจอย่างเฉียบพลัน เพื่อป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย จะได้ประโยชน์มากถ้าใช้ได้เร็วที่สุด หลังจากที่หลอดเลือดหัวใจมีการอุดตันอย่างเฉียบพลัน
  • ยาอื่นๆที่ใช้รักษาภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ยาขับปัสสาวะ ยาที่ใช้รักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น ยาพวกนี้จะใช้ก็ต่อเมื่อมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นเท่านั้น

3.  การขยายหลอดเลือดหัวใจโดยบอลลูน เป็นวิธีการขยายหลอดเลือดหัวใจ โดยการใช้สายสวนหัวใจผ่านทางหลอดเลือดแดงที่โคนขาหรือข้อมือ เข้าไปจนถึงหลอดเลือดหัวใจที่ตีบและขยายหลอดเลือด โดยการทำบอลลูนที่ปลายของสายสวนหัวใจพองขึ้น เพื่อที่จะดันหลอดเลือดที่ตีบให้ขยายออกจะได้มีเลือดไปเลี้ยงหัวใจได้มากขึ้น
4. การรักษาโดยการผ่าตัดต่อหลอดเลือดหัวใจใหม่ โดยการใช้หลอดเลือดแดงหรือหลอดเลือดดำที่ขา มาต่อหลอดเลือดหัวใจ เพื่อเพิ่มทางเดินของเลือดที่จะมาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจมากขึ้น
จะป้องกันไม่ให้เป็นได้อย่างไร
ท่านสามารถลดโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ โดยการหลีกเลี่ยงหรือลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆเช่น

  • ไม่สูบบุหรี่
  • ควบคุมความดันโลหิต และเบาหวานให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • บริโภคอาหารไขมันต่ำ หรือรับประทานยาลดไขมันในรายที่จำเป็น
  • ควบคุมน้ำหนัก ให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอเหมาะ
  • ออกกำลังกายแบบแอโรบิคอย่างสม่ำเสมอ
  • ฝึกสมาธิ ทำให้จิตใจให้ผ่องใส
  • หมั่นตรวจเช็คสุขภาพของตนเองเป็นประจำ ด้วยการตรวจสุขภาพประจำปี

เราพร้อมดูแลหัวใจคุณ….คลินิกอายุรกรรมโรคหัวใจ  โรงพยาบาลศิครินทร์ หาดใหญ่

 
 

บทความทางการแพทย์
โทรหาเรา 1728 นัดหมายแพทย์ นัดหมายแพทย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า